‘สบช.’สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ของกระทรวงสาธารณสุข

‘สบช.’สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชัย เทียนถาวร

‘สบช.’สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ของกระทรวงสาธารณสุข

ภายหลังพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมหลวงสงขลานครินทร์ “สมเด็จพระราชบิดา” เสร็จสิ้นแล้วโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ จึงถวายพระนามแด่พระบิดาตามราชประเพณีว่า “สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2477 พระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์

พ.ศ.2513 : “สมเด็จฯ พระบรมราชชนก” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า

พ.ศ.2536 : “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายพระราชสมัญญาแด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็น “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536

Advertisement

พ.ศ.2555 : เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชกรณียกิจด้านการอุดมศึกษาและระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย รัฐบาลไทยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2555 ได้ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี แห่งการพระราชสมภพ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555

สมเด็จฯ พระบรมราชชนกมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อประชาชนชาวไทย ทรงวางรากฐานการอุดมศึกษา ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยอย่างจริงจังในการปรับปรุงระบบการศึกษาแพทย์ไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ ทรงวางแผนในการพัฒนาบุคคลจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิชาการในสาขาต่างๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงได้รับการยกย่อง

ด้านพระราชจริยวัตรที่ทรงเป็น “ต้นแบบ” ของการเป็น “นักศึกษา” และ “อาจารย์” ที่ทรงคุณภาพที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้วยพระวิริยอุตสาหะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างไพศาลดังที่ Professor E.G. Allis ได้กล่าวไว้ว่า “And so there ended at an early age a life that the holder had used to the full in acquiring knowledge for self an in multiple acts of benefit for others. These thugs made it a life unusually well level” และดังที่ หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต ได้แปลได้ว่า “การที่ทรงอุบัติมาในโลกนี้นั้น ทำให้โลกนี้ได้ดีขึ้นเป็นแน่แท้”

Advertisement

สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระมหากรุณาธิคุณกับการศึกษาไทยอย่างมาก ทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ทรงแสดงให้เห็นถึง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นดังจิตวิญญาณความเป็นครู ทรงดำริว่า “การศึกษาสิ่งใดๆ ก็ตาม จะต้องศึกษาให้รู้จริงถึงแก่นแท้ด้วยการฝึกหัดและปฏิบัติ จึงจะถือว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริง”

ในปี พ.ศ.2459 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยรวมโรงเรียนราชแพทยาลัย เข้าเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า…คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล”

ในช่วงนี้ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยมี “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์” ทรงรับภาระเป็นผู้แทนฝ่ายไทยและได้ขยายหลักสูตร “เป็นแพทยศาสตรบัณฑิต” ต่อมามูลนิธิได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนพยาบาลและคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ด้วยทรงเป็นหลักเริ่มต้นในการเจรจาความร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศมากมาย นับเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้ “สถาบันอุดมศึกษาของไทย” ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนราชแพทยลัย ที่เริ่มก่อตั้งมาก่อนหน้านั้นมีความเป็นมาตรฐานในฐานะของ “มหาวิทยาลัยไทย” ที่มีคุณภาพระดับสากล

ทรงมีความลึกซึ้งใน “ปรัชญา” และ “วิธีการจัดการ” ศึกษาของมหาวิทยาลัยในระดับสากล ทรงวางรูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะที่เน้น “การมีส่วนร่วม” ทั้งให้นำเสนอหลักการ “ธรรมาภิบาล”ในการบริหารอุดมศึกษา

เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 120 ปี แห่งวันพระราชสมภพในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555 (1 มกราคม พ.ศ.2435-1 มกราคม พ.ศ.2555) คณะกรรมการอุดมศึกษาดำเนินการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมเพื่อขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่การอุดมศึกษาของไทย

พระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสด้าน “การสร้างคน” พระราชปณิธานในสมเด็จฯ พระบรมราชชนกนั้นมุ่งเน้น “การสร้างคน” และนำ “ความรู้” ไปสู่ประโยชน์สุขแห่ง…มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ทรงสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปรากฏจนเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่

