เขตบางกะปิ ฯลฯ

เขตบางกะปิ ฯลฯ
วัดวังทองหลางในอดีต

เขตบางกะปิ ฯลฯ

ถ้าจะเล่าเรื่องราวของเขตบางกะปิ คงต้องเล่าอีกหลายเขตไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเขตลาดพร้าว บึงกุ่ม วังทองหลาง และคันนายาว ไปจนถึงเขตสะพานสูง ที่เพิ่งแยกออกมาจากเขตบางกะปิ

จากเอกสารประวัติศาสตร์ พบประกาศ จัดตั้ง อำเภอบางกะปิ ขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งเมื่อมีการรวมจังหวัดกรุงเทพฯและจังหวัดธนบุรี เข้าเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเป็นกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา อำเภอบางกะปิ จึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นเขตบางกะปิ ในปี พ.ศ.2516

ด้วยพื้นที่เขตบางกะปิกว้างขวางมาแต่ครั้งอดีต เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญ และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จึงมีการโอนย้าย แบ่งแยก รวมแขวงต่างๆ ในเขตบางกะปิ ไปเป็นเขตต่างๆ เริ่มจาก แยกแขวงลาดพร้าว และแขวงจระเข้บัว ตั้งเป็นเขตลาดพร้าว และแยกแขวงคลองกุ่ม แขวงคันนายาว และแขวงสะพานสูง ตั้งเป็น เขตบึงกุ่ม ในปี พ.ศ.2532 เหลือเพียง แขวงหัวหมาก แขวงคลองจั่น และแขวงวังทองหลาง ยังอยู่ในเขตบางกะปิ ต่อมาในปี 2540 มีการรวมแขวงวังทองหลางกับบางส่วนของแขวงคลองจั่น ตั้งเป็นเขตวังทองหลาง แยกแขวงคันนายาว และแขวงสะพานสูง เขตบึงกุ่ม ตั้งเป็นเขตคันนายาว และเขตสะพานสูง

Advertisement

สำหรับที่มาของนามเขต คำว่า บาง นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ ให้ความหมายว่า ทางน้ำเล็กๆ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง ส่วนคำว่า กะปิ นั้น ส.พลายน้อย เสนอว่า กะปิ น่าจะมาจากคำว่า กะปิยะฮะห์ หรือกะปิเยาะห์ หมายถึงผ้าโพกศีรษะของผู้ชายมุสลิม เนื่องจากสองฝั่งคลองบางกะปิ มีชุมชนของผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่อพยพมาจากหัวเมืองมลายู ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงน่าจะมีการทำหมวกกะปิยะฮะห์ แต่ทั้งนี้ ตราประจำเขตบางกะปิ เป็นภาพลิง ด้วยเป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า กบี่ หรือ กระบี่ แปลว่าลิง

แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน ที่มาของคำว่า บางกะปิ แต่ก็มีหลักฐานชัดเจน ในแผนที่ประวัติศาสตร์ ที่ระบุทั้งคลองบางกะปิ ทุ่งบางกะปิ และวัดบางกะปิ

อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจว่า คลองบางกะปิ และคลองแสนแสบนั้น เป็นคลองเดียวกัน แต่ในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2430 กลับระบุถึง คลองบางกะปิ ที่เริ่มจากคลองสามเสน ทางทิศเหนือ ลงมาทางใต้ผ่านวัดบางกะปิ จนถึงคลองแสนแสบ

Advertisement
เขตบางกะปิ ฯลฯ
ภาพคลองแสนแสบจากเว็บไซต์ต่างประเทศ บรรยายว่า Close up Klong Saen Saeb 1865 ตรงกับ พ.ศ.2408 ในสมัยรัชกาลที่ 4
ที่มา https://teakdoor.com/famous-threads/39970-siam-thailand-bangkok-old-photo-thread-222.html

คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ ระหว่างสงครามกับญวนที่ยาวนานถึง 14 ปีเศษ ในพงศาวดารระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา เป็นแม่กอง จ้างจีนขุดคลอง ยาว 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก และลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา ในราคาเส้นละ 70 บาท ส่วนตั้งแต่ช่วงคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงหัวหมากนั้น ยังไม่พบหลักฐานว่าขุดขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าหลังจากขุดคลองมหานาคในสมัยรัชกาลที่ 1

ปัจจุบันคลองแสนแสบ เริ่มจากปลายคลองมหานาค ผ่านเขตต่างๆ ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต ปทุมวัน ราชเทวี วัฒนา ห้วยขวาง สวนหลวง บางกะปิ วังทองหลาง คันนายาว สะพานสูง มีนบุรี คลองสามวา และหนองจอก ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำบางปะกง ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ความยาว 73.8 กิโลเมตร

