กฎหมายทำแท้งใหม่ กับความรีบด่วนในการตรากฎหมาย

กฎหมายทำแท้งใหม่ กับความรีบด่วนในการตรากฎหมาย

กฎหมายทำแท้งใหม่ กับความรีบด่วนในการตรากฎหมาย

ขณะที่อัตราการเกิดของประเทศไทย ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร จากการคลอดปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้าน

ในปีที่ผ่านมาจำนวนการคลอดเหลือเพียง 5 แสน ปัญหาคู่สมรสมีบุตรยากต้องใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ค่าใช้จ่ายสูง เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องนำเข้าจากต่างชาติ ทั้งกลายเป็นประเทศผู้สูงอายุ วัยแรงงาน เยาวชน และเด็กลดลง จนไม่เป็นสัดส่วนในการดูแลผู้สูงวัย มีการปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัยบางแผนก

Advertisement

แต่กลับมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้งอย่างรีบด่วนให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง แพทย์ผู้ทำแท้งและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยทั่วไป

ขอกล่าวเฉพาะการแก้ ม.301

แก้ไขเป็น ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งตนเอง หรือให้ผู้อื่นทำแท้งได้ โดยยืนยันยุติการตั้งครรภ์

Advertisement

ในฐานะของสูติ-นรีแพทย์ ผู้เขียนขอเสนอความคิดเห็นสี่ประเด็น

1.การทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์โดยหญิงทำแท้งตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งนั้นปลอดภัยหรือไม่เพียงใด

2.การยืนยันทำแท้ง ไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงนั้น เพียงพอหรือยัง ที่จะยุติชีวิตหนึ่งในครรภ์ของมารดา

3.การทำแท้งนี้ เกี่ยวข้องกับสูติ-นรีแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือไม่เพียงใด มีระบบปฏิบัติเป็นเช่นไร

4.กฎหมายทำแท้งใหม่นี้ จะส่งผลทางลบต่อศีลธรรมของประเทศชาติ จะเปลี่ยนแปลงค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ของประชาชนชาวไทยหรือไม่เพียงใด

1.การทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์โดยหญิงทำแท้งตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งนั้นปลอดภัยหรือไม่เพียงใด

วิวัฒนาการของการทำแท้งโดยใช้ยา มีความปลอดภัยกว่าสมัยก่อนแต่ไม่ใช่ว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

เพื่อความปลอดภัยประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ใช้ยา mifepristone ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 10 สัปดาห์ สำหรับยา mifepristone/misoprostol ให้ใช้เมื่อการตั้งครรภ์ไม่เกิน 11 สัปดาห์ โดยมีข้อห้าม คือ สงสัยว่าตั้งครรภ์นอกมดลูก, มีภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการทำแท้งด้วยยา อาจจะมีเลือดออกมาก จนเกิดอันตรายหากทำที่บ้าน, คนท้องมีภาวะเลือดออกง่าย หรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด, คนท้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน, แพ้ยาทำแท้ง

ก่อนทำแท้ง ต้องพบแพทย์ ตรวจเช็กอายุครรภ์ ตรวจกลุ่มเลือด (ABO, RH) เช็กว่าเลือดจางไหม มีข้อห้ามไหม ต้องมีความรู้ในการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง ได้รับคำปรึกษาคุมกำเนิดหลังทำแท้ง และสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหาในการทำแท้ง

หญิงทุกคนที่ทำแท้ง จะเกิดอาการปวดมดลูก มีเลือดออก ในบางรายจะเจ็บปวดรุนแรง มีเลือดออกมากจนกว่าจะแท้ง โอกาสแท้งครบของหญิงทำแท้งตนเอง ร้อยละ 86-97 นั่นคือ มีโอกาสที่จะแท้งไม่ครบ หรือไม่แท้งร้อยละ 3-14 ในคนที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 11 สัปดาห์