1.ทรงเตรียมอาจารย์ในสถาบันการศึกษา โดยการให้ทุนแก่นักเรียนในต่างประเทศเพื่อให้บุคคลนั้นๆ มาเป็นอาจารย์ในสาขาด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าคณาจารย์เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของสถาบันการศึกษาชั้นสูงในการทรงงานร่วมกันโครงการมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก จึงทรงพิถีพิถันเป็นอย่างดี ในการที่จะคัดเลือกนักเรียนทุน ทั้งนักเรียนทุนรัฐบาล นักเรียนทุนมูลนิธิฯ นักเรียนส่วนตัว หรือนักเรียนทุนส่วนพระองค์ให้กลับมาขึ้นตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกวิชาต่างๆ แทนที่คณาจารย์ต่างประเทศที่มูลนิธิฯ ส่งเข้ามาดำเนินงานในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาแพทย์ อีกนัยหนึ่งก็คือ การตั้งหลักการให้มีตำแหน่งที่เข้าใจกันในปัจจุบันด้วย “Professorial Chairs” นั่นเอง

ทรงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องทำให้มูลนิธิฯ เกิดความมั่นใจว่า เมื่อหมดสัญญาตามโครงการแล้ว โรงเรียนแพทย์แผนปัจจุบันของไทยจะดำรงอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเองจนมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสากล ด้วยการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย “ศาสตราจารย์” ฝ่ายไทยที่ได้คัดเลือกไว้แล้วเป็นอย่างดีเหล่านี้ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ทูลขอให้ทรงเป็นกรรมการผู้หนึ่งในการเลือกนักเรียนทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เพื่อเตรียมเป็น “ศาสตราจารย์” ต่อไปขณะนั้นพระองค์ท่านประทับอยู่ที่อังกฤษ แต่ด้วยทรงเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงทรงตั้ง หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี เป็นผู้แทนพระองค์ และทรงให้นโยบายในการเลือกสรรผู้รับทุนดังกล่าวไว้ นอกจากนี้พระองค์ยังเสียสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากจัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลต่อไป และยังได้ประทานเงินแก่ผู้ฝึกหัดค้นคว้าและสอนให้แก่คณะแพทย์ภายใต้การควบคุมของศาสตราจารย์ และฝึกหัดสอนนักเรียนแพทย์ ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าวิธีการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนอาจารย์อีกวิธีหนึ่งด้วย

2.ทรงเป็นครูพี่เลี้ยงที่ดี ให้แก่นักเรียนทุนที่ศึกษาในต่างประเทศในระหว่างที่พระองค์ทรงให้ความเมตตาและเอาใจใส่แก่นักเรียนที่ไปเรียนด้วย ทรงแนะนำการใช้ชีวิตในต่างแดน ทรงแก้ปัญหาในแก่นักเรียนทุนในทุกๆ เรื่องตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการแสวงหาความรู้และทักษะทางสังคม เป็นต้น

3.ทรงเป็นต้นแบบการพึ่งพาตนเองและการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ในระหว่างศึกษาต่างประเทศ ประทับห้องเช่าเหมือนคนทั่วไป ทรงจับจ่ายใช้สอยแบบประหยัด ทรงกระทำการบ้านต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ล้างรถยนต์เองและซักถุงพระบาท พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยะบุคคล ทรงพระความคิดหลักแหลม เป็นต้นแบบให้อนุชนรุ่นหลัง ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติได้

พระราชกรณียกิจและพระราชดำริในค่ายหลักสูตรและวิธีการสอน : สมเด็จฯ พระบรมราชชนกให้ความสำคัญในการสอนคน นอกจากการหาทุนการวางแผนสร้างอาคาร แต่หากยังทรงงานการวางแผนวิชาการโดยทรงร่วมปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และหลักสูตรเตรียมพื้นฐานกับหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรีคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์กับ Dr.Richard M.Pearec ผู้อำนวยการแผนการศึกษาแพทยศาสตร์ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ โดยใกล้ชิด แม้ว่าขณะนั้นพระองค์ยังประทับอยู่ในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากลายพระหัตถ์ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2465 เพื่อส่งหลักสูตรที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เสนอมาให้ Dr.Richard นั้นได้ทรงวิจารณ์หลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิชา Inorganic และ OrganicChemistry, Physical, Biology, Zoology Vertebrate Anatomy เป็นต้น

นอกจากนี้ได้ทรงมีพระดำริถึง “วิธีการสอน” ว่าควรใช้วิธีสอนในลักษณะที่จะหัดให้ “นิสิตคิดเป็น” พระองค์ให้ความสนในกับวิธีการเรียนการสอนมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ “การศึกษาดูงาน การมอบหมายหนังสือให้ไปอ่านแล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง, เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นผู้บรรยายแต่ละหัวข้อ, ครูช่วยสอนและผู้ช่วยทดลองในห้องปฏิบัติการ, สื่อการเรียนการสอน รวมถึงการจัดเวลาเรียนให้เหมาะสม เป็นต้น สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงเป็น “ตัวอย่างครูที่ดี” ทรงเป็นต้นแบบการสอนหนังสือ ทรงเตรียมการสอนเป็นอย่างดี และทรงรู้จักนักเรียนของพระองค์ท่านทุกคน พระองค์ท่านมิได้ทรงมีแต่พระราชดำริเท่านั้น หากได้ทรงปฏิบัติและได้ทรงพิสูจน์ความเป็นครูที่ดีอย่างแท้จริงด้วย

