แคมป์และโรงงาน :โควิด-19 กับมิติเชิงพื้นที่ของทุนนิยมและแรงงาน

ตึกนี้สูงใหญ่มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทาง ไผสร้างไผเฮ็ดถนน

นั่งนอนซำบาย ฮู้บ่ไผหนอทุกข์ทน กรำแดด กรำฝน แบกขนนั่นแม่นผู้ใด

ข้าวนี้คำนี้ไผที่ปลูกข้าว ฮู้บ้างหรือเปล่า ว่าข้าวนั้นมาจากไหน

เสื้อผ้าสดสวย แฟชั่นที่ทันสมัย สวยที่คนใส่ คนเฮ็ดบ่มีไผชม

Advertisement

หมู่เฮา… คือผู้อยู่เบื้องหลัง คือผู้สรรค์สร้าง เพื่อคนอื่นได้สุขสม

หยาดเหงื่อแรงงาน มีส่วนสร้างสรรค์สังคม บ่มีไผชม หมู่เฮายังเฝ้าภูมิใจ…

บ้านเมืองนี้ดูดีสวยเด่น ไผบ้างสิเห็น สิฮู้ความจริงบ้างไหม

Advertisement

ผู้กวาดถนน ผู้ขนขยะคือไผทุ่มเทกายใจ มอบความสุขให้มวลชน

บทเพลง “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ศิลปิน ไมค์ ภิรมย์พร ผู้แต่ง ครูสลา คุณวุฒิ

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ดูจะไม่สิ้นสุดเอาง่ายๆ จากจำนวนของผู้ติดเชื้อที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่สำคัญในรอบนี้การระบาดกระจายวงกว้าง และเริ่มเห็นปรากฏการณ์ในเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสองรอบแรก ที่ “คลัสเตอร์” มักเป็นเรื่องของแหล่งบันเทิง ทั้งสนามมวย บ่อน สถานบันเทิง ในระลอกที่หนึ่ง ขณะที่ตลาดและหอพักคนงานที่ติดกับตลาดที่สมุทรสาคร เป็นคลัสเตอร์ระลอกสอง

มาในระลอกที่สาม แม้ว่าจะเกิดจากสถานบันเทิง แต่คลัสเตอร์ที่พบในระลอกนี้กลับกลายเป็นเรื่องของ ชุมชนแออัด โรงงาน สถานที่ทำงาน (รายใหม่คือคอลเซ็นเตอร์) ตลาดสด ทัณฑสถาน และแคมป์คนงาน (แถมไซต์ก่อสร้างด้วย)

ในอีกมุมนึงที่ยังไม่มีการอธิบายกันนักก็คือ คลัสเตอร์ ในระดับจุลภาคก็คือ บ้านเรือน ทั้งบ้านเรือนทั่วไป และบ้านเรือนที่อยู่ในชุมชนแออัด แต่โอกาสในชีวิตของคนที่อยู่กันแออัด ซึ่งเชื่อมโยงกับฐานะ และโอกาสในชีวิต ที่น้อยกว่าคนอื่นๆ ก็เปราะบางมากกว่า และการเว้นระยะห่างทำได้ยากกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนจน คนด้อยโอกาส จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษในรอบนี้ ไม่ใช่แค่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งตกงาน รายได้น้อยลง หรือค่าชดเชยไม่พอ แต่ยังหมายถึง การต้องอยู่ในสภาพที่แออัด เปราะบางตลอดเวลา หรือมากกว่าคนในฐานะอื่น

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ไอ้ที่เรียกว่า Work from Home เนี่ยมันทำไม่ค่อยจะได้ครับ เพราะงานจำนวนมากของคนจนเมืองคือ งานบริการที่ยังไงก็ต้องไปทำนอกบ้าน

สิ่งที่อยากจะเน้นในสัปดาห์นี้ก็คือ เรื่องของแคมป์คนงานเป็นพิเศษ และรวมไปถึงโรงงานด้วย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ และใหญ่มากขึ้นทุกวันทั้งในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด

มาดูภาพรวมกันสักนิด ตัวเลขจนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 จะพบตัวเลขโดยสังเขปว่า กทม.จะมี 17 คลัสเตอร์ (รวมโรงงานและแคมป์ก่อสร้าง) ถ้านับไซต์ก่อสร้างจะเป็น 18 จากแคมป์ทั้งหมด 409 แคมป์

