แถลงการณ์คณะสร้างไทย กรณีสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งและเสียงข้างมากของรัฐสภา มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหา เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

แถลงการณ์คณะสร้างไทย

แถลงการณ์คณะสร้างไทย
กรณีสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งและเสียงข้างมากของรัฐสภา
มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหา
เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

ตามที่สมาชิกรัฐสภาจำนวน 73 ท่าน ได้เสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในประเด็นที่ว่าสมาชิกรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น

คณะสร้างไทยได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และเห็นว่าเป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตมาแต่แรกเริ่ม ด้วยการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นถ่วงเวลาด้วยการขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และล่าสุดคือการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาทั้งๆ ที่พวกตนและรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในวาระแรกแล้ว

ข้ออ้างของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 73 คน ในการขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ (ร่างฯ ของฝ่ายค้าน ร่างฯ ของฝ่ายรัฐบาล และร่างฯ ที่ประชาชนเข้าชื่อ) มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจตามหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” โดยเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ม.32 ที่บัญญัติว่า “ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ไม่ใช่ฉบับชั่วคราว จึงไม่มีบัญญัติให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น และต้องระบุมาตราที่ต้องการยกเลิกและให้ใช้ข้อความใดแทน

Advertisement

คณะสร้างไทยมีความเห็นต่อประเด็นข้างต้นดังนี้

1.ทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ทฤษฎีนี้ก็คือ อำนาจจัดให้มีหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) ซึ่งแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี คือ อำนาจจัดให้มีหรืออำนาจสถาปนาดั้งเดิม (Pouvoir constituant originaire) อำนาจนี้มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เช่น จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือชาติและประชาชนใช้อำนาจนั้นผ่านทางผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย มีการรัฐประหารบ่อยครั้งมากโดยคณะรัฐประหารจะยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอยู่ เป็นการเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่ระยะหลังรัฐธรรมนูญมักใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งศาลฎีกาตั้งแต่คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 ได้รับรองและยืนยันต่อๆ มาว่า เมื่อคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ ดังนั้น ถ้ามองว่าเมื่อมีการรัฐประหารสำเร็จแต่ละครั้ง คณะรัฐประหารย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์และมีอำนาจจัดให้มีหรือสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบเผด็จการ จากนั้นมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจแบบกึ่งเผด็จการ หากนักวิชาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญตีความและอธิบายว่าคณะรัฐประหารทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งให้ถือว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เช่น รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 48 ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 279 จึงทำให้เราต้องวนเวียนกับวงจรอุบาทว์เช่นนี้มาเกือบ 1 ศตวรรษแล้ว และถ้าประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ซึ่งบางครั้งมีอายุสั้นกว่าฉบับชั่วคราว) เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้อีก ประเทศนี้ก็ไม่มีพื้นที่สำหรับประชาธิปไตยและอำนาจของปวงชนชาวไทย

Advertisement

อำนาจอีกประการหนึ่งก็คืออำนาจจัดให้มีหรืออำนาจสถาปนาที่ได้รับมาจากอำนาจดั้งเดิม (Pouvoir constituant dérivé) หรือที่เรียกว่าอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Pouvoir de révision) ประเด็นก็คืออำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ จะมีอิสระและสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกประการจนเรียกได้ว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เหมือนอำนาจจัดให้มีดั้งเดิมหรือไม่

คำตอบก็คืออำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ได้ แต่จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเอง เช่น รัฐธรรมนูญอาจห้ามแก้ไขรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือรูปแบบของรัฐ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 255) หรือกำหนดเวลาห้ามแก้ไขไว้ อย่างไรก็ตาม ปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งเห็นว่าการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือบางหลักการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของระบบประชาธิปไตย เพราะเจ้าของอำนาจอธิปไตยในสมัยหนึ่งไม่มีอำนาจไปจำกัดเจ้าของอำนาจอธิปไตยในอนาคต ดังนั้น ถ้าประชาชนส่วนข้างมากในอนาคตประสงค์จะวางกฎเกณฑ์การปกครองรูปแบบใดก็ชอบที่จะกระทำได้ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยเสรีปราศจากข้อผูกมัดหรือข้อบังคับใดๆ การกำหนดข้อห้ามแก้ไขส่วนหนึ่งส่วนใดของรัฐธรรมนูญหรือห้ามแก้ไขทั้งฉบับจะกลายเป็นเครื่องยั่วยุให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังของประชาชนบังคับคือการปฏิวัติหรือรัฐประหาร (สมภพ โหตระกิตย์, คำสอนชั้นปริญญาตรี กฎหมายรัฐธรรมนูญ (ภาคหนึ่ง) น่ำเซียการพิมพ์, พระนคร: 2512 หน้า 42)

