ในห้วงเวลาที่กทม.แพ้ แต่กรุงเทพฯไม่ยอมแพ้

7.2 กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า สถานการณ์ขณะนี้ อยู่ในระดับที่เกินขีดความสามารถของกรุงเทพมหานคร และล้นมือบุคลากรที่มีอยู่ ต้องการบูรณาการข้อมูลที่ทันสมัย ทีมบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักอนามัย และความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อไปสู่การจัดทำแผนงานที่ดีที่สุด

(ส่วนหนึ่งของผลการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อ 7 พ.ค.2564 จากกระดานเขียนข่าว ศปก.บกร.กห. และอ้างถึงโดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” เมื่อ 13 พ.ค.64)

เรื่องที่ต้องแยกให้ชัดเจนก่อนก็คือ เวลาที่พูดถึงกรุงเทพมหานคร เรากำลังพูดถึงเรื่องสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ กรุงเทพมหานครในฐานะขององค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือที่ผมจะเรียกว่า กทม.

Advertisement

เรื่องที่สองคือ กรุงเทพมหานครในฐานะของเมืองที่ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย และมีเครือข่ายและสถาบันทางสังคมเศรษฐกิจมากมาย

ผมคิดว่ากรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นเมืองที่ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายนั้นยังอยู่ได้ และไม่ได้แพ้ต่อภัยพิบัติโควิด แม้ว่า กทม.นั้นอาจจะประกาศยอมแพ้ และรับสถานการณ์ไม่ไหว

ในทุกวันผู้คนยังดิ้นรนทำงาน ดูแลตัวเอง เดินทางทำงาน ดิ้นรนหาที่ตรวจ ค้นหาหนทางฉีดวัคซีน และติดตามข่าวการระบาดของโควิด รวมทั้งบริจาคสิ่งของต่างๆ ช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในเมืองใหญ่แห่งนี้

ผมมีข้อสังเกตอยู่หลายประการในห้วงสถานการณ์ที่ (รัฐบาล) เมืองแพ้ แต่คนในเมืองนี้ยังไม่ยอมแพ้

1.ในยุคปัจจุบัน องค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยไม่ว่าจะ กทม. อบจ. อบต. และเทศบาล (รวมทั้งเมืองพัทยา) ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านสุขภาวะ ที่เป็นเรื่องของการระบาดของไวรัสโควิด-19 กันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะในระลอกที่สามซึ่งยังไม่หมดไป

แน่นอนว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นหนึ่งในด่านหน้าที่สำคัญ เนื่องจากใกล้ชิดกับประชาชน และเดิมก็ให้บริการประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอยู่ไม่ใช่น้อย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กทม.มีความเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ถูกกำหนดให้เป็นรูปแบบพิเศษกว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแบบอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

ในด้านบวก แน่นอนว่าใครๆ ก็มองว่า กทม.มีงบประมาณมหาศาล มีกำลังคนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ มีความคล่องตัวในการบริหารงานในหลายเรื่อง และมีความชอบธรรมทางการเมืองเป็นพิเศษเนื่องมาจากเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเต็มพื้นที่ที่มาจากการเลือกตั้ง แถมตัวผู้ว่าฯกทม.เองก็ยังสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ลงไปในระดับเขตถึง 50 เขตในระดับผู้อำนวยการเขตได้ด้วย

ในด้านท้าทายของ กทม.นั้น แม้ว่าในบางสถานการณ์ผู้ว่าฯกทม.จะมีสถานะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (อย่าลืมว่าผู้ว่าฯกทม.เป็นแค่ผู้ว่าราชการ ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด) แต่ กทม.มีสถานะเป็นเมืองหลวงของประเทศ และยังเป็นเมืองโตเดี่ยว (primate city) ซึ่งหมายถึงเมืองที่โตกว่าเมืองลำดับสองอยู่มากมายหลายเท่า จึงเป็นทั้งศูนย์รวมโอกาส ความมั่งคั่ง และปัญหา ดังนั้น ย่อมจะมีหน่วยงานระดับชาติมากมายที่ทำงานซ้อนทับในพื้นที่ของ กทม.เอง และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเมือง แต่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม.อีกไม่น้อย อาทิ ไฟฟ้า ประปา รถเมล์ ตำรวจ รวมทั้งเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เช่น BTS

เมื่อปัญหาของกรุงเทพมหานครมีทั้งปริมาณและความซับซ้อน บางเรื่อง กทม.ก็ทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ กทม.ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ยังไงก็ตาม กทม.ก็จะต้องพยายามฝ่าฟันไปให้ได้

