เทคโนโลยี‘กับดัก’ ระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

เทคโนโลยี‘กับดัก’ระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน

เทคโนโลยี‘กับดัก’ระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนมีองค์ประกอบหลักสำคัญ คือ การพัฒนาคน : โดยพัฒนาตัว “คน” ที่เป็นปัจจัยตัวกระทำให้กับศูนย์กลางการพัฒนา ด้วยการพัฒนาตัวตนนี้ระบบคือ ครบทั้ง “พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา” ทั้งสามด้านแห่งการดำเนินชีวิตนั้นมีความสัมพันธ์ดังอาศัยปัจจัยส่งผลต่อกัน และต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ ระบบแห่งไตรสิกขา ได้แก่ “ศีล สมาธิ ปัญญา”

พฤติกรรม : พฤติกรรมที่ดีเป็นช่องทางให้จิตใจพัฒนาและช่วยให้ปัญญางอกงาม อย่างน้อยพึงมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน แต่เป็นพฤติกรรมที่สร้างสรรค์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

จิตใจ : จิตใจที่เจตจำนงเป็นตัวชี้นำกำหนดพฤติกรรม และสภาพจิตที่พอใจมีความสุข ก็ทำให้ “พฤติกรรม” มีความมั่นคง ปัญหาจะทำงานได้ผลและพัฒนาไปได้ ต้องอาศัยสภาพจิตใจที่เหมาะโดยเฉพาะในการพัฒนาคน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนควรจะทำให้ได้

Advertisement

ปัญญา : พัฒนาปัญญาที่ให้รู้และเข้าใจโลก และชีวิตความเป็นจริง เข้าถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ จนผ่านพ้นความยึดติด ในคุณค่าที่ไม่เป็นจริง ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กัน “สิ่งปรุงแต่ง” อันไร้แก่นสาร ที่แท้จริงทั้งหลายทำจิตใจให้เป็นอิสระ มีความสุขเต็มอิ่มในตัว โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก เป็นผู้ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จึงใช้พลังงานของชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมด ที่เหลืออยู่เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่โลกเป็นผู้บรรลุจุดหมายของการพัฒนามนุษย์ เป็นผู้ที่มีชีวิตที่เอื้อที่สุดต่อการที่โลกทั้งหมดทั้งโลก คือ “สังคมมนุษย์” และโลกแห่งธรรมชาติจะบรรลุจุดหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาคนและ “คน” ได้รับการพัฒนาในฐานะที่คนเป็นปัจจัยตัวกระทำ ก็นำเอาการพัฒนาคน และคนที่มีการพัฒนามาเป็นแกนกลางของ “ระบบการพัฒนาให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน”

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้น เมื่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งสี่ดำเนินไปได้ด้วยดีโดยที่ทุกส่วนเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลในทางเกื้อกูลแก่กัน ทำให้ดำรงอยู่ด้วยดีด้วยกัน ในระบบนี้ “มนุษย์” เป็นปัจจัยตัวกระทำมีความสำคัญที่สุดที่จะภาวะที่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้หรือไม่ แนวทางพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนมี 4 องค์ประกอบ กล่าวคือ1) มนุษย์ 2) สังคม 3) ธรรมชาติ 4) เทคโนโลยี

Advertisement

1.มนุษย์ มนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ เป็นหลักการที่ควรให้ความสำคัญสูงสุด โดยมุ่งให้การศึกษาและจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนอื่น เพื่อช่วยให้มนุษย์แต่ละชีวิตเจริญงอกงามเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขที่แท้จริงสมบูรณ์ มนุษย์ที่ได้มีการพัฒนาในฐานะนี้ จะเป็นปัจจัยตัวกระทำที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้ระบบสัมพันธ์องค์รวมใหญ่บรรลุจุดหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

มนุษย์ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นทุนหรือเป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ก็พึงมีการพัฒนาให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ โดยมีสุขภาพดี ขยันอดทน รับผิดชอบ มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ ฯลฯ พร้อมที่จะเป็นกำลังในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่จัดสรรให้เกื้อหนุนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