ทั้งนี้ เฉพาะแคมป์ก่อสร้าง 14 คลัสเตอร์ (บางกะปิ, คลองเตย, บางรัก, ห้วยขวาง, ปทุมวัน (2 คลัสเตอร์), บางคอแหลม (2 คลัสเตอร์), สวนหลวง, บางพลัด, หลักสี่, ดอนเมือง, ดินแดง, วัฒนา)

หรือเท่ากับมีคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างใน 12 เขต จาก 50 เขต และเฉพาะโรงงาน 3 คลัสเตอร์ คือ ทุ่งครุ (2 คลัสเตอร์), ยานนาวา และเฉพาะไซต์ก่อสร้าง คือ ดุสิต

ขณะที่ต่างจังหวัดจะเป็นโรงงานเป็นหลัก พบใน 8 จังหวัด คือ นนทบุรี (แคมป์คนงานก่อสร้าง ซิโน-โทย; รัฐสภา, รถไฟฟ้าสายสีชมพู) เพชรบุรี (โรงงานแคลคอมพ์กับโรงงานผลิตรองเท้าที่เขาย้อย) ตรัง (โรงงานถุงมือการแพทย์) สุราษฎร์ธานี (โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง) ชลบุรี (ทั้งโรงงานและคนงานก่อสร้าง) สมุทรปราการ (โรงงานและที่พัก(คอนโด)) ประจวบคีรีขันธ์ (โรงงานสับปะรดกระป๋อง-หัวหิน) สระบุรี (โรงงานแปรรูปเนื้อไก่)

ที่อยากจะย้ำเรื่องแคมป์คนงานและโรงงานนั้น ก็เพราะว่าสำหรับโรงงานนั้นมันเป็นเรื่องของสถานที่ทำงานอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สถานบันเทิง หรือตลาด ที่อย่างน้อยคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน แต่โรงงานเป็นสถานที่ทำงานที่เลือกทำงานที่บ้านไม่ได้

และเงื่อนไขอีกข้อที่มันติดกันเละเทะมันไม่ใช่ เพราะมันเป็นที่ทำงานเท่านั้น แต่สภาวะการทำงาน ก็มีผลต่อการติดเป็นพิเศษ เพราะในระบบทำงาน โดยเฉพาะที่เรียกว่าพื้นที่การทำงาน (shop floor) นั้นไม่ได้ถูกดีไซน์ให้เอาคนงานเป็นตัวตั้ง เท่ากับเอาผลผลิต (สินค้า) กับเครื่องจักรเป็นตัวตั้ง

จึงไม่น่าแปลกใจว่าสภาพความแออัดในการทำงานนั้น จึงเป็นเรื่องอันเป็นปกติ และยิ่งต้องการเงิน และโรงงานต้องการการผลิตมากขึ้นการทำงานนอกเวลาก็เป็นทางเลือกแบบสมยอมกัน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็แปลว่าต้องอยู่ในโรงงานนานขึ้นกว่าชั่วโมงทำงานทั่วไป รวมไปทั้งเรื่องชีวิตนอกการทำงานที่ยังอยู่ในโรงงาน เช่น ห้องน้ำ ร้านอาหารต่างๆ ก็ย่อมจะต้องแออัดไปมากกว่าสถานที่ทำงานในแบบอื่นๆ

ยังไม่นับว่าโรงงานนั้นไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ แต่มักจะผูกพันกับชุมชนนอกโรงงาน ที่คนงานมักจะอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มในมาตรฐานการพักอาศัยที่ไม่ได้สูงมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะค่าแรงที่ไม่ได้มากนัก และเขาเองก็ต้องการที่จะเก็บเอาเงินสดมาใช้จ่ายในด้านอื่นๆ มากขึ้น

ในวันนี้ด้วยเงื่อนไขของการผลิตที่ต้องการลดต้นทุนให้มากที่สุด การตัดสินใจย้ายโรงงานจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งเพื่อลดต้นทุน ทั้งในแง่การใกล้แหล่งวัตถุดิบ การใกล้เครือข่ายการโทรคมนาคม ทำให้โรงงานจำนวนมากย้ายไปตั้งถิ่นฐานในต่างจังหวัด และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด การแพร่ระบาดจำนวนหนึ่งที่เกิดในโรงงานก็ยิ่งเร่งทำให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อนั้นมีมากขึ้นกว่าการแพร่ระบาดโดยทั่วไป