2.เมื่อมาพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรก คือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475” จนถึงปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 วิธีการเขียนทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวรเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมและการปฏิบัติตลอดจนประเพณีทางรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้แล้ว จะพบว่า

2.1 รัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งระบุว่าเป็นฉบับชั่วคราวไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใดและมิได้มีข้อจำกัดในการแก้ไข ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นและสภาฯ เห็นชอบ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งถือเป็นฉบับถาวรและใช้แทนฉบับแรกซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

2.2 รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใดเช่นเดียวกัน คงมีเพียงมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขดังต่อไปนี้….” ซึ่งเป็นการกำหนดถึงการเสนอ การพิจารณา และการออกเสียงลงคะแนน จึงเท่ากับเป็นการยืนยันหลักการและประเพณีทางรัฐธรรมนูญของไทยว่า คำว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น สามารถจัดทำฉบับใหม่ได้ และกรณีนี้ก็ไม่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตราใน พ.ศ.2482 และ พ.ศ.2485

ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้มีพระบรมราชโองการฯ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ขึ้น ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแต่อย่างใดและรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้ฉบับดังกล่าวแทนฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2482 และ พ.ศ.2485

2.3 เมื่อมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2490 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 93 แต่เพียงว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยความเห็นชอบของรัฐสภา” ไม่มีการเขียนถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือมีข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด จึงเป็นการยืนยันหลักการและประเพณีเดิม แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” นั้น จะเป็นการแก้รายมาตราหรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับก็ได้ ต่อมาใน พ.ศ.2491 มีการแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยการให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น และในที่สุดก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 โดยให้ใช้ฉบับใหม่แทนฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 เช่นเดียวกับที่เป็นมาใน พ.ศ.2475 และ พ.ศ.2489

รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2492 ไม่มีข้อห้ามในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดและบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 10 ซึ่งก็เป็นเรื่องของกระบวนการ ขั้นตอนในการแก้ไข ไม่มีประเด็นว่าทำใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าจะแก้ไขรายมาตราหรือทำใหม่ทั้งฉบับก็ได้

2.4 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2494 และมีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 แทนฉบับ พ.ศ.2492 โดยให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ ซึ่งในวันที่ 8 มีนาคม 2495 ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 จะเห็นได้ว่าเป็นฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่ใช้คำว่า “แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495” จึงยิ่งเห็นชัดว่าการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยฐานมาจากฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก็ยังเรียกว่า “แก้ไขเพิ่มเติม” ไม่เรียกว่าฉบับ พ.ศ. 2495 ยิ่งเป็นการตอกย้ำหลักการและความเข้าใจที่ว่า “แก้ไขเพิ่มเติม” นั้นหมายความว่าจะแก้เป็นรายมาตราหรือทำใหม่ทั้งฉบับ สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว อยู่ในความหมายของคำว่า “แก้ไขเพิ่มเติม” ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใดไว้

2.5 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2502 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเมื่อ 28 มกราคม 2502 โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและมีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย (มาตรา 6) ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จมีการประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 แทนฉบับ พ.ศ.2502 โดยที่ฉบับ พ.ศ.2502 ไม่มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเลย ทั้งนี้คงเพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารฉบับแรกที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการรัฐประหารโดยมติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ ฯลฯ โดยให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 17)

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ฉบับ พ.ศ.2511 คงบัญญัติเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” เฉพาะกระบวนการเสนอพิจารณาเห็นชอบ ฯลฯ ไม่มีข้อห้ามการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่อย่างใด