ที่สำคัญแทนที่จะไปร้องต่อรัฐบาลกลางโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น กทม.เองมีประชาชนที่ลงทะเบียนอยู่ถึง 5,588,222 คน และยังมีประชากรแฝงที่ทำงานในกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้ลงทะเบียน แต่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมากกว่านั้น ดังนั้น การสร้างกำลังใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเมืองในยามนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

2.เงื่อนไขที่หลายฝ่ายไม่กล้าพูด ขณะที่บางคนหมดแรงที่จะพูดแล้วก็คือเรื่องของสถานะทางการเมืองของ กทม.ในวันนี้ ที่รัฐบาลในระดับท้องถิ่นของ กทม.หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เนื่องมาจากคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ปลดผู้ว่าฯกทม.คนเก่าที่มาจากการเลือกตั้งออกไปด้วยข้อกล่าวหาทุจริต และเมื่อเวลาผ่านไปเมื่อตัวอาจารย์สุขุมพันธุ์พ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ก็ไม่ได้คืนตำแหน่งให้ กลับตั้งรองผู้ว่าฯเก่าขึ้นเป็นผู้ว่าฯโดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

มิพักต้องกล่าวถึงว่า หลังจากการรัฐประหาร 2557 นั้นคณะรัฐประหาร ซึ่งวันนี้หัวหน้าคณะดังกล่าวก็ซิกแซกทางอำนาจผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นคุณกับตนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และยังแต่งตั้งตัวเองมาคุมสถานการณ์โควิดทั้งประเทศ และยังตั้งตัวเองคุมสถานการณ์โควิดใน กทม.ด้วย แถมคนคนเดียวกันนี้ยังยกเลิกการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภา กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดลงหลังจากที่เขาหมดอายุเมื่อ 2557 แถมยุบสมาชิสภาเขตทั้งหมดลงส่วนหนึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ที่ตนแต่งตั้งเข้าไป โดยใช้ข้อหาว่าสมาชิกสภาเขตเป็นพวกเดียวกับนักการเมือง ขณะที่ในองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นนั้น คณะรัฐประหารให้ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นทำงานต่อไปแม้จะหมดอายุ (เว้นบางกรณีเท่านั้น)มิหนำซ้ำในหลายระดับยังเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ได้แก่ อบจ.กับเทศบาล ซึ่งดูแลพื้นที่ทั้งหมดจังหวัด และพื้นที่เมือง ขาดแต่ อบต.(แต่คนเก่าก็ยังทำงานต่อ) ส่วนพัทยาก็ตั้งคนอื่นมาเป็นนายกเมืองพัทยาแทนเมื่อนายกคนเก่าหมดวาระลง แล้วให้ปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็ตั้งคนอื่นมาเป็นก่อนที่จะตั้งพี่ชายของนายกคนเก่าที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นมานั่งเป็นแทน เผอิญว่าพี่ชายของนายกคนเก่านี้เป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่ภาคตะวันออกเสียด้วย

ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลท้องถิ่นของ กทม.ในปัจจุบันจึงเท่ากับศูนย์ หรือบ้างก็มองว่าติดลบ การเมืองระดับประเทศเลือกตั้งแล้ว ต่างจังหวัดเลือกตั้งท้องถิ่นไปหลายระดับแล้ว เหลือแต่ส่วนชนบท (อบต.)
แต่ในส่วนของเมืองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มั่งคั่งที่สุดการเมืองในระดับท้องถิ่นยังอยู่ในสภาวะของการถูกรัฐประหารและแช่แข็งทางอำนาจอยู่

ผมไม่ได้รู้สึกว่าผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันจะมีความสุขอะไรในการบริหารเมืองเมืองนี้ เพราะก็ไม่รู้อนาคตตัวเองว่าจะได้ไปวันไหน ที่อยู่ทุกวันก็โดนคนก่นด่า มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านอีก แน่นอนว่าการถูกก่นด่าของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตนั้นก็มีมาโดยตลอด แต่ผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเขารู้ว่าแม้จะโดนก่นด่า เขาก็มีคนที่เลือกเขาเข้ามา

