เขตบางรัก และ บางซื่อ

เขตบางรัก และ บางซื่อ

สองเขตยอดนิยมที่คู่หนุ่มสาว จะเลือกไปจดทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี คือ เขตบางรัก และ บางซื่อ ด้วยนามของทั้งสองเขต สื่อถึงความรักและความซื่อสัตย์ อันเป็นที่ปรารถนาของคู่รักทุกคนในอดีต และทุกเพศในปัจจุบัน

เริ่มจากเขตแรก คือ เขตบางรัก บาง หมายถึงทางน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง และ รัก หมายถึง พันธุ์ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ดอกใช้ร้อยกรองประกอบพวงมาลัย มีทั้งดอกลา กลีบชั้นเดียว และดอกซ้อนกลีบหลายชั้น  หรือพันธุ์ไม้ต้นชนิดหนึ่ง ที่มียางสำหรับใช้รองพื้นทาสี และที่สำคัญในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า รัก หมายถึง มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย

ที่มาของนามเขตบางรักนั้น น่าจะมาจากสภาพพื้นที่แต่โบราณกาล บ้างก็ว่าพบซุงต้นรักขนาดใหญ่ในคลองขวางแต่ที่เชื่อกันมากว่าคือบริเวณนี้เป็นแหล่งที่ปลูกดอกรัก

Advertisement
แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 อำเภอบางรัก

เขตบางรักเป็นเขตเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 5.536 ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีความสำคัญ มาแต่อดีต สมัยที่บางกอก เป็นศูนย์กลางขึ้นลงสินค้าของเรือต่างๆ โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ ที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับสยามประเทศ หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4

พื้นที่ใกล้ท่าเรือ จึงเป็นที่ตั้งของโกดัง คลังสินค้า โรงเลื่อยไม้และโรงสีข้าว ที่เป็นผลผลิตส่งออกสำคัญของสยาม จึงเป็นที่ตั้งของศุลกสถาน หรือมีชื่อเรียกขานในอดีตว่า โรงภาษีร้อยชักสาม ที่จัดเก็บภาษีเรือสินค้าจากต่างประเทศ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ สูงสามชั้นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2429-2431 รวมทั้งที่พักแรมของพ่อค้าและคนเดินทาง อีกทั้งห้างร้าน ตลาด บ้านเรือนชาวตะวันตก รวมทั้งชาวตะวันออกที่เข้ารีต หรือเป็นคนในบังคับ จึงเป็นที่ตั้งสถานทูตของชาติแรกๆ ที่เข้าค้าขาย ได้แก่ โปรตุเกสและฝรั่งเศส ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนอังกฤษและฮอลันดา ที่ย้ายไปอยู่ที่ถนนวิทยุในเวลาต่อมา รวมทั้ง อาสนวิหารอัสสัมชัญ ศาสนสถานสำคัญของคริสต์ศาสนิกชน ที่ขยายกิจการโรงเรียนชายและหญิงที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ย่านบางรักและอาคารไปรษณีย์กลาง สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยเหตุนี้ บางรักจึงเป็นชุมชน มีผู้คนอยู่หนาแน่นและยังเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการตัดถนนสายแรก คือถนนเจริญกรุง ที่เริ่มจากพระบรมมหาราชวัง ผ่านย่านการค้าคนจีน ที่เยาวราช และตลาดน้อย มาจนถึงบางรัก และเลยผ่านไปตกแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีคนเชื้อสายจีน ตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตามตึกแถวที่สร้างสองฟากถนนเจริญกรุงและถนนจันทน์

Advertisement
ถนนเจริญกรุง แถวไปรษณีย์กลางและวัดม่วงแค

หลังจากมีพระราชบัญญัติจัดการปกครองท้องที่ เมื่อ พ.ศ.2440 แบ่งพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพพระมหานคร เป็นเขตการปกครองแบบใหม่ ที่เรียกว่าอำเภอ ประกอบด้วย อำเภอพระนคร สำเพ็ง ดุสิต บางรัก ประทุมวัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และบางลำพูล่าง และต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2451 มีประกาศ เพิ่มอำเภอบางรัก “…อำเภอบางรักษ์ ยกปลัดอำเภอถนนสี่พระยา บางรักษ์ มารวมทำการกับนายอำเภอซึ่งตั้งที่ว่าการอยู่ที่บ้านทวาย ถนนเจริญกรุง…” 