2.6 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2514 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ซึ่งคล้ายๆ กับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 โดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2515 เช่นเดียวกับ พ.ศ.2502 ไม่มีการบัญญัติให้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” แต่ให้ใช้ไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมาตรา 10 ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการแต่งตั้งเพื่อให้ความเห็นชอบ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นผลให้ผู้ถืออำนาจเดิมต้องสิ้นอำนาจไป โดยมิได้มีการยกเลิกธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2515 แต่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่แทนชุดเดิม อาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก 79 ท่าน ได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ.2515 ในมาตรา 10 และมาตรา 11 ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว ให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญนั้นต่อไป ถ้ามีประชามติไม่เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในหกสิบวัน

สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย (ดูรายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 30 วันที่ 9 พฤษภาคม 2517 และครั้งที่ 33 วันที่ 17 พฤษภาคม 2517) ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะธรรมนูญการปกครองฯ ได้บัญญัติถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไว้แล้ว ไม่อาจแก้ไขให้เป็นประการอื่นได้ และเพราะมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นว่าแก้ไขได้ให้เหตุผลว่าสภานิติบัญญัติทรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามแก้ไข รัฐสภาในอดีตไม่มีอำนาจผูกพันรัฐสภาในปัจจุบัน แม้จะมีข้อห้ามแก้ไขไว้ก็ยังแก้ได้ (อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร) และข้อห้ามนั้นย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย สภานิติบัญญัติชุดใหม่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจใหม่ ดังนั้นสภานิติบัญญัติฯ จึงไม่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยระบอบเผด็จการ (อาจารย์ธวัช มกรพงศ์)

อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติฯ ได้ลงมติว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมฯ ของ อาจารย์ ดร.ป๋วย กระทำไม่ได้ขัดต่อธรรมนูญปกครองฯ (74 ต่อ 54) ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ผู้จัดให้มีหรือสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารหมดอำนาจไปแล้ว ทั้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติฯ และมีชุดใหม่เกิดขึ้นแต่ยังคงอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารเดินหน้าประเทศต่อไป เพราะไม่ต้องการมีรัฐประหารหรือมีผู้อ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวและประกาศใช้ฉบับชั่วคราวใหม่เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ (ถาวร) ใหม่ อาจารย์ธานินทร์พยายามอธิบายตามระบบรัฐสภาแบบอังกฤษซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร อาจารย์ธวัชอธิบายตรงไปตรงมาว่าแม้ไม่มีการรัฐประหารหรือมีรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ แต่การเปลี่ยนองค์กรฝ่ายบริหารและสภา เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติ อำนาจใหม่ย่อมแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นได้ แต่สมาชิกข้างมากก็ยังติดยึดกับความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญเผด็จการเป็นกฎหมายสูงสุด แม้เผด็จการจะหมดอำนาจไปแล้ว เราก็ยังต้องปฏิบัติตาม ทั้งๆ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอเป็นเรื่องการให้มีประชามติเพิ่มเติมเข้าไปเป็นหลัก

ในที่สุดสภานิติบัญญัติฯ ก็ได้เห็นชอบในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในหมวด 11 และมิได้มีข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด

2.7 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2519 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารเมื่อ 22 ตุลาคม 2519 เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้มีการบริหารประเทศ 12 ปี 4 ปีแรกไม่มีการเลือกตั้ง 4 ปีที่สองสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเท่ากับวุฒิสภา 4 ปีที่สามลดอำนาจวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ จึงมีการกำหนดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ (ม.24) โดยไม่มีข้อห้ามเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติว่า การกระทำ ประกาศ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติและคณะปฏิวัติที่กระทำไปก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศ คำสั่งนั้นให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีวิวัฒนาการจนเป็นแบบสุดโต่งในปัจจุบัน

แต่ก็มีรัฐประหารอีกและมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกับธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2515

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ เมื่อ 22 ธันวาคม 2521 ในหมวดที่ 11 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติข้อห้ามใดในการแก้ไขเพิ่มเติม