อายุครรภ์ ต่ำกว่า 7 สัปดาห์ จึงแท้งครบร้อยละ 91-98

ภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ที่ทำแท้งจะมีอาการรบกวนชีวิตประจำวันแต่หายได้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มึนหัว ปวดหัว มีไข้ หนาวสั่น มีเลือดออก ปวดมดลูก

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้แก่ เลือดออกมาก ติดเชื้อในกระแสเลือด มดลูกอักเสบ มีภาวะท้องนอกมดลูก จนต้องตัดมดลูก หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต เจอได้ไม่มาก แต่ก็เจอ คือร้อยละ 0.161-11

นี่เป็นผลกระทบทางกาย ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบทางใจ ความรู้สึกผิดบาปต่างๆ ตามความเชื่อทางศาสนา จนต้องไปแก้กรรมจากการทำแท้ง

2.การยืนยันทำแท้ง ไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงนั้น เพียงพอหรือยัง ที่จะยุติชีวิตหนึ่งในครรภ์ของมารดา

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธการทำแท้งที่มีข้อบ่งชี้ มีความจำเป็น มีเหตุผล

แต่เด็กควรเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ หรือเป็นสิทธิเฉพาะของพ่อแม่ ?

กฎหมายทำแท้งใหม่ไม่เอ่ยถึงพ่อเลย แก้เพราะว่ากฎหมายเก่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายใหม่ ค้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวด 3 มาตรา 7 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การยุติชีวิตหนึ่งชีวิต จึงไม่ควรเป็นทางเลือกที่ 1 แต่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ผ่านการให้ข้อมูล ให้ทางเลือก และช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น

ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนและหลังยุติการทำแท้งต้องผ่านการพูดคุยให้คำปรึกษา หากเลือกที่จะเอาลูกไว้ จะมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ หากต้องการทำแท้ง ให้ความรู้เรื่องการทำแท้ง ความรู้เรื่องคุมกำเนิด และเลือกวิธีคุมกำเนิดหลังแท้งที่เหมาะสม

การยืนยันการทำแท้งโดยหญิงนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ในกรณีที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่มีเหตุผล เช่น ทำแท้งเพราะเลือกเพศบุตร ซึ่งสามารถตรวจพบตั้งแต่การตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติเรื่องทำแท้ง (Medical Hub of Abortion) เช่นเดียวกับเรื่องรับจ้างอุ้มบุญที่ยังแก้กันไม่ตก

3.การทำแท้งตามกฎหมายใหม่นี้ เกี่ยวข้องกับสูติ-นรีแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่เพียงใด มีระบบปฏิบัติเป็นเช่นไร

ประเทศไทยมีกฎหมายทำแท้งมานานกว่า 60 ปี ที่กำหนดไว้ว่า หญิงที่ทำแท้งตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้นการกระทำนั้นเป็นของนายแพทย์ผู้ทำเพื่อสุขภาพของหญิงนั้น หรือหญิงท้องจากความผิดในกฎหมายอาญา เช่น ถูกข่มขืน ล่อลวง ฯลฯ

ต่อมาปี พ.ศ.2548 แพทยสภาได้เพิ่มข้อบังคับว่า สุขภาพของหญิงนั้นรวมถึงสุขภาพจิต จึงเป็นการเปิดกว้างการทำแท้งขึ้น นั่นคือ ทารกพิการ หรือหญิงมีปัญหาสังคม เศรษฐกิจ เข้าข่ายมีปัญหาสุขภาพจิต (Adjustment disorder) ให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยหากอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ให้กระทำในสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

แต่เนื่องจากแพทย์ ถูกสั่งสอนอบรมให้ช่วยชีวิตคน จึงมักจะปฏิเสธการทำแท้งที่ไม่มีข้อบ่งชี้ หรือข้อบ่งชี้ไม่ชัดเจน

ในปี 2556 ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาสา RSA โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ 1663 มีการใช้ยาและเครื่องดูดสุญญากาศ ทำแท้งทุกอายุครรภ์จนถึง 24 สัปดาห์ โดยจากรายงานของเครือข่ายการทำแท้ง 12-20 สัปดาห์ มีอัตราการทำแท้งสมบูรณ์ ร้อยละ 99.5 และร้อยละ 98.6 แต่ควรให้บริการในสถานพยาบาลเพื่อดูแลอาการตกเลือดที่อาจจะเกิดขึ้น

