ท่าทีของรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อรัฐบาลพม่า โดย สีดา สอนศรี

ประเทศฟิลิปปินส์และพม่าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน โดยฟิลิปปินส์ได้สถาปนาทางการทูตกับพม่าในเดือนกันยายน 1956 แต่เท่าที่ผ่านมาในอดีตฟิลิปปินส์ได้วิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยของพม่ามากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน แต่ก็มิได้เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในยกเว้นกรณีของเอสตราดาที่ไปเยี่ยม อันวา อิบราฮิม ในมาเลเซียเท่านั้น ในส่วนของชาวฟิลิปปินส์นั้น ได้เข้าไปทำงานในองค์การระหว่างประเทศและเป็นผู้บริหารในหน่วยงานอุตสาหกรรมในพม่าพอสมควร และรัฐบาลพร้อมจะรับกลับประเทศหากมีความรุนแรงมากกว่านี้

จากรัฐประหารในพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นั้น สังคมนานาชาติต่างประณามในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย ว่ากระทำการรุนแรงกับประชาชนเป็นจำนวนมาก และไม่เห็นด้วยกับการจับออง ซาน ซูจี
แห่งพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งอาจเป็นแนวโน้มที่พม่าจะได้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ฝ่ายทหารปฏิวัติกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งๆ ที่ กกต.รับรองผลแล้ว

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ฟิลิปปินส์มองว่าพม่าต้องการเผด็จการและไม่ได้ต้องการให้พม่าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ตามที่ได้เคยบอกกับ ออง ซาน ซูจี ให้ร่วมมือกับทหารในการปกครองประเทศ ถ้าต้องการประชาธิปไตยจริงๆ ก็ควรมีวาระการสร้างประชาธิปไตยเหมือนฟิลิปปินส์ในปี 1986 และหาทางเจรจากับออง ซาน ซูจี และกลุ่มที่เกี่ยวข้องถ้าหากคิดว่าการเลือกตั้งไม่ยุติธรรม ไม่ใช่ลุกขึ้นมาปฏิวัติและสร้างความรุนแรงในสังคม เขายังกล่าวอีกว่าประชาธิปไตยของพม่าที่ผ่านมาเป็นเพียงระยะเริ่มต้น (Pre-Transition Period) เท่านั้น ดูแตร์เตไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติ และเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยอาเซียนเอง แต่ควรเป็นวิธีการแบบสร้างสรรค์ (Flexible Engagement/Constructive Engagement) เนื่องจากในอดีตอาเซียนได้จัดตั้งโดยสมาชิกในกลุ่มของเราเอง ไม่ใช่ตะวันตกมาจัดตั้งให้ นอกจากนี้เขายังเสนอให้ฟื้นฟูชนกลุ่มน้อยและรับผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ อนึ่งดูแตร์เตไม่ได้เข้าร่วมประชุมอาเซียนที่จาการ์ตา แต่ได้มอบให้รัฐมนตรีต่างประเทศ (Teodoro Locsin) ไปแทน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลัก เห็นด้วยกับความคิดเห็นของดูแตร์เต

อาเซียนใช้หลักการดำเนินการของอาเซียน ตาม Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ในปี 1976 เมื่อครั้งประชุมที่อินโดนีเซีย ซึ่งในมาตราที่ 2 ได้ระบุ การไม่แทรกแซงในกิจการภายในของแต่ละประเทศในกลุ่ม และไม่ให้มีการแทรกแซงจากประเทศนอกกลุ่มด้วย และอาเซียนก็ใช้หลักการนี้มาตลอด แต่เอสตราดา อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ละเมิดกฎ ได้เข้าไปเยี่ยม อันวา อิบราฮิม เมื่อครั้ง อันวา อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียถูกคุมขังในปี 1999 โดยไปแสดงความเห็นใจที่เขาถูกจับ เขาไปในฐานะที่อันวา อิบราฮิม ได้เคยรับรางวัล Nights of Rizal ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นรางวัลของผู้มีคุณธรรมและทำความดีเพื่อสังคม ทำให้ผู้นำของอาเซียนวิพากษ์วิจารณ์เอสตราดาที่เข้าไปก้าวก่ายเหตุการณ์ภายในของมาเลเซีย นี่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เราควรตระหนักในตอนนั้น แต่เป็นแค่ประเทศเดียวที่ละเมิดกฎของอาเซียน มิได้กระทบกับประเทศอื่น

Advertisement

จนกระทั่งมาบัดนี้ มีรัฐประหารเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งกระทบกับทุกประเทศในอาเซียน ในเรื่องของผู้อพยพจากพม่าไปสู่ประเทศอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะประเทศที่เป็นภาคพื้นทวีป ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบางส่วนของมาเลเซีย ที่ประสบกับปัญหาต่างๆ และไม่สามารถรับผู้อพยพเหล่านี้ได้ แต่ด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ใน ASEAN Charter เมื่อครั้งการจัดตั้ง ASEAN Community ในปี 2015 จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ

ในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ข่าวสารไม่มีพรมแดน การมองเขามองเราเป็นสิ่งสำคัญ การให้ความเห็นอย่างสร้างสรรค์ก็มีความจำเป็นโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งมีคำขวัญว่า “One Vision, One Identity, One Community” เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าประเทศใดมีปัญหาก็จะกระทบประเทศอื่นด้วยเพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกัน

ด้วยเหตุการณ์ในพม่ามีความรุนแรงมาก ทำให้ผู้นำอาเซียนได้มาประชุมกันที่จาการ์ตาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2021 และได้บรรลุข้อตกลงให้พม่าดำเนินการ 5 ประการคือ

Advertisement

1.ให้ยุติความรุนแรงในพม่า

2.เจรจาอย่างสร้างสรรค์กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขอย่างสันติวิธีโดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

3.ให้มีการไกล่เกลี่ยโดยการอำนวยความสะดวกของคณะทูตของประธานอาเซียนด้วยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษย ธรรมโดยศูนย์ประสานงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

5.ให้มีการเยี่ยมพม่าโดยคณะทูตพิเศษและคณะผู้แทนเพื่อตรวจสอบให้การดำเนินการบรรลุตามข้อตกลงร่วมกันของอาซียน

จากการเจรจาตกลงของสมาชิกประชาคมอาเซียนดังกล่าว จะเห็นว่า อาเซียนได้ใช้แนวทาง Constructive Engagement ในกรณีของพม่า และน่าจะใช้กับกรณีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันเพราะอาเซียนเป็น “One Community” ซึ่งประชาชนของทุกประเทศต้องยึดโยงให้มีสำนึกของการอยู่กลุ่มเดียวกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความเชื่อมั่นกัน และคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของประชาคมอาเซียนในอนาคต ถ้าหากการดำเนินการของอาเซียนครั้งนี้สำเร็จก็จะทำให้อาเซียนบรรลุความสำเร็จในด้านอื่นๆ ต่อไปและรักกันมากขึ้น ซึ่งฟิลิปปินส์ก็อยากเห็นมานานแล้ว

สีดา สอนศรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image