สถานีคิดเลขที่ 12 : ย้ายประเทศ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ย้ายประเทศ พลันที่เห็นความเกรียวกราวของเพจ “ย้ายประเทศ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ย้ายประเทศ

พลันที่เห็นความเกรียวกราวของเพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่มีผู้เข้าร่วมอย่างรวดเร็วมากเกิน 6 แสนคน ภายใน 3 วัน ชวนให้นึกถึงถ้อยคำที่ตรงกันข้ามว่า There is no quit in America.

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาเพิ่งกล่าวถ้อยคำว่า “ไม่มีการถอดใจในอเมริกา” ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาไปสัปดาห์ก่อน วาระทำงานในตำแหน่งผู้นำมาครบ 100 วัน

หลังจากพลิกสถานการณ์ไล่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว ครบโดสไปแล้ว 100 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ

Advertisement

ทั้งที่ก่อนหน้าที่นายไบเดนจะเข้ามาเป็นผู้นำ โควิดระบาดลามหนัก ระบบสาธารณสุขปั่นป่วน และอเมริกาครองอันดับหนึ่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ม็อบขวาจัดอาละวาดบุกอาคารรัฐสภาอย่างอลหม่านถึงขั้นมีคนตาย เพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

แต่ช่วงปรับตัวร้อยวันมานี้ อเมริกาเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลใหม่มีเวลาวางแผน วางงบประมาณแล้วว่าจะฟื้นฟู-ปรับปรุงประเทศได้อย่างไร

Advertisement

แม้ว่าปัญหายังมีมากมายหลายเรื่องที่ยังไม่ได้แก้ และบางเรื่อง เช่น ผู้อพยพ ดูจะวุ่นไม่น้อยกว่าสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างน้อยกลไกการบริหารงานของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนอยู่ยังเป็นความหวังให้ผู้คนไม่ถอดใจ และไม่คิดย้ายประเทศไปไหน ต่อให้ไม่ใช่คนที่สนับสนุนนายไบเดน

ที่มาของความหวังและความปกติดังกล่าวก็คือ ประชาธิปไตย

ประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบไม่เฟก ไม่หลอกคนอื่น และไม่หลอกตัวเอง จะไม่ทำให้ประชาชนต้องรู้สึกว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ”

เพราะประชาธิปไตยเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ปฏิรูป ได้เสมอ เมื่อคนจำนวนมากในสังคมเห็นว่าถึงเวลาแล้ว

ต่อให้กลุ่มคนในประเทศหลายกลุ่ม หลายช่วงวัยเห็นไม่ตรงกัน แต่ระบอบประชาธิปไตยมีกลไกให้จัดการได้ ตัดสินได้ ตรวจสอบได้ เปลี่ยนใจได้ เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้

ในสังคมประชาธิปไตย ไม่มีใครต้องถูกคุมขัง ถูกข่มขู่คุกคาม เพียงเพราะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา หรือจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียง และเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองรับฟัง

ช่วงที่สังคมไทยเริ่มเกิดความขัดแย้งจนมีฝ่ายอนุรักษนิยมตะโกนก้องไล่คนที่ไม่เห็นด้วยไปอยู่ประเทศอื่น ตอนนั้นผู้คนฝ่ายเสรีนิยมก็ยังไม่ถึงกับอับจนว่าตัวเองจะต้องออกไปอยู่ประเทศอื่น

กระแสชักชวนกันย้ายประเทศที่เกิดขึ้นตอนนี้จึงสะท้อนอาการ “ถอดใจ” ของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าไม่สามารถจะทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ว่า โควิด การเมือง กระบวนการยุติธรรม ดูจะและตีบตันไปเสียหมด

แน่นอนว่าการย้ายไปอยู่ประเทศอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้มีสถานทูตชาติยุโรปมาโปรโมตอย่างยั่วยวนใจ ว่าที่นั่นมีสิทธิและการคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็ง มีความเท่าเทียมกัน ให้คุณค่ากับนวัตกรรม และมีระบบสวัสดิการครอบคลุมทุกคน

แต่อย่างน้อยการคิดย้ายประเทศคงเป็นหนทางเยียวยาจิตใจให้คนที่รู้สึกสิ้นหวังได้บ้าง

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image