นามคลองแสนแสบนั้น มีผู้สันนิษฐานว่า มาจากคำในภาษาเขมร คือแสสาบ แปลว่า น้ำจืด ด้วยมีชาวเขมรอพยพมาอยู่บริเวณนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็มีผู้แย้งว่า มาจากคำในภาษามลายู แซแญป ที่แปลว่าเงียบสงบ ด้วยมีชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานริมคลอง สุไหงแซแญป รวมทั้งมีผู้คิดว่ามาจาก ยุงที่อยู่ตามคลองจำนวนมาก คอยกัดผู้คนที่ล่องเรือผ่าน

ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ รู้จักคลองแสนแสบ และทุ่งบางกะปิ จากอมตะนิยายของ ไม้เมืองเดิม เรื่อง แผลเก่า ที่มีขวัญ เรียม เป็นพระนางคู่(จิ้น)ขวัญ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ต่อมาเมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2503 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ ได้ประพันธ์คำร้อง เพลงประกอบภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเพลงเอกในปัจจุบัน

เขตบางกะปิ ฯลฯ
มัสยิดยามีอุลอิสลาม (สุเหร่าวัดตึก) ริมคลองแสนแสบ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

…แสนแสบ แสบแสนเปรียบแม้นชื่อคลอง นี่คือโลงทองของเรียม ขวัญ เขาฝากชีพจม แต่คลองยังช้ำ เหลือไว้แต่น้ำขุ่นตม พี่จึงช้ำจึงช้ำขื่นขม ตรมเสียกว่าคลอง…

เหม เวชกร บันทึกเรื่องราวของ ก้าน พึ่งบุญ เจ้าของนามปากกาไม้เมืองเดิม ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ว่า “…วันหนึ่ง ระหว่างที่นั่งเล่นกันอยู่ที่ สะพานรถไฟข้ามคลอง หลังวัดมักกะสัน ซึ่งเป็นท้องนา จึงแนะให้ก้านลองวางแนวการเขียนเรื่องใหม่ โดยมีสถานที่จริงรองรับเหมือนอย่างในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และชี้ให้ดูชายทุ่ง ที่มีกระต๊อบเล็กๆ จุดตะเกียงส่องแสงริบหรี่ ก้านจึงมองตามอย่างใช้ความคิด แล้วก็ตบเข่าฉาดใหญ่ร้องขึ้นว่า กูไม่อดตายแล้วมึงเอ๋ย กูพบทางแล้ว…” ฉากหลังทุ่งบางกะปิ ในนวนิยาย แผลเก่า ของ ไม้เมืองเดิม จึงอยู่ประมาณวัดบางกะปิ หรือวัดอุทัยธาราม ในปัจจุบัน

นามเขตอื่นๆ นั้น ขอเริ่มจากคำว่า ลาด นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ ให้ความหมายว่า ปูแผ่ออกไป เทต่ำ เอียงน้อยๆ ส่วน พร้าว น่าจะเป็นคำที่มาจาก มะพร้าว ซึ่งสมัยก่อนใช้คำว่า หมากพร้าว รวมแล้ว จึงหมายถึงบริเวณที่เป็นพื้นที่เทต่ำ มีต้นมะพร้าวขึ้นหนาแน่น

คำว่า บึง นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ ให้ความหมายว่า แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่มีน้ำขังตลอดปี ส่วน กุ่ม นั้น เป็นไม้ยืนต้น มีทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบก กุ่มน้ำนั้น พบตามข้างลำคลองและริมแม่น้ำ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์มีสรรพคุณทางยา

เขตบางกะปิ ฯลฯ
หมวกกะปิเยาะห์
ที่มา สำนักงานเขตบางกะปิ

ส่วนคำว่า คัน นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ ให้ความหมายว่า แนวดินหรือแนวทรายเป็นต้น ที่พูนสูงเป็นแนวยาว เมื่อรวมกับคำว่า นา และ ยาว จึงหมายถึง ดินที่พูนสูงเป็นแนวยาวในการทำนา ใช้เป็นขอบเขตและกั้นน้ำ ซึ่งตรงกับสภาพพื้นที่เดิมของ ทุ่งบางกะปิ ในแผนที่ประวัติศาสตร์ ที่นาจะเป็นผืนยาว คันนาจะเริ่มจากท้ายหมู่บ้านสุเหร่าแดง (ปัจจุบันคือบริเวณถนนเสรีไทย) ไปจนถึงโรงแดง (บริเวณถนนรามอินทรา) เช่นเดียวกับ สะพานสูงข้ามคลอง ที่มีอยู่มากมาย ในบริเวณทุ่งบางกะปิ อันเป็นที่มาของนาม เขตสะพานสูง และเขตวังทองหลาง ที่เรียกขานตามสภาพพื้นที่ บริเวณคลองเจ้าคุณสิงห์ ทุ่งบางกะปิ ที่เต็มไปด้วยต้นทองหลางน้ำ