จริงๆ แล้ว เครือข่าย RSA ก็ถือเป็นทางเลือกให้แก่หญิงผู้ต้องการทำแท้ง มีแพทย์บุคลากรทางการแพทย์ที่สมัครใจทำ ซึ่งควรสนับสนุนให้เป็นหน่วยงานยุติการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ

ในเมื่อแพทย์พยาบาลส่วนใหญ่ ไม่พร้อมจะทำแท้ง หรือไม่พร้อมจะเข้าวงจรการทำแท้ง เช่นส่งต่อไปทำแท้ง หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำแท้งตนเอง

ดังนั้นควรศึกษาผลกระทบของกฎหมายฉบับนี้ ที่มีต่อแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำงานหนักกับการรักษาพยาบาลโรค การป้องกันรักษาโควิดอยู่แล้ว

ทั้งควรสร้างระบบให้มีแพทย์ทำแท้ง ด้วยความสมัครใจ

4.กฎหมายทำแท้งใหม่นี้ จะส่งผลทางลบ ต่อศีลธรรมของประเทศชาติ จะเปลี่ยนแปลงค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ของประชาชนชาวไทยหรือไม่เพียงใด

ข้อนี้คำตอบอยู่ที่ท่านผู้อ่านทุกคน

ผู้เขียนขอแสดงความเห็นว่า การยืนยันไม่ต้องการลูก ก็ทำแท้งได้ เป็นสิทธิเนื้อตัวร่างกายของหญิงในการทำแท้ง

คือ…

การปฏิเสธการคงอยู่ของทารกในครรภ์ที่มีหัวใจเต้นตั้งแต่ 6 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ร้อยละ 40 หากได้รับการดูแลรักษาจากกุมารแพทย์

ปฏิเสธความสำคัญของครอบครัวที่ควรมีสิทธิร่วมตัดสินใจ

ปฏิเสธว่า มีผู้ชายเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และต้องช่วยรับผิดชอบการตั้งครรภ์นี้

ปฏิเสธความพยายามช่วยเหลือของทุกภาคส่วนเพื่อให้ทารกคงชีวิตไว้ ทั้งภาครัฐ เอกชน ศาสนา ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในอดีตเช่น พญ.เพียร เวชบุล

ปฏิเสธความสำคัญของพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ปฏิเสธความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะทุ่มเทงบประมาณการป้องกัน เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งศูนย์คุมกำเนิด

ปฏิเสธการดูแลช่วยเหลือ เอื้ออาทรแบบองค์รวมของสังคมไทย ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้ความใส่ใจ ช่วยเหลือเต็มที่ หาทางออกที่ดีที่สุดให้ โดยให้การทำแท้งเป็นทางเลือกหลังสุด

ปฏิเสธว่า เด็กไม่ใช่ทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติที่รัฐต้องร่วมรับผิดชอบ จากแรกปฏิสนธิถึงการคลอด การเลี้ยงดู จนเป็นผู้ใหญ่ แต่เป็นหน้าที่ ตัดสินใจในจุดเริ่มต้นของคนเป็นแม่เพียงคนเดียว

ปฏิเสธว่าแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ก็มีหัวใจ มีความเมตตา มีความเชื่อทางศาสนา ไม่ยุติชีวิตโดยไม่จำเป็น

กฎหมายทำแท้งใหม่ รีบด่วนในการตรากฎหมาย ภายใน 1 ปี จนออกประกาศใช้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 โดยขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า

“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน”

กฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความรู้สึกของประชาชน ย่อมนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย

สมควรทบทวนกฎหมายทำแท้งใหม่หรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้เขียนขอฝากถามประชาชนและแพทย์ผู้ได้รับผลกระทบทุกท่าน

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image