2.สังคม ระบบการต่างๆ ทางสังคมนั้น ว่าโดยพื้นฐาน เป็นการจัดตั้งวางรูปแบบขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องมือและเป็นสื่อที่ช่วยให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติทำงานหรือดำเนินไปในทางที่จะอำนวยผลดีแก่หมู่มนุษย์

การจำแนกเป็นระบบย่อยต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการบริหาร ตลอดจนกิจการต่างๆ ก็เพื่อให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้นเกิดมีกำลังและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น ระบบเหล่านั้นทั้งหมดจะต้องประสานกลมกลืนสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวบนฐานแห่งความรู้ในความเป็นจริงแห่งกฎธรรมดาอันเดียวกัน

การที่ระบบเหล่านั้นตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ไม่เข้าถึงความจริงแท้ และอยู่บนฐานของทฤษฎีที่แบ่งแยกแต่ต่างกัน ก็คือเครื่องบ่งบอกให้ทราบว่า ระบบการเหล่านั้นจะไม่นำไปสู่ผลที่มุ่งหมายและจะไม่เป็นระบบที่ยั่งยืน และอาจจะเป็นตัวการที่ทำให้สังคมวิปริตเรรวนระส่ำระสายด้วยซ้ำ

ผลสำเร็จที่เกิดจากระบบการต่างๆ ทางสังคม เช่น เศรษฐกิจเจริญเติบโต จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำเร็จผลสภาพบ้านเมืองสงบเรียบร้อย จากการเมืองการปกครองที่ได้ผล เป็นต้น ไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นสภาพแวดล้อม เป็นบรรยากาศและเป็นปัจจัยเกื้อหนุน เพื่อเอื้อโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ความมีอิสรภาพและสันติสุขที่แท้จริง

จุดเน้นสำคัญของมาตรการต่างๆ ทางสังคมก็คือ การสร้างบรรยากาศแห่งการไม่เบียดเบียน ตลอดจนบรรยากาศแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล สังคมจึงจะต้องให้มีมาตรการพิทักษ์และป้องกันคนที่อยู่ในสถานะต่างๆ ซึ่งมีโอกาส มีกำลังความสามารถมากน้อยต่างกัน ไม่ให้เบียดเบียน ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบกันและเอื้อโอกาสที่แต่ละบุคคลจะพัฒนายิ่งขึ้นไปทั้งในฐานะมนุษย์ และในฐานะทรัพยากรมนุษย์

ในระดับสังคมฉันใด ในระดับต่างสังคมก็ฉันนั้น ประชาชาติที่เปิดถึงทั่วกันแล้ว จะต้องวางมาตรการร่วมกันปกป้อง มิให้มีการกดขี่บีบบังคับเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างประเทศ ไม่ว่าน้อยใหญ่

พร้อมกันนั้น สังคมก็พึงมีมาตรการพิทักษ์ป้องกันไม่ให้คนเบียดเบียนทำลายธรรมชาติแวดล้อม แต่มีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการกระทำและกิจการที่เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ

3.ธรรมชาติ ทัศนคติที่ดีของมนุษย์ต่อธรรมชาตินั้น ไม่ควรจะหยุดเพียงแค่เลิกมองตนเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ และเลิกคิดจะพิชิตจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ แล้วมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และจะต้องมีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติเท่านั้น เพราะนั่นยังเป็นทัศนคติกึ่งเชิงลบและเฉื่อยชา แต่ควรจะก้าวต่อไปถึงขึ้นแสดงศักยภาพของมนุษย์ในทางที่ตรงข้ามจากเดิม กล่าวคือ