แต่คนที่โดนก่นด่าโดยที่ไม่รู้ว่าใครสนับสนุนเขาเลยนี่ผมว่าใจคอมันหายไปทุกวัน ทางหนึ่งก็เจอโดนกดดันมาจากสายการบังคับบัญชา ยิ่งในระบบการบริหารที่รวมศูนย์อำนาจมหาศาลและมีหน่วยงานมากมายที่ไม่ได้ขึ้นกับ กทม. ผู้ว่าฯคนนี้ก็ไม่รู้จะเอาพลังทางการเมืองอะไรไปต่อรอง เพราะถูกสั่งมาให้เฝ้าเมือง ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะเอาเสียงจากประชาชนว่าผมต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่ผมต้องดูแลเพราะเขาเลือกผมมาก็ไม่รู้จะไปเอามาจากตรงไหน

เขียนป้ายโปรโมตสิ่งที่ตัวเองทำหรือจะสู้ได้รับเลือกจากประชาชน

อาจารย์สุขุมพันธุ์แม้จะถูกด่ามากมายยังไง แต่เวลาแกฮึดไม่ยอมให้น้ำเข้า กทม.เนี่ย แกก็เอาจริงเอาจังไม่ใช่น้อย (ถ้าใครยังจำบางมุมของแกได้บ้าง) และผมก็เชื่อว่าผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งคนอื่นๆ เขามีมุมนี้ที่ชัดเจน เขาไม่ได้แค่รับใช้บ้านเมืองแบบที่อ้างๆ กัน แต่เขารับใช้ต่อคนที่เลือกเขามา (ผมก็ย้ำแล้วว่าอาจารย์สุขุมพันธ์ุแกถูกด่าอยู่เยอะ แต่คนด่าก็รู้ว่าด่าแกได้ ไม่เลือกแกก็ได้ เพราะแกมีวาระของแกแหละ)

ประเด็นในข้อนี้จึงพูดถึงเรื่องของความถดถอยของประชาธิปไตยและระดับของประชาธิปไตยในระดับเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าฝ่ายบริหารของ กทม.เองไม่มีแบ๊ก/ฐานจากประชาชนในการต่อรองทางอำนาจกับรัฐบาลกลาง นอกจากร้องขอ และยืนเข้าแถวให้ผู้บังคับบัญชาใหม่ที่ตั้งตัวเองมาดูแลสถานการณ์สั่งการไปเรื่อยๆ

3.หัวใจสำคัญของปัญหาภัยพิบัติด้านสุขภาวะในรอบนี้ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่พื้นที่ชุมชน ซึ่งพูดให้ตรงๆ ก็คือพื้นที่ชุมชนแออัด ที่ไม่ใช่จุดตั้งต้นของการแพร่ระบาดแต่รับเคราะห์จากการแพร่ระบาดจากพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะสถานบันเทิง และเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่การที่ประชาชนคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการจึงเข้ามาแพร่เชื้อ แต่เกิดจากพื้นที่แออัดที่เป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นทางอำนาจของคนมีเงินและคนมีอำนาจรัฐในการปล่อยให้พื้นที่บันเทิงเหล่านั้นเป็นแหล่งในการแพร่ระบาดได้ ดังที่ได้รับทราบกันอยู่ทั้งในแง่ใบอนุญาต ความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง และการเปิดเกินเวลา หรือการไม่รักษามาตรการต่างๆ

ในอีกด้านหนึ่งชุมชนในกรุงเทพมหานครนั้น เรากำลังหมายถึงชุมชนที่เป็นชุมชนแออัดเสียเป็นส่วนมาก แต่เรายังจะต้องเข้าใจเงื่อนไขอีกนิดว่า ในระเบียบของ กทม.เองนั้น

ตามข้อมูลของสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร, ปรับปรุงล่าสุด มกราคม 2564 มีชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งจาก กทม.อยู่รวม 2,016 ชุมชน จัดเป็น ชุมชนแออัด 641 ชุมชน ชุมชนชานเมือง 353 ชุมชน ชุมชนอาคารสูง 76 ชุมชน ชุมชนเมือง 459 ชุมชน เคหะชุมชน 70 ชุมชน ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร 417 ชุมชน ซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน (พ.ศ.2555) นิยามชุมชนว่าเป็นบริเวณที่กลุ่มคนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกัน (ข้อ 6)