ต่อมาเมื่อมีประกาศคณะปฏิวัติ ให้รวมจังหวัดพระนครและธนบุรี และเรียกเป็นกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2515 จึงมีประกาศเปลี่ยนจากอำเภอบางรัก เป็นเขตบางรัก ในปี พ.ศ.2516

ปัจจุบัน เขตบางรักมีพื้นที่เพียง 5.54 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับเขตปทุมวัน ทิศใต้ติดกับเขตสาทร ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตคลองสาน และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเขตสัมพันธวงศ์  

สําหรับเขตที่สอง คือ เขตบางซื่อ มีตำนานที่เล่าสืบต่อกัน ถึงที่มาของนามเขตว่า สมัยที่พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อพยพผู้คนหนีโรคห่า ได้ขนทองคำลงเรือมาตามคลอง เมื่อมาถึงคลองช่วงหนึ่งที่ตื้นเขิน น้ำหนักของเรือที่บรรทุกทอง ทำให้ล่องเรือต่อไปไม่ได้  จึงต้องลงจากเรือและนำทองคำไปซ่อนไว้ แล้วเรียกบางบริเวณตรงที่ซ่อนทองว่า บางซ่อนบริเวณตรงที่ต้องลงจากเรือมาเข็น เรียก ทองเข็น หรือบางเข็นและใกล้กับบริเวณที่ซ่อนทองนั้น เมื่อมีใครผ่านมาสอบถามถึงทองคำ ชาวบ้านจะตอบว่าอยู่ที่บางซ่อน จึงมีการเรียกขานชุมชนว่า บางซื่อ ดังที่ปรากฏในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ เอ่ยถึงย่านบางซื่อว่า

       ถึงบางซื่อบางนี้สุจริต      เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร

มิตรจิตขอให้มิตรใจจร       ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 อำเภอบางซื่อที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง

ทั้งนี้ ในแผนที่ประวัติศาสตร์ พ.ศ.2440 พบคลองสายหนึ่ง ที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางทิศตะวันออกยาวไกลถึงทุ่งบางกะปิ ชื่อคลองบางซื่อ แม้ว่าแนวคลองที่ยาวกว่า 8 กิโลเมตรนั้น จะมิได้ตรงถ้าเทียบกับคลองขุดใหม่ที่ใช้วิธีส่องกล้องแบบฝรั่ง อย่างเช่นคลองตรง เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้คดเคี้ยวเหมือนคลองอื่น จึงอาจเป็นที่มาของนามคลองบางซื่อ ในวันวาน และนามเขตบางซื่อในวันนี้

เขตบางซื่อนั้น เดิมทีเป็นหนึ่งในแปดอำเภอชั้นนอกของพระนคร ที่ตั้งขึ้นในระยะแรกที่มีการจัดแบ่งพื้นที่การปกครอง ได้แก่ อำเภอบางซื่อ บางเขน บางกะปิ บางขุนเทียน ราษฎร์บูรณะ ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ และหนองแขม

อำเภอบางซื่อแต่แรกเริ่มนั้น มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ครอบคลุมถึง 14 ตำบล ได้แก่ ตำบลสี่แยกบางซื่อ บางซื่อเหนือ บางซื่อใต้ บางซ่อน บางโพ บางกระบือ ถนนนครไชยศรี บางอ้อ บางพลัด สามเสนนอก สามเสนใน ลาดยาว บางเขนใต้ และบางเขน ซึ่งเท่ากับว่าครอบคลุมพื้นที่ของเขตบางพลัด ดุสิต พญาไท ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง ราชเทวี จตุจักร และอำเภอเมืองนนทบุรีในปัจจุบัน