ก่อนหน้านี้ มนุษย์วัดความสามารถของตนด้วยการที่เอาชนะธรรมชาติ และจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนาต่อไปนี้ มนุษย์มองเห็นแล้วว่าการทำได้อย่างนั้นไม่ใช่เป็นความสามารถที่แท้จริงอันน่าภูมิใจแต่อย่างใดเลย ความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือ การทำให้โลก ซึ่งเคยมีการเบียดเบียนกันมาก เบียดเบียนกันน้อยลง ทำให้โลกที่มนุษย์และสรรพชีพเคยพออยู่กันได้ สามารถอยู่กันได้ดียิ่งขึ้น อย่างเกื้อกูลกันมากขึ้น

ในสังคมมนุษย์ มีการจัดตั้งวางสมมุติต่างๆ ขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันความสัมพันธ์ที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี และคุ้มครองสังคมให้อยู่ในสันติสุขและความชอบ

สมมุติทั้งหลาย เช่น สิทธิต่างๆ เหล่านั้น มนุษย์พึงใช้อ้างต่อกันกับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น จะใช้อ้างในการปฏิบัติต่อธรรมชาติไม่ได้ในการปฏิบัติต่อธรรมชาติ พึงดูที่ผลกระทบอันจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ที่มันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติเท่านั้น ว่าจะเป็นการก่อความเสียหาย หรือสร้างสรรค์เกื้อกูลและผลดีผลร้ายตามกฎธรรมชาติที่แท้นี้ก็จะส่งต่อมาถึงตัวมนุษย์และสังคมของตนในที่สุดด้วยการใช้สมมุติเช่นสิทธิเป็นต้นนั้น จะไม่มีผลใดๆ ในธรรมชาติเลย นอกจากผลระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน

มนุษย์ในยุคพัฒนาที่ผ่านมา ยิ่งเจริญก็ยิ่งแปลกแยกจากโลกที่แท้ของตนเอง คือ โลกธรรมชาติ ไกลออกไปมากขึ้น แท้จริงนั้น ธรรมชาตินอกจากเป็นพื้นฐานและเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงแห่งชีวิตด้านกายของมนุษย์แล้ว ถ้ามนุษย์วางท่าทีให้ถูกต้อง ธรรมชาติก็จะเป็นแหล่งอำนวยคุณค่าแห่งความงามความรื่นรมย์และให้ความสุขหล่อเลี้ยงแม้แต่ชีวิตด้านนามธรรมของมนุษย์ด้วยยิ่งกว่านั้น มนุษย์ที่เขาสู่วิถีแห่งการพัฒนา จะได้รับประโยชน์จากธรรมชาติ โดยใช้เป็นที่พัฒนาชีวิตของตนทุกด้านจนบรรลุความสมบูรณ์แห่งจิตใจและปัญญา

ถ้ามนุษย์ไม่ลืมที่จะรับเอาคุณค่าเหล่านี้ของธรรมชาติ มนุษย์ก็จะไม่แปลกแยกจากโลกและชีวิตของตน และความประสานเกื้อกูลกันก็จะเกิดตามมา

ในขณะที่มนุษย์ประกาศขึ้นมาว่า ต่อไปนี้เราจะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสันติ โดยไม่เบียดเบียนทำร้ายเอาเปรียบกันนั้น แท้ที่จริงธรรมชาติได้ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบแล้วเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อนที่มนุษย์จะประกาศเช่นนั้น มนุษย์ได้รุกรานเอาจากธรรมชาติไปเกือบจะหมดอยู่แล้ว เป็นเหมือนคนที่จะเอาแต่ได้อย่างเดียว

ถ้ามองให้ถูกต้องอย่างนี้ มนุษย์ไม่ควรจะอยู่เพียงแค่ภาวะสงบศึกกับธรรมชาติเท่านั้น แต่มนุษย์ควรจะให้แก่ธรรมชาติให้มากด้วยการเสริมสร้างเป็นการใหญ่ โดยยอมเสียสละให้มาก อาจจะถือว่าเป็นการที่มนุษย์สำนึกผิด แล้วทำความดีชดใช้ หรือจะถือว่ากอบโกยจากเขามามากแล้ว จะคืนให้แก่ธรรมชาติบ้างก็ได้