แต่ในข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าวกลับพูดถึงการจัดชุมชน 6 ประเภท ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งยังรวมไปถึงข้อ 8.ที่หมายถึงการจัดตั้งชุมชน โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีจำนวนบ้านที่ประชาชนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 100 หลัง และยังมีเงื่อนไข เช่น สถานที่ตั้งจะต้องไม่เป็นที่สาธารณะ แต่ถ้าเป็นของเจ้าของอื่นก็ต้องมีหนังสือยินยอม (แต่มีประเด็นน่าสังเกตว่ามีข้อย่อยที่บอกว่า ผู้อำนวยการเขตสามารถเสนอขึ้นมาได้ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ามีกี่กรณีที่ผู้อำนวยการเขตเสนอขึ้นมา)

ความซับซ้อนของประเด็นตรงนี้มีอยู่ว่า กทม.นั้นยอมรับชุมชนในสองเงื่อนไข คือหนึ่งชุมชนคือสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปรากฏการณ์ทางสังคม แต่ชุมชนนั้นจะถูกพิจารณาเป็นพิเศษเมื่อลงทะเบียนกับ กทม. และเมื่อลงทะเบียนก็จะมีกระบวนการจัดการ เช่น การเลือกตั้งกรรมการ และหมายรวมถึงการดูแลและอาจหมายถึงงบประมาณการพัฒนา

ในแง่นี้เงื่อนไขในความเป็นจริงก็คือ ชุมชนใน กทม.อาจจะแบ่งออกเป็นสักสี่แบบคือ 1.ชุมชนที่ กทม.ยอมรับ ซึ่งย่อมต้องมีลักษณะที่ใหญ่ 100 หลังคาขึ้นไป เว้นจะมีข้อยกเว้น 2.ชุมชนที่จำนวนไม่ถึง แต่มีความเป็นชุมชนทางสังคมวิทยา 3.ชุมชนของคนพอมีที่เรียกในภาษานักการเมืองว่า “บ้านมีรั้ว” ในแง่ของการเป็นบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่มีกรรมการหมู่บ้านและระบบนิติบุคคล 4.ชุมชนทางกายภาพที่ไม่มีการรวมตัวใดๆ อยู่ติดกันก็ไม่รู้จักกันไม่รวมตัวกัน เช่น บ้านเช่า

นี่คือจุดที่ยังจะต้องตั้งคำถามและเรียกร้องให้ระเบียบของเรื่องชุมชนและกรรมการชุมชน ซึ่งหมายถึงการต่อติดกับระบบการบริหารของ กทม.นั้นทำงานได้ และประชาชนมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาลท้องถิ่นของตน

สถานการณ์ภัยพิบัติโควิด-19 รอบนี้ทำให้เราเห็นว่า ชุมชนจำนวนมากมีปัญหาทั้งทางด้านกายภาพ และสุขภาวะ อีกทั้งยังมีเรื่องของปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เขาเปราะบาง ทั้งในส่วนที่ไม่มีกินเพราะตกงาน หรือรายได้ลดลง ไปจนถึงการที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงเพราะอยู่ในภาคบริการ อีกทั้งสวัสดิการที่ได้ก็ไม่เพียงพอ

4.ที่ว่า กทม.นั้นรับมือไม่ได้ สิ่งนี้จะโทษแต่รัฐบาลกลางที่ไม่กระจายอำนาจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษระบบการบริหารของ กทม.ด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำแนกตามด้าน ได้แก่

1.ด้านการบริหารทั่วไป 24,377,012,645 บาท

2.ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,647,950,770 บาท

3.ด้านการโยธาและระบบจราจร 12,543,057,815 บาท

4.ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 7,164,096,530 บาท

5.ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 6,146,123,490 บาท

6.ด้านการสาธารณสุข 6,784,159,830 บาท

7.ด้านการศึกษา 4,837,598,920 บาท

รวม 75,500,000,000 บาท

ถ้ารวม 8.ด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 951,764,300 บาท จะมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 76,451,764,300 บาท

พูดง่ายๆ ว่า ด้านการสาธารณสุขไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมาตั้งแต่แรก และก็มีความเป็นมาอย่างนี้ทุกปี

สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ ในมุมมองของ กทม.นั้นตามข้อสันนิษฐานของผม กทม.ก็รู้มาตั้งแต่แรกว่าเขาไม่ได้ทำภารกิจด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะมีโรงพยาบาลเอกชน มีร้านขายยา และยังมีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และยังมีโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์อีกมากมาย

