สถานีคิดเลขที่ 12 : ศิลปะ-สื่อ-เสรีภาพ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ศิลปะ-สื่อ-เสรีภาพ เหตุการณ์ที่คณะวิจิตรศิลป์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ศิลปะ-สื่อ-เสรีภาพ

เหตุการณ์ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คนติดตามดูกันล้มหลามทั่วบ้านทั่วเมือง ผ่านการไลฟ์สดและคลิปจากการไลฟ์ ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดอำนาจนิยมกับเสรีภาพในงานด้านศิลปะอย่างสนุกสนานเผ็ดมัน

โดยมี ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ผู้โดดเด่นชัดเจนจากเหตุการณ์นี้ เป็นผู้ยืนยันว่า คนทำงานศิลปะนั้น ต้องเชื่อในหลักเสรีภาพ

เหมือนกับที่หลายๆ คนเคยกล่าวว่า ผู้สร้างสรรค์งานศิลป์นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณแห่งเสรี

Advertisement

ขณะที่งานศิลปะทั้งที่ผ่านจากสื่อภาพวาด ภาพยนตร์ งานเขียน วรรณกรรม บทกวี เสียงเพลง ที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นงานอมตะนิรันดร์กาลนั้น

ล้วนแต่เป็นงานที่อยู่บนพื้นฐาน การสะท้อนภาพของคนยากไร้ คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่

ไปจนถึงต่อต้านลัทธิเผด็จการ เสียดสีผู้นำบ้าอำนาจ ต่อต้านสงครามของเหล่ามหาอำนาจผู้รุกราน

ถ้าจะสนับสนุนการลุกขึ้นสู้รบ ก็ต้องเป็นการต่อสู้ของผู้นำประชาชน ต้องเป็นต่อสู้เพื่อเสรีภาพ โค่นล้มผู้กดขี่ ปลดโซ่ตรวนให้กับคนในสังคม อะไรเหล่านี้

ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ งานภาพถ่ายที่ทรงพลัง ภาพวาด วรรณกรรม บทกลอนกวี บทเพลง ที่ได้รับการยกย่อง

มักมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น

แน่นอนว่าศิลปินก็มีหลายแนวคิด

แนวชาตินิยม แนวคลั่งชาติ ก็มีมากมาย แต่ไม่ใช่ผลงานศิลปะที่จะสร้างความซาบซึ้งการเชิดชูยกย่องจากคนส่วนใหญ่

อีกทั้งโดยตัวตนของศิลปินที่ได้รับการยอมรับนับถือ

ก็มักเป็นนักเสรีนิยม เชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพ สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ

จะเห็นได้ว่า ผู้นำทหาร มักกลายเป็นตัวตลกในงานศิลปะที่โด่งดังลั่นโลก

มองในแง่นี้ หลายคนอาจจะผิดหวังในศิลปิน นักแสดง นักร้อง ในบ้านเรา ที่กลายเป็นผู้คลั่งระบบอำนาจนิยม เชียร์การรัฐประหาร

นั่นก็สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของงานศิลปะในบ้านเรา และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้สร้างความสำเร็จ การชื่นชมยอมรับแต่อย่างใด

เช่นเดียวกันกับ สื่อมวลชน อีกวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสังคมอย่างมาก

ต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ตรงไปตรงมา เป็นพื้นฐาน

แต่เหนืออื่นใด ต้องเคียงข้างคนส่วนใหญ่ ที่เสียเปรียบในสังคม

สำคัญสุดคือต้องยึดในหลักเสรีภาพ หลักประชาธิปไตย อำนาจการเมืองต้องเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่

เพราะสังคมไหนที่ไร้เสรีภาพ สังคมนั้นก็ปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยแน่นอน

บ้านเมืองในยุคที่มีรัฐประหาร บ้านเมืองยุคนั้นเป็นช่วงที่ขัดขวางเสรีภาพของสื่อ

บ้านเมืองยุคประชาธิปไตย อาจเละเทะบ้าง มีนักการเมืองบ้าอำนาจ โกงกินบ้าง แต่ยุคประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เปิดโอกาสให้สื่อมีเสรีภาพในการเป็นปากเสียงให้กับประชาชน

สื่อมวลชนแท้จริง จึงไม่เอียงข้างผู้มีอำนาจที่เป็นเผด็จการ ไม่เอาการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งไม่ยอมรับประชาธิปไตยที่มีอำนาจแอบแฝงด้วย

จริงอยู่ ยังมีสื่อมวลชนประเภท ร่วมทำลายเสรีภาพของประชาชน ร่วมกดสิทธิของประชาชน ร่วมทำลายการต่อสู้ของประชาชน

สื่อแบบนี้มีแน่นอน

ก็คือดาวสยามในยุคปี 2516-2519 และสื่อดาวสยามที่คืนชีพมาในยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่ง

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image