ในเรื่องของแคมป์คนงาน เรื่องนี้น่าสนใจไปอีกแบบ เพราะแคมป์คนงานคือส่วนผสมของชุมชนแออัด และ โรงงานที่แย่กว่าโรงงานทั่วไปเข้าไปอีก ด้วยเหตุผลที่ว่า แคมป์คนงานมักจะมีลักษณะของการควบคุมที่เข้มงวดในมุมของนายจ้าง (คนละเรื่องกับการควบคุมไม่ให้ออกไปซื้อของ) และกำหนดให้ไปทำงานในที่เดียวกันคือไซต์ก่อสร้าง

ประเด็นสำคัญคือไซต์ก่อสร้างกับแคมป์คนงานควรจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่เดียวกันในแง่ของความเกี่ยวเนื่องกัน แน่นอนว่าความปลอดภัยในการทำงานนั้นย่อมต้องมีมากกว่าการสวมหมวกนิรภัย หรือการคลุมฝุ่นไม่ให้เลอะเทอะคนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง แต่มันควรจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน และการพักอาศัยไปในเวลาเดียวกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไซต์ก่อสร้างและแคมป์คนงานนั้นเป็นพื้นที่เดียวกัน และยังเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยตรรกะและการตัดสินใจของนายทุนและระบบทุนนิยมมากกว่าตัวคนงานที่เลือกแทบไม่ได้ เพราะทางเลือกของเขาคือทำงานหรือหางานใหม่ และยิ่งเป็นกรณีแรงงานต่างด้าว (เดี๋ยวนี้เรียกแรงงานข้ามแดน หรือควรจะเรียกว่าแรงงาน) ในกรณีที่ถูกกฎหมายเขาก็ต้องมีสัญญากับนายจ้างที่รับผิดชอบการนำเข้า และกรณีผิดกฎหมายเขาก็ยิ่งจะมีทางเลือกได้น้อยมาก เพราะการอยู่ในสภาพการจ้างงานที่แย่อย่างน้อยเขาก็ยังถูกคุ้มครองและมีรายได้แม้จะต่ำกว่าทุกมาตรฐานก็ตาม

ที่หนักไปกว่านั้น แคมป์คนงานนั้นเป็นการทำให้เกิดสภาวะที่เปราะบางสองต่อ ทั้งเปราะบางในการทำงาน/จ้างงาน และเปราะบางในการอยู่อาศัย ขณะที่ชุมชนแออัดอาจจะเปราะบางในการอยู่อาศัยมากกว่า เพราะการทำงานมีหลากหลายทั้งเป็นเจ้าของกิจการรายย่อยในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (คือระบบที่รัฐไม่ค่อยนับและคุ้มครอง) กับการจ้างงานในระบบแต่เป็นพนักงานระดับล่าง ในภาคบริการซึ่งก็อาจจะยืดหยุ่นกว่าการเป็นแรงงานโดยเฉพาะก่อสร้าง

ที่สำคัญ แคมป์คนงานนั้นนอกจากจะต้องเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อสร้าง ที่สภาพการอยู่อาศัยเปราะบาง มักไม่ได้มาตรฐาน ระบบการทำงานก็เต็มไปด้วยอันตราย แต่อาจจะมีความปลอดภัยตามกฎหมายควบคุม แต่สุดท้ายระบบการขนส่งจากแคมป์ไปยังไซต์ก่อสร้างก็ยังเต็มไปด้วยความแออัดและไม่ได้มาตรฐานอยู่ดี

ที่สำคัญกว่านั้น การทำความเข้าใจเรื่องชีวิตคนงานโดยเฉพาะคนงานก่อสร้างนั้น จะต้องเข้าใจมากกว่าเรื่องของคนงานในระบบโรงงาน เพราะว่าเขามีลักษณะของความชั่วคราว และเปราะบางเป็นพิเศษกว่าระบบการผลิตทั่วไป เพราะว่าเขาจะต้องเคลื่อนย้ายที่ไปเรื่อยๆ เมื่องานเสร็จ เขาก็จะต้องไปอยู่ในที่ที่เปราะบางในทุกกระบวนการเหมือนเดิมต่อไป และการขูดรีดบวกกับความเปราะบางของเขานั้นก็จะถูกกระทำหลายต่อ โดยในระดับใกล้คือคนคุมงาน จากนั้นคือ บริษัทก่อสร้าง และบริษัทเจ้าของโครงการไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร หรืออาคารต่างๆ และขั้นสุดท้ายคือ เจ้าของห้อง และคนที่เข้ามาใช้งาน รวมทั้งคนในเมืองในภาพรวม ที่มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของพวกเขาเองกับชีวิตของ “ผู้สร้าง หรือผู้ผลิต” ที่แท้จริงในเรื่องนี้