สิ่งนี้คือสิ่งที่เวลาเข้าใจตัว กทม.เองในด้านบริการสังคมเขามักจะต้องเจอความซับซ้อนนี้ คือถ้าเทียบกับงานกายภาพ เช่น ขยะ ถนน น้ำท่วม อันนี้ทุกคนใน กทม.ใช้บริการของเขา แต่ในเรื่องบางเรื่อง เช่น สวัสดิการสังคม การศึกษา และการสาธารณสุข ในความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้บริการทุกคน มีแค่บางกลุ่มที่เข้ารักษากับเขา ซึ่งส่วนใหญ่คือคนรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงระบบอื่นๆ ทั้งเอกชน และรัฐส่วนกลาง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงปฏิบัติงานจริงของ กทม. เพราะโดยภารกิจต้องดูแลทุกคน แต่บางภารกิจมีแค่บางคนที่ใช้ และคนเหล่านั้นที่ใช้บริการก็เสียงไม่ดังที่จะกดดันเรียกร้องหรือก่นด่าระบบการให้บริการ กทม.ว่าดีพอหรือยัง

ในเรื่องงภัยพิบัติโควิดนั้น ก็จะเห็นว่าคนที่พอดิ้นรนได้ก็จะไม่เข้าใช้บริการของ กทม.ตั้งแต่แรก เช่น เข้าโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ และ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ต่อเมื่อระบบส่วนนั้นเริ่มปิดจึงไหลรวมมาที่ กทม.

ประเด็นก็คือจากวันนี้ระบบการบริหารด้านการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครคงต้องคิดใหม่ และต้องคิดให้เป็นระบบว่า กทม.ดูแลได้แค่ไหน ส่วนนี้น่าเห็นใจ แต่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปก่อน มาลองเทียบดูแล้วจะพบว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่นไม่ได้มีบริการด้านนี้เท่า กทม.ด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องมาคิดกันดีๆ ว่าจะจัดสรรงบประมาณในส่วนของ กทม.อย่างไร และต้องวางระบบบริการด้านสาธารณสุขใน กทม.อย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการถ่ายโอนภารกิจอย่างง่าย แต่เป็นเรื่องการทำงานเชื่อมประสานหลายระดับ

5.เวลาที่พูดเรื่องการกระจายอำนาจ สิ่งที่เริ่มเป็นที่เข้าใจในวันนี้ไม่ใช่เรื่องแค่การถ่ายโอนภารกิจ แต่หมายถึงการสร้างอำนาจให้กับท้องถิ่นทั้งในส่วนของการถ่ายโอน การบริหารร่วมที่ท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดข้อเรียกร้องมากขึ้น และตรวจสอบงานของส่วนกลางในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่มองว่าส่วนกลางต้องคอยจับผิดท้องถิ่นฝ่ายเดียว และต้องหมายถึงการตัดสินใจของท้องถิ่นในการบริหารกิจการสาธารณะที่อาจมีได้หลายแบบแต่ท้องถิ่นต้องตรวจสอบได้ และยังหมายถึงการที่ประชาชนและชุมชนสามารถกำกับดูแลรัฐบาลท้องถิ่นของพวกเขาได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านี้การกระจายอำนาจจะต้องควบคู่ไปกับเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดความรู้ เพราะอำนาจกับความรู้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การกระจายอำนาจลงไปไม่ได้เท่ากับการเกิดความรู้โดยอัตโนมัติ กรณีของ กทม.มีทั้งเงินทั้งอำนาจไม่น้อย แต่กรณีการบริหารจัดการชุมชนทั้งในส่วนก่อนสถานการณ์โควิดและเมื่อมีสถานการณ์โควิดแล้ว จะพบว่ามีชุมชนที่หลุดรอดการควบคุมอยู่มาก ส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่ข้อจำกัดทางกายภาพในแง่การอยู่อย่างแออัด แต่หมายถึงการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและจัดระบบชุมชนที่แออัดแต่ไม่ได้มีขนาดใหญ่และเสียงดัง รวมทั้งยังไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่าเมื่อตัดสินใจลงไปจัดการที่ชุมชนใหญ่ที่มีคนสนใจนั้น ยังมีอีกกี่ชุมชนที่ยังต้องการการช่วยเหลือทั้งชุมชนที่เป็นทางการ และชุมชนหรือการตั้งถิ่นฐานที่ไม่มีสถานะชุมชนที่เป็นทางการหรือไม่มีความร่วมมือกันในชุมชน

6.ถ้าเรามองว่าสถานการณ์วิกฤตการระบาดโควิดในรอบนี้เป็นภัยพิบัติด้านสุขภาวะ เราจะต้องเข้าใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และส่วนหนึ่งของวิธีคิดในเรื่องของการแก้ไขภัยพิบัติก็คือเรื่องของความสามารถในการฟื้นสภาพ (resilience) เหมือนกับที่เราเข้าใจในเรื่องภัยพิบัติตามธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อเกิดน้ำท่วมหนักเราก็จะต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งนั้น และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องฟื้นกลับมาโดยเร็ว