อาณาบริเวณอำเภอบางซื่อในอดีต นอกจากเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎร ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานทหารจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินที่จัดซื้อสำหรับใช้ในราชการ มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5

ดังในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2449 มีพระบรมราชโองการให้กระทรวงนครบาลจัดซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อฝั่งข้างใต้ เข้าไปจนถึง ทางรถไฟ เลี้ยวไปตามทางรถไฟถึงคลองบางกระบือฝั่งเหนือ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา บรรจบคลองบางซื่อฝั่งใต้ เพื่อใช้ในราชการ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดซื้อที่ดินในราคาธรรมดาอย่างที่ราษฎรซื้อขายกัน และยังมีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างสถานที่สำหรับทางรถไฟตอนช่วงสถานีบางซื่อในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2473

พ.ศ.2465 มีแจ้งความของ ศาลาว่าการนครบาล เรื่องย้ายที่ว่าการอำเภอบางซื่อ จากเดิมตั้งอยู่ที่วัดสะพานสูง สี่แยกคลองเปรมประชากรกับคลองบางซื่อ ไปอยู่ที่ริมทางรถไฟสายเหนือ ใกล้กับสถานีรถไฟบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2464

ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ และโรงปูนซีเมนต์ พ.ศ.2489

ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเขตการปกครองใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีการยุบอำเภอบางซื่อ โดยโอนตำบลสามเสนใน ตำบลถนนนครไชยศรี และตำบลบางซื่อ ไปขึ้นอำเภอดุสิต และโอนตำบลสามเสนนอก ไปขึ้นอำเภอบางกะปิ เมื่อ พ.ศ.2481 จนกระทั่งปี พ.ศ.2532 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตดุสิต และตั้งเขตบางซื่อ โดยแยกแขวงบางซื่อออกมาตั้งเป็นเขตบางซื่อ โดยให้เหตุผลความจำเป็นว่า เนื่องจากพื้นที่เขตดุสิต มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองอาศัยเพิ่มมากขึ้น ท้องที่บางแขวงอยู่ไกลจากสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลไม่ทั่วถึง

เขตบางซื่อ ปัจจุบันมีพื้นที่ 11.5 ตารางกิโลเมตรทิศเหนือ ติดกับเขตหลักสี่และอำเภอเมืองนนทบุรี ทิศตะวันออก ติดกับเขตจตุจักร ทิศใต้ ติดกับเขตพญาไทและเขตดุสิต และทิศตะวันตก ติดกับเขตบางพลัด และอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี ประกอบด้วย แขวงบางซื่อ และแขวงวงศ์สว่าง

จะเห็นได้ว่า มีการย้ายที่ว่าการอำเภอบางซื่อ มาอยู่ใกล้สถานีรถไฟบางซื่อ ที่น่าจะเป็นศูนย์กลางชุมชนใหม่ เมื่อร้อยปีมาแล้ว

ในปีนี้ ก็จะมีการเปิดสถานีรถไฟบางซื่อใหม่ ใช้ชื่อว่าสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นสถานีหลักของกรุงเทพมหานครแทนสถานีหัวลำโพง ที่ต่อไปจะเป็นศูนย์รวมการขนส่งระบบรางของรถไฟทุกสายที่ไปทั่วทุกภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระบบธรรมดาและไฮสปีดของรถไฟชานเมือง ของรถไฟฟ้ามหานคร และของรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ที่จะเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก อีกทั้งสถานีขนส่งรถประจำทาง และสถานีขนส่งรถตู้ไปต่างจังหวัด ยังไม่นับทางด่วน ที่พาดผ่าน และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ และอยู่อาศัย

คงจะทำให้ย่านบางซื่อนี้ กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวา และเป็นย่านสำคัญของกรุงเทพมหานครและคงไม่ต้องย้ายที่ทำการเขตบางซื่อ มาอยู่ใกล้สถานีกลางบางซื่อ เพราะปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยกานต์ประภา ถนนประชาชื่น เพียงแค่ข้ามคลองเปรมประชากรก็ถึงแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image