2.8 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2534 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อ 1 มีนาคม 2534 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญคู่ไปกับหน้าที่นิติบัญญัติ เช่นเดียวกับธรรมนูญการปกครองฯ หลายฉบับก่อนหน้านั้น ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองฯ

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 11 ไม่มีข้อห้ามเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม มีการปกป้องผู้ทำรัฐประหารและผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศของหัวหน้าและคณะรัฐประหารไว้ดียิ่งขึ้นไปอีกคือห้ามมิให้ผู้ใดฟ้องร้องบุคคลและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารไม่ว่าในทางใดๆ (มาตรา 222)

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และมีการเลือกตั้งใหม่ มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534 ครั้งสำคัญใน พ.ศ.2538 ขณะที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขฯ เป็นรายประเด็น 8 ฉบับ ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอเพียงร่างเดียวหรือญัตติเดียว เป็นการแก้ไขในส่วนสำคัญๆ ทั้งฉบับ ซึ่งรัฐสภาเห็นชอบด้วยกับฝ่ายค้านจึงทำให้ร่างฯของรัฐบาลตกไป และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2538 โดยมีการแก้ไขตั้งแต่หมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ไปจนถึงหมวดสุดท้ายคือหมวด 11 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงบทเฉพาะกาลและในหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “…ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นละฉบับ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งในบทบัญญัติต่างๆ ที่มิได้แก้ไขเพิ่มเติม….จึงเป็นการสมควรที่จะได้ดำเนินการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใหม่ในส่วนสำคัญๆ ทั้งฉบับให้เกิดความสมานฉันท์….”

นี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างและเป็นประเพณีทางรัฐธรรมนูญของไทย ที่แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติแต่เพียงคำว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ไว้ในหมวดท้ายสุด ก่อนบทเฉพาะกาล แต่รัฐสภาและผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งหลายท่านก็มีส่วนในฉบับปัจจุบัน เข้าใจและเขียนถ้อยคำมาโดยตลอดว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” นั้น จะแก้ไขเป็นรายประเด็นหรือทั้งฉบับย่อมทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉบับ “ถาวร” ไม่ใช่เรื่องของฉบับชั่วคราวที่กำหนดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่เท่านั้น และถือเป็นอำนาจของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบบที่ 5) พ.ศ.2538 ก็มิได้บัญญัติข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เช่นกัน

ต่อมาในสมัยท่านนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534 อีกครั้งเป็นฉบับที่ 6 พ.ศ.2539 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 11 ด้วยการเพิ่มหมวด 12 เรื่อง “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในหมายเหตุของรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2539 ระบุว่า “….โดยที่เป็นการสมควรจัดให้มีวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง…. โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป….”

จึงเป็นที่ชัดเจนอีกครั้งว่า “อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ของรัฐสภานั้น สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้ระบุถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ก็ตาม สอดคล้องกับหลักทฤษฎี ตัวบทรัฐธรรมนูญ และประเพณีทางรัฐธรรมนูญของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2475 และไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นฉบับชั่วคราวหรือฉบับถาวรแต่อย่างใด

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 เมื่อ 11 ตุลาคม 2540 เป็นฉบับที่บัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งการให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับฉบับก่อนๆ มีการบัญญัติถึง “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ไว้ในหมวด 12 โดยไม่มีข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใดไว้

2.9 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 เมื่อ 1 ตุลาคม 2549 คราวนี้ คณะรัฐประหารโดยคำแนะนำของเนติบริกรทั้งหลายเขียนรัฐธรรมนูญให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดูยุ่งยาก ซับซ้อน สิ้นเปลืองอย่างที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีทั้งสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย มีสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน เลือกกันเองให้เหลือ 200 คน เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วต้องส่งไปให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คณะรัฐประหาร) สภานิติบัญญัติฯ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด องค์กรอิสระทั้งหลาย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาและเสนอความเห็น ทำให้แต่ละองค์กรพยายามจะให้ได้รัฐธรรมนูญที่สนองตอบตนเองมากกว่าจะเป็นไปเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย ทั้งยังบัญญัติการนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารไว้อย่างสุดโต่งไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ “….การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติในการบริหารหรือในทางตุลาการรวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง” (มาตรา 37) คือแม้ทำผิดกฎหมาย ก็คือว่าไม่ผิดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งๆ ที่ขัดต่อหลักนิติธรรมโดยชัดแจ้ง ศาลทั้งหลายจะยังตีความว่าใช้ได้อยู่อีกหรือ

ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เมื่อ 24 สิงหาคม 2550 โดยหมวด 15 บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เหมือนฉบับก่อนๆ และไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใดไว้ แต่ที่บรรดาเนติบริกรทำให้คณะรัฐประหาร อย่างถึงที่สุดต่อไปก็คือ การบัญญัติรับรองมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2549 ไว้อีกครั้ง เพราะเกรงว่า ถ้าฉบับถาวรไม่ยืนยันไว้ อาจเป็นปัญหากับคณะรัฐประหารและพวกที่กระทำผิดกฎหมายไว้มากมายได้

2.10 มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2557 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อ 22 กรกฎาคม ฉบับนี้ก็เอาแนวคิดเรื่องความยุ่งยาก ซับซ้อน สิ้นเปลืองมาจากฉบับ พ.ศ.2549 โดยให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นิติบัญญัติ สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ และเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเสนอแนะก่อน นอกจากนี้ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีและ คสช. เห็นเป็นการจำเป็นและสมควร ยังสามารถมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้ ซึ่งก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนใน พ.ศ.2516 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ไม่ได้บัญญัติถึงการแก้ไขเพิ่มเติมไว้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมก็คัดลอกจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2549

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อ 6 เมษายน 2560 โดยบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 15 ซึ่งมีความยุ่งยาก ซับซ้อนจนเรียกได้ว่าแทบจะแก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรายประเด็น หรือการจัดทำใหม่บางส่วน หรือทั้งฉบับ และเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติห้ามแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ (มาตรา 255)

3.สรุป

3.1 ปัญหาวงจรอุบาทว์ที่วนเวียนมาร่วม 1 ศตวรรษมีสาเหตุสำคัญอยู่ 3 ประการคือ

ประการแรก นักวิชาการแบบเนติบริกรและศาลตั้งแต่ พ.ศ.2496 เป็นต้นมา ได้ด้อยค่าหลักที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชาวไทย” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไปจนสิ้น โดยสยบยอมให้แก่อำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหาร ถึงขนาดเขียนรัฐธรรมนูญให้ถือว่าอำนาจเผด็จการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญและทำผิดกฎหมาย ถือเป็นการทำที่ถูกกฎหมายและไม่ต้องรับผิดหรือรับผิดชอบใดๆ และองค์กรศาลก็ดี องค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ดีพร้อมใจกันตีความเพื่อให้ทุกคน ทุกองค์กรยึดถือตามเช่นนี้

ประการที่สอง องค์กรรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรทั้งในอดีตหลายยุคและในปัจจุบัน ที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและพรรคการเมืองบางพรรคที่ ส.ส.เหล่านั้นสังกัดก็ยินยอมพร้อมใจกันสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการที่มุ่งสืบทอดอำนาจโดยร่วมเป็นรัฐบาล หรือเป็นงูเห่าในฝ่ายค้าน แต่ที่แย่ที่สุดคือไม่กล้าหาญที่จะปกป้องอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลับไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีส่วนโยงใยกับอำนาจของประชาชนเลยมากำหนดว่ารัฐสภาควรมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทั้งๆ ที่ได้ทำเช่นนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ส.ส.บางส่วนพยายามสงสัยอำนาจตนเองเพื่อสยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ ไม่กล้าหาญพอจะยืนข้างอำนาจของประชาชน ทั้งๆ ที่มาจากประชาชน

ประการที่สาม ประชาชนส่วนหนึ่งถูกมอมเมาโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยมและระบบรัฐราชการจนต้องยอมจำนน หรือสมยอมกับอำนาจดังกล่าว ขณะที่บางส่วนก็อาศัยอำนาจนั้นและระบบรัฐราชการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง และพวกพ้องจนถึงวันนี้ที่ประเทศกำลังอ่อนแออย่างถึงที่สุด ไร้ทิศทาง คนตัวเล็กทั้งหลายกำลังจะตาย หมดทางทำมาหากิน เด็กรุ่นใหม่ไร้อนาคต