ในแง่นี้ภัยพิบัติด้านสุขภาวะจากโควิดมันเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น ก็ต้องแก้ด้วยการคำนึงถึงการฟื้นสภาพทางเศรษฐกิจไปควบคู่กัน กทม.ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่แค่ให้บริการสาธารณสุขและใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านคณะกรรมการโรคระบาดในการประกาศเปิดปิดพื้นที่ แต่ กทม.จะต้องพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของท้องถิ่น (local economic development) ด้วย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมต้องเป็นเรื่องของการชดเชยเยียวยาเท่าที่กรอบกฎหมายจะทำได้ แต่ในอีกส่วนหนึ่งจะต้องหมายถึงการพลิกฟื้นโอกาสให้คนใน กทม.เองโดยเฉพาะคนที่เปราะบาง คนที่หลุดระบบได้มีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งพ่อค้าแม่ขาย ทั้งระบบการบริหารจัดการบ้านเช่า ที่เป็นจุดเปราะบางเพราะเงินเยียวยาของรัฐบาล ทั้งเงินคนจนเอง หรือเงินเยียวยาทุกรูปแบบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของที่พักอาศัย ทั้งการปรับปรุงและการมีที่พักอาศัย ค่าเช่าบ้านเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการอยู่รอดในเมือง ถ้าเขาไม่มีรายได้ เขาจะเอาเงินที่ไหนไปเช่าบ้าน เขาอาจจะต้องย้ายไปอยู่ในบ้านที่แย่ลง หรือหลุดจากระบบบ้านเช่ามาเป็นคนไร้บ้าน

การเร่งจัดหาพื้นที่ค้าขายที่มีระยะห่าง หรือการประสานบริการการขนส่งสินค้าต่างๆ ไปยังพื้นที่ชุมชนที่ต้องถูกกำหนดการเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด และถูกกดดันเรียกร้องให้ กทม.ได้คิด ให้เขตได้คิด

7.การหายไปของแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะใน กทม.นั้นหายไป เราไม่เห็นความซับซ้อนและการนำเอาเทคโนโลยีของ Big Data หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ในเมืองหลวงที่ติดอันดับของโลก ที่มีเทคโนโลยีมหาศาล เราไม่มี กทม.ชนะ ในความหมายแอพพลิเคชั่นที่ดี ไม่ใช่มีไว้รกเครื่อง เรามาถึงวันที่ กทม.แค่ประกาศว่าแต่ละเขตมีคนติดกี่คน มีการประกาศรวมจุดเสี่ยง แต่เราไม่เห็นการใช้ฐานข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าใจว่า ถ้าเขาจะต้องเดินทาง พื้นที่ที่เขาจะไปนั้นมันจะต้องผ่านจุดเสี่ยงอะไร มีการแจ้งเตือนจาก กทม.ในเรื่องใดบ้างในแต่ละเขต ประชาชนจะเข้าใจปัญหาอะไรบ้าง ในพื้นที่ที่เราอยู่แต่ละเขตมีบริการสาธารณสุขของ กทม. และของหน่วยงานอื่นๆ อะไรบ้าง เรามีคนอยู่ไม่ต่ำกว่าหกล้านคน แต่ไม่มีระบบการช่วยกันทำอะไรที่ริเริ่มหรือร้องขอจากประชาชนพลเมืองของ กทม. เว้นแต่การประกาศห้ามและขอความร่วมมือซึ่งหมายถึงแค่ให้เชื่อฟัง ขณะที่ประชาชนก็ได้แต่พยายามบริจาคของและประสานกับทีมอาสาสมัครต่างๆ และมี ส.ส.ที่พยายามที่จะมาช่วยเท่าที่พวกเขาจะทำได้

ก็ยังย้ำครับว่า กทม.อาจจะแพ้… แต่กรุงเทพมหานครยังไม่แพ้ และไม่ยอมแพ้ครับ

(ส่วนหนึ่งจากการอภิปรายของผมในรายการเสวนาว่าด้วย “บทบาท” ความท้าทายและการกระจายอำนาจ.-15 พฤษภาคม 2564. จัดโดยคณะกรรมการกระจายอำนาจ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับไทยพีบีเอส)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image