และยิ่งกระบวนการก่อสร้างแบบไทยๆ แล้ว การต่อรองจากคนงานในการสร้างสรรค์ชีวิต และพื้นที่มีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับนายทุน ระบบทุน และผู้บริโภคในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลง และพัฒนาพื้นที่ภายใต้การกำหนดของรัฐนั้น

เราเห็นคำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ในกรณีการจัดการคนงานโรงงานและแคมป์คนงานอยู่บ่อยครั้ง เช่น บับเบิลแอนด์ซีล เหมือนกับการจัดการแรงงานพม่าในสมุทรสาคร และทัณฑสถาน

เราเห็นการตัดสินใจว่า ส่วนไหนจะแยกไปเข้าโรงพยาบาลสนาม และส่วนไหนให้ทำงานต่อไป เพราะเศรษฐกิจต้องเดินหน้า ราวกับว่าคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น (แต่สำคัญหรือเปล่าไม่ได้บอก) ในการไม่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก

เราไม่ได้ยินเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต และการจัดสถานที่ทำงานใหม่ การสั่งให้ทำงานอยู่บ้าน (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) เราไม่พบการพูดถึงระบบสวัสดิการที่ชัดเจน ยกเว้นความสมัครใจของเจ้าของโรงงานและกิจการที่จะหยุดการผลิต

การที่เรามีวิธีการจัดการคนงานใน “แคมป์” ถึงกับใช้คำทับศัพท์ ทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นว่า แคมป์คนงานนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ของการใช้อำนาจแบบที่อำนาจภายใต้ข้อยกเว้น (state of exception) ทำให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครองนั้นมีชีวิตที่เปลือยเปล่า (bare life) ที่มีคุณค่าต่ำกว่าชีวิตอันปกติ ด้วยการจัดการพื้นที่เหล่านั้น ทั้งค่ายอพยพ ค่ายกักกัน แคมป์คนงาน ทัณฑสถาน ไม่ต่างจากฝูงสัตว์ที่เคลื่อนย้ายได้ เป็นเพียงปัจจัยการผลิตที่นำมาใช้ประกอบมูลค่าที่ความมั่งคั่งถูกกันไว้ให้คนบางกลุ่ม และบางครั้งคนงานในแคมป์อาจมีคุณค่า เพื่อเอามาใช้งานตามความต้องการของเราในฐานะผู้ปกครอง หรือมีอำนาจเหนือ หรืออาจสามารถสละทิ้งได้เมื่อจำเป็น

และการจัดการกับชีวิตเหล่านี้บางทีก็ใช้เงื่อนไขทางกฎหมาย และการหลับหูหลับตาที่จะไม่ใช้การบังคับทางกฎหมาย หรือใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ที่สร้างข้อยกเว้นกับการกระทำเป็นกรณีพิเศษได้เสมอ

จนบางครั้งผมเองก็แอบคิดว่า บางทีคนนอกแคมป์คนงานอย่างพวกเราบางทีนอกจากยังไม่เข้าอกเข้าใจสถานการณ์ที่พวกคนในแคมป์กำลังเผชิญอยู่

และอาจไม่เข้าใจว่าเมืองที่เราอยู่ ประเทศที่เราอยู่อาจจะเป็น “แคมป์” อีกแบบที่เราเอง ไม่ใช่องค์อธิปัตย์อะไรตามที่โม้ไว้ในกฎหมาย แต่เป็นคนแคมป์ในรัฐเวชกรรมแบบไทยๆ ที่ถูกปกครองภายใต้ข้อยกเว้นต่างๆ นานา และมีชีวิตที่แสนจะเปลือยเปล่าเปราะบางไปวันๆ เท่านั้นเอง

หมายเหตุ แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง ผู้อยู่เบื้องหลัง ของสลา คุณวุฒิ และงานของ A. Harrod. From a Geography of Labor to a Labor Geography: Labor’s Spatial Fix and the Geography of Capitalism. Antipode. 29:1: 1-31, 1997. และ V. Cisney. Categories of Life: The Status of the Camp in Derrida and Agamben. The Southern Journal of Philosophy. Vol.XLVI:161-179, 2008

 

คลิกอ่านบทความสถานการณ์โควิดอื่นๆของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image