คณะสร้างไทยจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมก้าวออกจากความขัดแย้งและความมืดมนไปด้วยกัน โดยเริ่มจากการมีรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยประชาชน เห็นชอบโดยประชาชนไปสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงมากำหนดทิศทางและแก้ไขปัญหาของประเทศ

การที่รัฐสภาจะมอบอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตนให้แก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือบางส่วนเป็นสิ่งปกติที่ทำได้ และทำกันมาโดยตลอด การเขียนว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” หรือ “ทำใหม่ในส่วนสำคัญทั้งฉบับ” หรือร่างฉบับใหม่แล้วประกาศใช้แทนฉบับเก่าทั้งฉบับล้วนเกิดขึ้นภายใต้คำว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวกับว่าเป็น “ฉบับถาวร” หรือ “ฉบับชั่วคราว” ซึ่งฉบับ “ชั่วคราว” ก็ย่อมเข้าใจได้อยู่แล้วว่าจะต้องมีฉบับจริงมาแทนที่ต่อไป มิใช่ไปตีความว่าฉบับถาวรก็ต้องเขียนถึง “การจัดทำฉบับใหม่” รัฐสภาจึงจะมีอำนาจจัดทำได้ พวกที่พยายามอธิบายเช่นนี้ ต้องการเพียงปกป้องการสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่านั้น และทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญต่อไปต้องลงรายละเอียดไปอีกว่าสามารถจัดทำฉบับใหม่ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยมีแนวคิดแบบนี้มาก่อน แต่กลับเป็นแนวคิดและประเพณีมาตลอดว่ารัฐสภาจะจัดทำฉบับใหม่เอง (เช่น พ.ศ.2489) หรือมอบให้ ส.ส.ร.ไปทำก็ได้โดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นเช่นนั้น (เช่น พ.ศ.2539)

อนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่รัฐสภารับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว แม้จะใช้คำว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่ก็ไม่ได้ทำใหม่ทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ส.ส.ร. คงแก้ไขเพิ่มเติม ได้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 ใน พ.ศ.2538 และไม่ได้แตะต้องข้อห้ามแก้ไขฯ ในเรื่องรูปแบบการปกครองและรูปแบบของรัฐแต่อย่างใด นอกจากนี้ หากรัฐสภาเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ก็ยังจะต้องไปทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกขั้นหนึ่งก่อน (มาตรา 256(8)) และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้มี ส.ส.ร. นี้แล้ว ประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน จนเมื่อ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็จะต้องไปขอความเห็นชอบด้วยวิธีการประชามติจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกครั้ง ทั้งหมดรัฐสภาดำเนินการโดยยึดโยงกับประชาชนทั้งสิ้น การมี ส.ส.ร. เช่นนี้เท่ากับเป็นอำนาจจัดให้มีหรืออำนาจสถาปนาดั้งเดิมใหม่ที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด จะไปตีความว่าแม้รัฐสภาทำถึงขนาดนี้ก็ยังไม่มีอำนาจ ใครคิดเช่นนั้นคงไม่มีคำอธิบายใดจะบรรยายได้ นอกจากต้องการปกป้องอำนาจรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจดังกล่าวเท่านั้น

การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในครั้งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ชาวไทยทุกคนและทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน เพื่อไขกุญแจไปสู่ความสมานฉันท์และมอบให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและการแก้ไขปัญหาที่หนักหนาสาหัสของประเทศที่ดำรงอยู่ในขณะนี้และในอนาคตต่อไป อย่าให้ไปสนองตอบต่อการสมคบคิด ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ใช้ได้เฉพาะ มาตรา 1 ถึง มาตรา 3 คือฝ่ายค้านบล็อกไม่ได้อีกต่อไป แต่ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา สามารถแก้ไขรายมาตราเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการปรับปรุงวิธีการสืบทอดอำนาจได้ตามสบาย ส่วนร่างมาตรา 4 และร่างหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตกไปทั้งหมดเพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจตามที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

โภคิน พลกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image