ที่เห็นและเป็นไป : ใครกัน‘ไม่รักชาติ’

ที่เห็นและเป็นไป : ใครกัน‘ไม่รักชาติ’

ที่เห็นและเป็นไป : ใครกัน‘ไม่รักชาติ’

ความขัดแย้งแตกแยกในความรู้สึก นึก คิดของผู้คนในสังคมไทยเราอยู่ในสภาพที่น่าจะเยียวยาแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

สังคมเลือกข้างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนานโดยไม่มีการหาทางประนีประนอมให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่เพียงไปสู่สภาพไม่รับฟังเหตุผลของกันและกันแล้วเท่านั้น แต่ทุกคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายยังถูกบังคับให้เลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากสดับตรับฟังเสียงที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของผู้ต่อสู้เพื่อความคิด ความเชื่อ จะพบว่า มองไม่เห็นเลยว่าจะยอมรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสภาวะมีความคิดที่แตกต่างได้อย่างไร

Advertisement

ทุกคน ทุกฝ่ายไม่เพียงแสดงความพร้อมอย่างท้าทายว่าไม่พรั่นพรึงต่อการแตกหัก โดยไม่ห่วงว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตตัวเอง ห้าวหาญที่จะสละซึ่งทุกสิ่งอย่างกระทั่งความมีอยู่ของชีวิตเพื่อเรียกร้องอนาคตที่เชื่อว่าจะดีกว่าของคนรุ่นหลังที่จะเกิดมาใหม่ แต่ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่พร้อมจะอยู่ร่วมกับคนที่ยืนอยู่ในความเชื่อที่ต่างออกไป

ปฏิบัติการที่สะท้อนความคิดไม่ขออยู่ร่วมกันอีกต่อไป บ้างเกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่ผลักดันความคิดของตัวเอง บ้างเกิดขึ้นจากการถูกอำนาจที่เหนือกว่าบังคับให้เป็นไป ยอมละทิ้งการกระทำตามจิตสำนึกที่ดีงามไปรับใช้อำนาจเพื่อรักษาชีวิตทางกายภาพของตัวเองให้อยู่ในภาวะปกติ

แต่ไม่ว่าจะแสดงออกด้วยแรงผลักดันแบบไหน สภาวะที่เกิดขึ้นคือพร้อมจะแตกหัก เลือกแล้วที่จะไม่อยู่ร่วมกันอย่างมีความคิดที่แตกต่าง

Advertisement

สังคมที่จิตใจของผู้คนตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มีความน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงไม่เหลืออะไรที่จะเป็นหลักยึดที่ยอมรับร่วมกันได้อีกต่อไปแล้ว

นั่นหมายถึงความล้มเหลวของ “สภาวะ” ที่เรียกว่า “สังคมเดียวกัน” ไม่ว่าจะเป็นนิยามของความเป็น “ชาติ” เป็น “ประเทศ”

มี “ดินแดน” มี “การปกครอง” และมี “ประชาชน” แต่ถึงวันนี้เหลือเพียง “ดินแดน” เท่านั้นที่ยังรับรู้ว่า “มีอยู่ร่วมกัน”

“การปกครอง” ที่ประกอบด้วยกฎหมาย ประเพณี วัฒนธรรม และอื่นๆ นั้น ตกอยู่ในสภาพต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างยึดถือ โดยปฏิเสธวิถี และความเชื่อของคนอื่น ฝ่ายอื่นจนไม่เหลืออะไรร่วม

สำหรับ “ประชาชน” ความเกลียดชังในกันและแรงถึงขั้นไล่กันและกันให้ไปจากแผ่นดินเกิดอย่างไม่รู้สึกถึงความเป็นพลเมืองร่วมชาติกันอีก

ประเทศที่มีประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นชาติมายาวนานเคลื่อนมาสู่สภาพเช่นนี้ได้อย่างไร?

นั่นคือคำถามที่หากจะหาคำตอบคงต้องสืบสาวกันมากมาย ยาวนาน ข้อสรุปที่ถูกต้องอาจจะมีอยู่ แต่การยอมรับร่วมกันถึงวันนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

คำถามที่ควรจะหาคำตอบด้วยความหวังว่าจะพลิกขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันในชาติอย่างยอมรับความแตกต่าง

ทำไมความปรองดองที่ทุกคนทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะฟื้นฟูให้เกิดขึ้น และเป็นวาระแห่งชาติที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจประกาศเป็นภารกิจมาจัดการให้เกิดขึ้นจึงหายไป ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้วในวันนี้

อำนาจหลักของประเทศ ที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” ทำไมถึงดูเหมือนไม่เพียงร่วมกันละเลยภารกิจที่ทุกคนทุกฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นนี้ แต่ยังแสดงออกให้เห็นถึงการเป็นสถาบันที่ขยายความแตกแยกให้รุนแรงยิ่งขึ้น จนหมดสภาพของสถาบันที่ยอมรับว่าเป็นหลักให้พึ่งพิงร่วมกันได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ทำไม!

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image