ที่เห็นและเป็นไป : ตอบก่อนจะ ‘สิ้นหวัง’

ที่เห็นและเป็นไป : ตอบก่อนจะ ‘สิ้นหวัง’

ที่เห็นและเป็นไป : ตอบก่อนจะ ‘สิ้นหวัง’

หากตัด “การบริหารวัคซีน” ที่สะท้อนความบรมห่วยออกไปวางแยกไว้ก่อน จะเห็นชัดว่าสถานการณ์โควิดระบาดรอบ 3 หนักมาก

เกิดคลัสเตอร์มากมาย ขยายออกไปเรื่อยๆ จาก “เลานจ์ย่านทองหล่อ” แพร่ตามนักเที่ยว และพริตตี้ไปสถานบันเทิง ร้านอาหาร ผับทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด กระจายสู่โรงงาน ลามสู่ชุมชน ส่งต่อมาถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหลายที่ส่งของตามบ้าน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทีมแพทย์ต้องทำงานกันหนักแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อหาทางหยุดยั้ง แต่นับวันยิ่งรู้ว่ายาก คลองเตย ดินแดง ลามไปชุมชนริมคลองทั้งหลายที่ผู้คนไม่มีทางเลือก ต้องอยู่รวมกัน ต้องมีน้ำจิตน้ำใจให้กันและกัน ต้องสังสรรค์เสวนาเป็นวัฒนธรรมของชุมนุมที่จะทำให้อยู่ได้อย่างสงบสุขในคนหมู่มาก

Advertisement

เป็นที่รู้กันว่ายังระบาดกันอีกยาว

นั่นก็หนักแล้ว แต่มีผู้เชี่ยวชาญประเมินให้ฟังว่าที่น่าห่วงมากที่สุดคือ การระบาดที่ “อินเดีย” ซึ่งหนักมากชนิดแบบจะอยู่ในสภาพมนุษย์ถูกล้างเผ่าพันธุ์กันเลย

“ตายกันเป็นเบือ” ที่พูดๆ กันแต่ไม่เคยเห็นเกิดกับมนุษย์ มีให้เห็นที่นั่น เจ็บป่วยกันท่วมประเทศ

Advertisement

ประเด็นอยู่ที่ “โควิด-19” คร่าชีวิตคนอ่อนแอ ภูมิต้านทานน้อย เช่น อายุมาก ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง แต่คนที่แข็งแรงมีมากมายที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการอะไร

แต่อย่างว่าเห็นความเป็นความตายอย่างนั้น เป็นใครก็ต้องหนีตาย

ชายแดนอินเดียติดกับพม่า ซึ่งเวลานี้โกลาหลด้วยปัญหาการเมือง แค่ควบคุมความสงบในประเทศให้ได้ก็เหนื่อยหนักสำหรับรัฐบาลพม่า ไม่ต้องพูดถึงควบคุมการระบาดของโควิด

โอกาสเชื้อลามจากอินเดียเข้าพม่ามีสูงยิ่ง

เมื่อชายแดนพม่าติดไทยยาวเหยียดตั้งแต่เหนือจรดใต้

หากย้อนไปที่การระบาดครั้งที่ 2 ในประเทศเรา จากบ่อนชายแดน จากแหล่งชุมชนคนงานพม่าที่สมุทรสาคร เกิดการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว

ครั้งนี้จะหนักกว่านั้น เพราะไม่ใช่การลักลอบเข้าเมืองมาหางานทำธรรมดา แต่เป็นหนีตายด้วยการปราบปรามทางการเมือง

สถานการณ์ในประเทศที่หนักอยู่แล้วจากคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่หยุด ชุมชนนั้น โรงงงานนี้ ตลาดโน่น ลามไปเรื่อย

ความสามารถของรัฐบาลแบบนี้ ในสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อต้องเจอสภาวะอภิมหาพิเศษเข้า นึกไม่ออกเลยประชาชนคนไทยจะรับชะตากรรมกันอย่างไร แบบไหน

ทางแก้มีทางเดียว คือวิธีที่หลายประเทศทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าได้ผล นั่นคือ “วัคซีน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเอา “การบริหารวัคซีน” ที่วางไว้ก่อนหน้านั้นมาพิเคราะห์กันใหม่

คีย์เวิร์ดของ “การบริหารวัคซีน” ที่จะทำให้หยุดวิกฤตได้มี 2 คำ “ทั่วถึง” กับ “เร็วพอ” จนสามารถสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่จะเป็นกำแพงป้องกันการระบาดได้สำเร็จ

แต่เมื่อ “ทั่วถึง หมายถึงมีวัคซีนที่มีคุณภาพดีมากพอกับการฉีดได้ตามคุณสมบัติของวัคซีน คืออย่างน้อยคนละ 2 โดส

แน่นอนว่าสำหรับประชากร 70 ล้านคน วัคซีน 140 ล้านโดส ที่สุดแล้วต้องจัดหามาได้ การฉีดอย่าง “ทั่วถึง” ย่อมเป็นไปได้ เพราะราคาไม่ได้แพงจนฐานะของประเทศจ่ายไม่ไหว

แต่ความสำคัญที่ “เร็วพอ” หมายถึง “เร็วพอ” ที่จะหยุดยั้งการระบาดก่อนจะตายกันเป็นเบือ

ถึงวันนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ด้วยปริมาณวัคซีนที่หามาได้ กับการบริหารความสามารถในการฉีด น่าจะครอบคลุมในระดับที่สร้างภูมิคุ้นกันหมู่ได้คือ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร คงถึงเป้าราวๆ ต้นปี 2565

ความกดดันจึงอยู่กับคำถามที่ว่า “ทันหรือไม่” หมายถึงประชาชนคนไทยไม่เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นเบือไปก่อนหรือเปล่า

คำตอบนี้กลับมาที่การบริหารจัดการหยุดยั้งการระบาด จะตีกรอบแต่ละคลัสเตอร์ไม่ให้ลุกลามเป็นไฟไหม้เมืองได้อย่างไร ที่ทำกันอยู่แบบนี้ไหวไหม

ที่สำคัญจะควบคุมการอพยพหนีตายจากชายแดนได้อย่างไร

ผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจใต้ดินเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ บ่อนชายแดน และอีกสารพัด จะควบคุมความเห็นแก่ได้ของเจ้าหน้าที่รัฐที่พร้อมจะหละหลวมแลกกับผลประโยชน์ได้อย่างไร

จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เคยชินกับผลประโยชน์หันกลับมาคิดถึงการทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มอกเต็มใจได้อย่างไร

ผู้บริหารประเทศคิดว่าด้วยคุณภาพ และจิตสำนึกของคณะรัฐมนตรีแบบนี้ จะเป็นศูนย์รวมใจให้เจ้าหน้าที่หันจากผลประโยชน์ที่เคยชินมาทุ่มเทเพื่อปกป้องประชาชนที่ถูกทำให้ไร้ค่าในสายตาของอภิสิทธิ์ชนตลอดยาวนานมาได้หรือ

ด้วยคณะรัฐมนตรีที่พฤติกรรมสะท้อนให้เห็นจริยธรรมในใจแบบนี้

ประชาชนหวังได้หรือ

“จะทำกันอย่างไร” คือคำถามที่บีบให้ประชาชนต้องหาคำตอบให้ตัวเอง

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image