สถานีคิดเลขที่ 12 : ทนไฟ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทนไฟ รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทนไฟ

เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ มีรัฐมนตรีของประเทศออสเตรีย ชาติในยุโรป ลาออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพราะทำงานรับมือโรคระบาดโควิดมากเกินไปจนอ่อนล้าแล้ว

ตอนลาออก นายนูดอล์ฟ อันส์โชเบอร์ บอกว่าทำงานมา 15 เดือน มันหนักหนาสาหัสเหมือนทำมา 15 ปี

เปิดตัวเลขดู ออสเตรียมีประชากรแค่ 9 ล้านคน แต่มีคนติดโควิดสูงถึง 6 แสนคน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10,098 ราย ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ

Advertisement

เมื่อรัฐบาลยืนยันว่าทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสมรณะ ประเทศชาติจึงสมควรมีรัฐมนตรีที่มีความแข็งแรงทั้งกายใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อฝ่าวิกฤตดังกล่าว

นายอันส์โชเบอร์ประเมินแล้วว่า “นั่นไม่ใช่ผมในตอนนี้”

การประเมินและตัดสินตนเองดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่านับถือ เพราะการรู้ตัวเอง และยอมรับความจริง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงเร็วขึ้น

Advertisement

บางคนทำหน้าที่ได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน คนคนนั้นก็อาจไม่เหมาะกับตำแหน่งอีกแล้ว

สำหรับคนที่มีตำแหน่งทางการเมือง ปกติทั่วไป ถ้าไม่ใช่ถูกแฉเรื่องอื้อฉาว หรือจำนนด้วยหลักฐานว่าปฏิบัติงานโดยมิชอบ ก็ไม่มีใครอยากจะพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปได้ง่ายๆ

กรณีของอินเดีย สถานการณ์โควิด-19 ระบาดสะเทือนขวัญชาวโลกอยู่ขณะนี้ มีคนติดเชื้อพุ่งสูงอย่างกับคลื่นสึนามิ ก็สั่นสะเทือนรัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรระดับเกินพันล้านคน เวลาพูดถึงคนท่วมท้นจึงเป็นจำนวนสูงมากไม่ธรรมดา อย่างขณะนี้เกินวันละ 3 แสนคนต่อวัน ทำสถิติใหม่ระดับโลกมาเป็นระยะ

เมื่อคนป่วยสูงขนาดนี้ ระบบต่างๆ จึงชอร์ตต่อกันหมด ตั้งแต่ตรวจหาเชื้อ รักษาโรค ไปจนถึงการเผาศพ

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที ของอินเดีย แม้จะเคยมีคะแนนนิยมสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาวฮินดู ตอนนี้อะไรๆ ก็เริ่มไม่แน่นอน

ความสำเร็จของรัฐบาลในการรับมือกับโควิดระลอกแรกได้สำเร็จ ตามด้วยสถิติฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ปริมาณคนเร็วมากที่สุดในโลก เป็นอันถูกคลื่นสึนามิโรคระบาดรอบสองซัดพังไปเรียบร้อย

เสียงตำหนิติเตียน และเสียงเรียกร้องให้รัฐมนตรีสาธารณสุข รวมไปถึงนายกฯ ลาออก เริ่มสะพัดในโลกออนไลน์

วิธีที่รัฐบาลอินเดียรับมือ คือ ขอให้บริษัทโซเชียลมีเดียลบข้อความแบบนี้ออก เพราะถือว่าทำให้สังคมแตกตื่น หวาดหวั่น และเป็นอุปสรรคต่อภารกิจยับยั้งโควิดของรัฐบาล

โซเชียลมีเดียบางเจ้าทำตามคำขอ ดังนั้นข้อความวิจารณ์รัฐบาลทำงานรับมือโควิดย่ำแย่ จึงทำให้ผู้ใช้บริการเฉพาะในอินเดียมองไม่เห็น กลายเป็นปมวิจารณ์กันอย่างอลเวง

ถ้าดูประเทศไทย จะเห็นได้ว่าวิธีการที่รัฐบาลรับมือ ไม่ใช่การขอทวิตเตอร์ให้ลบข้อความอันเป็นผลเสียกับรัฐบาล

แต่เป็นแฮชแท็กสุดเริ่ดว่า #ทองแท้ไม่กลัวไฟ เพื่อยืนยันว่ารัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป ขณะที่มีเสียงวิจารณ์อีกด้านว่าการประเมินพลาดและวางแผนบกพร่อง

งานนี้ต้องติดตามต่อว่าไทยกับอินเดีย ใครจะทนไฟได้มากกว่ากัน

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image