แม้จะมีการแบ่งพื้นที่ เขตบางกะปิ ไปเป็นเขตต่างๆ แล้ว ปัจจุบันยังเหลือพื้นที่มากถึง 28.523 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขต ทิศเหนือติดกับเขตลาดพร้าวและเขตบึงกุ่ม ทิศตะวันออกติดกับเขตบึงกุ่มและเขตสะพานสูง ทิศใต้ติดกับเขตสวนหลวง และทิศตะวันตกติดกับเขตห้วยขวางและเขตวังทองหลาง ปัจจุบันประกอบด้วย แขวงคลองจั่นและแขวงหัวหมาก

เขตบางกะปิ ฯลฯ
แผนที่กรุงเทพมณฑลสยาม พ.ศ.2440 บริเวณทุ่งบางกะปิ แนวคลองแสนแสบจากคลองมหานาคด้านซ้ายมือค่อยๆ ไล่ขึ้นไปทางขวา เห็นวัดบางกะปิ วัดลาดพร้าว วัดวังทองหลาง มีบึงน้ำขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม

ส่วนเขตลาดพร้าวที่แยกออกมาจากเขตบางกะปิ ก็มีพื้นที่กว้างขวางพอๆ กันคือ 22.157 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับเขตบางเขน ทิศตะวันออกติดกับเขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ และเขตวังทองหลาง ทิศใต้ติดกับเขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง ทิศตะวันตกติดกับเขตจตุจักร ประกอบด้วย แขวงลาดพร้าว และแขวงจระเข้บัว

เช่นเดียวกับ เขตบึงกุ่ม ที่มีพื้นที่ 24.31 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขต ทิศเหนือติดกับ เขตบางเขนและคันนายาว ทิศตะวันออกติดกับเขตคันนายาว ทิศใต้ติดกับเขตสะพานสูง และทิศตะวันตกติดกับเขตบางกะปิและเขตลาดพร้าว ประกอบด้วย แขวงคลองกุ่ม แขวงนวมินทร์ และแขวงนวลจันทร์

เขตคันนายาว มีพื้นที่ขนาด 25.980 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับเขตบางเขนและเขตคลองสามวา ทิศตะวันออกติดกับเขตคลองสามวาและเขตมีนบุรี ทิศใต้ติดกับเขตสะพานสูง และทิศตะวันตกติดกับเขตบึงกุ่ม ประกอบด้วย แขวงคันนายาว และแขวงรามอินทรา

เขตบางกะปิ ฯลฯ
ภาพซ้อนเปรียบเทียบแผนที่มณฑลสยามบริเวณอำเภอบางกะปิในอดีต กับการแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ในปัจจุบัน

และเขตสะพานสูง ปัจจุบันมีพื้นที่ 28.124 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับเขตบึงกุ่ม และเขตคันนายาว ทิศตะวันออกติดกับเขตมีนบุรีและเขตลาดกระบัง ทิศใต้ติดกับเขตประเวศ และเขตสวนหลวง ทิศตะวันตกติดกับเขตบางกะปิ ประกอบด้วย แขวงสะพานสูง แขวงราษฎร์พัฒนา และแขวงทับช้าง

ในตอนที่มีประกาศแยกเขตวังทองหลางจากเขตบางกะปิเดิมนั้น มีแค่แขวงวังทองหลาง แขวงเดียวเท่านั้น ต่อมามีประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตลาดพร้าวและเขตวังทองหลาง จึงแบ่งพื้นที่ตอนเหนือของแขวงวังทองหลาง ไปรวมกับแขวงลาดพร้าว ทำให้เขตวังทองหลางปัจจุบัน มีพื้นที่ 19.265 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แขวงวังทองหลาง แขวงสะพานสอง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ และแขวงพลับพลา การแบ่งแยกพื้นที่การปกครองใหม่นี้ ทำให้ย่านวังทองหลางในปัจจุบัน ไม่อยู่ในเขตวังทองหลาง

จากทุ่งนาบางกะปิ ชานพระนคร ในวันวาน มาเป็นถิ่นที่อยู่บ้านจัดสรรของคนเมือง ในวันนี้ และจะเป็นชุมชนเมืองหนาแน่นของมหานคร เมื่อระบบขนส่งมวลชนระบบราง ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในวันหน้า การแปรเปลี่ยนของเขต คงจะเป็นไปตามความเจริญของกรุงเทพมหานคร ที่ดูเหมือนว่า ไม่มีวันสิ้นสุด

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image