สถานีคิดเลขที่ 12 : ใครว่า‘จบ’!?

สถานีคิดเลขที่ 12 : ใครว่า‘จบ’!? คดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุด

สถานีคิดเลขที่ 12 : ใครว่า‘จบ’!?

คดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เรื่องทางวิชาการ ทางการเมือง ทางสังคม ไม่จบเร็ว จบง่าย

จะจบได้อย่างไรเล่า อย่างน้อย ก็มีความเห็นของ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อคำตัดสิน

Advertisement

ไม่แปลกใจในผลและเหตุผลที่ยึดการตีความตามตัวอักษร แต่สะท้อนใจ 2 ประเด็น มิได้ถูกเอ่ยถึง

1.เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทินโดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารไม่ถูกเอ่ยถึง และ 2.ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็น double criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์

ไหนจะความเห็นของ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อีกล่ะ

ที่ว่า การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ทั้งๆ คนทั่วไปต่างก็ทราบว่าประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสรภาพทางการศาลที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2481

ในขณะที่นักกฎหมายต่างก็ทราบดีว่ารัฐอธิปไตยสามารถยอมรับและบังคับกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาต่างประเทศได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเป็นเครื่องยืนยันข้อความจริงนี้ได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.มุนินทร์ระบุว่า การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็น ส.ส.ควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ ก็สามารถตอบได้

ก่อนทิ้งท้าย ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนว่า “ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล” ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

นี่ว่ากันเฉพาะเรื่องคัดง้าง ทางวิชาการอย่างเดียว

ยังมีเรื่อง-มีปัญหา ‘จริยธรรม’ อีก 1 ที่สำคัญ ซึ่งที่จริงไม่จำเป็นต้องรอฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช. ด้วยซ้ำ

เป็นจริยธรรมที่แปลว่า หลักประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงามอันเป็นที่ยอมรับของสังคม

นี่ยังไม่นับรวมความเห็นต่าง ไม่เห็นด้วย ว่าด้วยหลักวิชาการ ของใครต่อใคร อีกมากคน

ที่ตั้งคำถามมากมายต่อคำตัดสินและเรื่องว่าด้วยจริยธรรม พื้นฐานที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย และฝ่ายบริหารประเทศพึงมี

จึงไม่เพียง ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้น ได้รับผลสะเทือนโดยตรงจากคำวินิจฉัย ที่รับว่าเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดขนยาเสพติด ตามคำพิพากษา ศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย

หากแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง

ก็ย่อมจะถูกคาดหวัง ยืนหยัด ในสิ่งถูกต้อง

ที่น่าสนใจเป็นที่ยิ่ง ก็คือบิ๊กตู่จะใช้มาตรการทางปกครอง สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต หรืออุ้มกระเตง

รอกระบวนการของ ป.ป.ช.

นั่นคงขึ้นอยู่กับการประเมิน แบกรับอีกปัญหาไหวหรือ

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image