วิวัฒนาการการผลิตและพัฒนา “กำลังคนด้านสุขภาพ” : 1) พ.ศ.2431 : “ตั้งกรมพยาบาล” วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดให้ตั้ง “กรมพยาบาล”

พ.ศ.2432 : “ตั้งโรงเรียนแพทยากร” วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง “โรงเรียนแพทยากร” สังกัดกรมพยาบาล กระทรวงราชการ หลักสูตร 3 ปี หลักสูตรเรียนแพทย์ตะวันตก และแพทย์ไทยร่วมด้วย เริ่มรับนักเรียน
วันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนแพทยาลัย”เสด็จพ่อ ร.5 เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2443

2) พ.ศ.2458 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ปรับเป็นหลักสูตร 5 ปี

พ.ศ.2460 : 6 เมษายน 2460 โรงเรียนราชแพทยาลัย ได้รวมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ.2461 : ตั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร 6 ปี

พ.ศ.2439 : ตั้งโรงเรียนพยาบาลแห่งแรก ก่อกำเนิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2439 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ให้ชื่อว่า “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้” เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลและผดุงครรภ์ ระยะเวลา 1 ปี ต่อมาเปลี่ยนชื่อ “คณะพยาบาลศาสตร์” มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน

พ.ศ.2461 : ตั้งกรมสาธารณสุข วันที่ 27 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง “กรมสาธารณสุข” สังกัดกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2485 : วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้รวมกิจการแพทย์และสาธารณสุข กรมประชาสงเคราะห์ กองสุขาภิบาล กองเภสัชกรรม ฯลฯ

พ.ศ.2495 : ได้ประกาศใช้ “พ.ร.บ.” ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เปลี่ยนชื่อกระทรวงการสาธารณสุข เป็น “กระทรวงสาธารณสุข” และเปลี่ยนชื่อ กรมสาธารณสุข เป็น “กรมอนามัย”

พ.ศ.2517 : ตั้งกองงานวิทยาลัยพยาบาลและการฝึกอบรม มีการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ มีพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ จัดตั้ง “กองงานวิทยาลัยพยาบาล” เพื่อผลิตพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และ “กองฝึกอบรม” เพื่ออบรมอนามัยทั้ง 4 ภาค

พ.ศ.2535 : นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รวมหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพโดยตรงเข้าด้วยกัน เรียกว่า “สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข” พ.ศ.2537 :

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2537 สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อสถาบันว่า “สถาบันพระบรมราชชนก” โดยมีการถวายพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอน 53 วันที่ 25 ธันวาคม 2538

พ.ศ.2562 : “พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562”โดยที่กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้ง สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ให้มีหน้าที่หลักด้านผลิตและพัฒนาบุคคลด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย วิทยาลัยการสาธารณสุข วิทยาลัยพยาบาล และโรงเรียนต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ต่อมา ‘วิทยาลัยการสาธารณสุข ได้รับพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยมาเป็นชื่อวิทยาลัย ว่า “วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร” วิทยาลัยพยาบาล ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วิทยาลัยพระบรมราชชนนี” วิทยาลัยเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับพระราชทานชื่อ “วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนภิเษก” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อ “สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข” เป็น “สถาบันพระบรมราชชนก” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0003/12819 ลงวันที่ 27 กันยายน 2537 โดยในฐานะเป็นส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

แต่เนื่องจากสถาบันพระบรมราชชนก ประสงค์จะมีความเป็นอิสระในการจัดการศึกษาและบริหารกิจการด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อให้สถาบันพระบรมราชชนกพัฒนาระบบบริหารและการจัดการศึกษา “เฉพาะทาง” มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับของ “สถาบันพระบรมราชชนก” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับ “พระราชบัญญัติ” การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สมควรกำหนดสถานภาพของสถาบันพระบรมราชชนกให้เป็น “สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง” ด้าน “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา “แห่งแรกของประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันพระบรมราชชนก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติ” สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ให้ไว้ ณ วันที่4 เมษายน พ.ศ.2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image