สถานีคิดเลขที่ 12 : คิวแท้ง-‘รายมาตรา’

สถานีคิดเลขที่ 12 : คิวแท้ง-‘รายมาตรา’ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแท้ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : คิวแท้ง-‘รายมาตรา’

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแท้ง ไปต่อไม่ได้
พลังประชารัฐจับมือพรรคแนวร่วม ผนึกเสียง ส.ว.แต่งตั้ง ไม่โหวตหนุน ผ่านความเห็นชอบวาระสาม
ใช้เทคนิคไม่ออกเสียง คว่ำทิ้งกลางกระดาน

ผลจากการกระหน่ำเทครั้งนี้ ทำให้ใครต่อใครตั้งคำถาม ถึงการนับหนึ่ง ยื่นญัตติแก้ไขใหม่
ไม่ว่าจะรายมาตรา หรือทั้งฉบับก็ตาม
อาจไม่ราบรื่น ในท้ายที่สุด ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
นั่นคือ แก้ไม่ได้ แม้แต่ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ มาตราเดียว

เนื่องจากลึกๆ แล้ว รัฐบาลและ ส.ว.ที่ได้อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่อยากให้แก้
ประสงค์รักษาธง ข้อได้เปรียบทางการเมือง เอาไว้สืบทอดอำนาจ

Advertisement

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่อง
เนื้อหาไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยสากล
รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขก็จริง
แต่นโยบายที่เขียนไว้ และได้แถลงต่อรัฐสภานั้น เป็นนโยบายการเมือง และความจำเป็นทางการเมือง

ขณะนั้น เสียงที่รวบรวมฟอร์มรัฐบาล ไม่ถึงเกณฑ์กติกา
พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเงื่อนไข บรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาล เพื่อแลกกับการเข้าร่วมรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
หากตอนนั้น พรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงได้มากพอ เกินครึ่ง
ไม่แน่นักว่า เรื่องนี้จะได้รับการบรรจุ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักรัฐบาล

แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป
เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แถลงสนับสนุนแก้ไข
แต่ถ้อยแถลงครั้งแล้วครั้งเล่าของนายกฯก็คือ
เป็นเรื่องของรัฐสภา เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะไปดำเนินการ
เหมือนกับว่ารัฐบาลได้กระตือรือร้นดำเนินการผลักดันอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ต่างกับการแสดง เขียนสคริปต์ แบ่งบทกันเล่น
รัฐสภาตีตก ก็มิได้เดือดเนื้อร้อนใจ
เผลอๆ ดีใจด้วยอีกต่างหาก

พรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่ต้องรับผิดชอบเงื่อนไขที่ตั้งไว้ อ้างว่าได้ทำเต็มที่แล้ว
แต่เป็นเรื่องของรัฐสภา
โบ้ยใบ้ ทำนองเดียวกัน ไม่อาจแทรกแซง การตัดสินใจได้
ฉะนั้น แรงกดดันภายในพรรคร่วม เพื่อให้การแก้ไขสำเร็จลุล่วงก็ไม่มี

ขณะที่นอกสภา ม็อบนิสิต นักศึกษา ที่ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลัก ก็อ่อนแรง แกนนำรุ่นต่อรุ่น ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่เว้นเบอร์รองๆ ลงมา รวมถึงแนวร่วมผู้มีบทบาททั้งหลาย
เมื่อไม่เต็มใจแต่แรก และไม่มีกระแสกดดันมากนัก
ความจำเป็นที่ต้องแก้ ในมุมมองของฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มี
แก้รายมาตราก็อาจแท้งอีก ไม่ด้วยวิธีการใด ก็วิธีการเทคนิคหนึ่ง ในเงื่อนปมที่เขียนผูกโยงกันไว้

เสียงประชาชนนั่นเล่า มีจำนวนไม่น้อย อยากให้แก้ไขก็จริง หากไม่แก้ไขตามที่เขียนไว้ บรรจุเป็นนโยบาย อาจกระทบความนิยม ส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคต
แต่ก็คงไม่เท่าใดนัก
เมื่อเทียบกับข้อได้เปรียบมหาศาล ยังไม่ครบเทอม ยังไม่ยุบสภา
ไม่ทันได้เลือกตั้ง แต่มีเสียงรองรังในมือ ในรัฐสภาแล้ว 250 คน
ใหญ่กว่าทุกพรรคการเมือง ชนะเลือกตั้ง-ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง
คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม กับค่าที่ต้องจ่าย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ โจมตี
แค่หา ส.ส.มาต่อยอดอีก 126 คน ก็ล็อกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยึดทำเนียบฯไว้ได้อีกครั้งอย่างง่ายๆ

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ กรณีเป็นพรรคเดียว ต้องชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากถึง 376 คน จากจำนวนทั้งหมด 500 คน โดยที่กติกาไม่เป็นใจ ให้ได้ ส.ส.มากถึงเพียงนี้
มองทางข้างหน้า จึงไม่เห็นทาง การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จลุล่วง
แม้แต่รายมาตราก็ตาม
ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่า เหตุผลจะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ผูกพันกับพี่น้อง 3 ป.จะเล่นต่อหรือเลิก
ไม่ได้ดูที่ข้อบกพร่องเนื้อหา บทบัญญัติ
ไม่แก้ไม่ได้

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image