4.เทคโนโลยี การประดิษฐ์ การผลิต การใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาและอนุรักษ์ธรรมชาติโดยตรง มีมากมายหลายอย่าง เพิ่มขึ้นๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกื้อกูล ไม่ทำลายธรรมชาติ เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงโดยมีของเสียน้อย เทคโนโลยีเพื่อกำจัดของเสีย เช่น เครื่องกำจัดน้ำเสีย เครื่องกำจัดขยะ เทคโนโลยีที่เอาของเสีย มาผลิตเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นต้น ตลอดจนการวางมาตรการบังคับควบคุม และมาตรการทางภาษี เป็นต้น

ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้รู้เฉพาะจะต้องบรรยายเป็นพิเศษต่างหาก ปฏิบัติการในเรื่องนี้จะมีความซับซ้อน ในบางสังคมก็ได้ผลน้อย ซึ่งนอกจากเป็นเพราะปัญหาด้านเทคโนโลยีเองแล้วยังโยงไปถึงความบกพร่องในการพัฒนาคน และความย่อหย่อนความไร้ประสิทธิภาพหรือความเสื่อมทรามในระบบการต่างๆ ของสังคม พูดสั้นๆ ว่า เรื่องนี้ยังจะต้องเร่งรัดแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

สังคมบางสังคม เช่น สังคมไทยเราเอง ขาดภูมิหลังในการสร้างสรรค์ผลิตเทคโนโลยี และแม้จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ก้าวสู่ความเป็นผู้ผลิต

การที่เริ่มต้น โดยพบกับเทคโนโลยีสำเร็จรูป และเป็นเทคโนโลยีประเภทบริโภค กับทั้งตนเองสัมพันธ์กับเทคโนโลยีในฐานะผู้บริโภค เทคโนโลยีจึงมีความหมายหนักไปด้านเดียวในแง่เป็นเครื่องเสริมความสะดวกสบายบำรุงบำเรอ ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคน แต่จะสร้างความโน้มเอียงที่เป็นปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือ ส่งเสริมค่านิยมบริโภค ชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และเสริมซ้ำนิสัยเห็นแก่ความสะดวกสบายชอบแต่การที่ง่าย อ่อนแอ ไม่สู้สิ่งยาก แม้แต่สังคมที่มีภูมิหลังในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเองก็ยังประสบปัญหานี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะไม่ประมาท และเร่งรัดพัฒนาคนให้ทวนกระแสนี้ได้

เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำงานแทนมนุษย์ได้มากมาย และอีกประการหนึ่งเป็นเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสุขสะดวกสบาย ถ้ามนุษย์ใช้ทันด้วยสติ และมีโยนิโสมนสิการ โดยปฏิบัติต่อมันถูกต้อง มันก็จะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลยิ่ง ทั้งในการพัฒนาตัวมนุษย์เอง และในการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่จุดหมาย

แต่ถ้ามนุษย์ลืมตัวเพลิดเพลินไป โดยใช้แต่เทคโนโลยีทำงานให้ และเสพสุขโดยใช้เทคโนโลยีบำรุงบำเรอ มนุษย์จะโน้มเอียงไปในทางที่จะพึ่งพาและตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ทั้งในแง่อินทรีย์ที่ทำงานการ และในด้านความสุข คือ ขาดเทคโนโลยีแล้วทำงานไม่ได้ ดำเนินชีวิตให้ได้ผลดีไม่ได้ และมีความสุขไม่ได้ผลก็จะกลายเป็นว่าเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสื่อมแก่มนุษย์

ท้ายสุด “มนุษย์จะต้องไม่ประมาทและให้ความเจริญของเทคโนโลยีเคียงคู่ไปกับการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เทคโนโลยีเจริญแต่มนุษย์เสื่อมลง และมนุษย์เป็น ‘ทาส’ ของเทคโนโลยีแทนที่จะเป็นเจ้านายเทคโนโลยี” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image