คอลัมน์หน้า 3 : เบื้องหน้า โควิด สำเหนียก จาก ราชสีห์ เงินกู้ 5 แสนล้าน

คอลัมน์หน้า 3 : เบื้องหน้า โควิด สำเหนียก จาก ราชสีห์ เงินกู้ 5 แสนล้าน

คอลัมน์หน้า 3 : เบื้องหน้า โควิด สำเหนียก จาก ราชสีห์ เงินกู้ 5 แสนล้าน

การตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เมื่อประสบเข้ากับพระราชกำหนดเงินกู้

กำลังเข้าสู่ “โหมด” แห่ง “การเปรียบเทียบ”

อย่าคิดว่า บทสรุปจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ประเมิน “ท่าที” ในการอภิปราย กับการตัดสินใจในการลงมติ “รับร่าง” ไม่มีความสำคัญ

Advertisement

เนื่องจาก “ราชสีห์” และ “หนู” มีความต่าง

จึงไม่เพียงแต่อุปมาฉันใดอุปไมยฉันนั้นจะก่อให้เกิด “ปฏิมา” ในทางความคิดอย่างลึกซึ้ง หากแม้กระทั่งเจ้าตัวคนพูดเองก็มิอาจไม่ “สำเหนียก”

เพียงแต่เมื่อ “สำเหนียก” แล้วจะ “สำนึก” หรือไม่

Advertisement

พลันที่การเรียงแถวกันมา “จัดหนัก” ต่อพระราชกำหนดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ดำเนินไปอย่างประสาน สอดคล้องโดยขุนพลจาก “ฝ่ายค้าน”

สำนึกอันมาจาก “สำเหนียก” ย่อมเกิดการตื่นตัว

การประเมินบทบาทพระราชกำหนดเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2563 กับพระราชกำหนดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในปี 2564 ว่าดำเนินไปแบบ “เดจาวู”

ก่อให้เกิด “จินตภาพ” อันแจ่มชัด

ไม่ว่า ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยจะเป็นคนรุ่นเก่า จะเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นคนรุ่นเก่า จะเป็นคนรุ่นใหม่

ย่อมมองออก แทงทะลุ

แทงทะลุว่า “ผลงาน” และความสำเร็จจากพระราชกำหนดเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นอย่างไร และมองออกในทิศทางของพระราชกำหนดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท

คนฉลาดอย่าง นายภราดร ปริศนานันทกุล มีหรือจะไม่ “เก็ต”

คนที่ผ่านประสบการณ์ทางการเงิน การธนาคาร ทั้งในแบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์ระดับ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม มีหรือที่จะไม่ปรุโปร่ง

เพียงแต่จะโน้มน้าวภายในพรรคอย่างไรเท่านั้น

สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้เป็นสถานการณ์แห่ง “การผลิตซ้ำ” ในทางการเมือง หากแต่ยังนำไปสู่สภาวะ “เดจาวู” อย่างเด่นชัด

ดำเนินไปในลักษณะ “แบ่งยุค” อย่างเป็น “รูปธรรม”

จากยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มายังยุคหลังการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562

และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์โควิดในเดือนมีนาคม 2563

จากนั้น ความแคลงคลาง กังขา อันเริ่มก่อรูปขึ้นในห้วง 5 ปีแรกก็กลายเป็นภาพชัด และชัดยิ่งขึ้นเป็นลำดับเมื่อเข้าสู่พระราชกำหนดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท

สะท้อน “ศักย์แห่งการนำ” อย่างชนิดเหลือเชื่อ

ไม่เพียงแต่ไม่มี “ยุทธศาสตร์” หากแต่ละ “ยุทธวิธี” ก็ถูกสถานการณ์ลากดึงเข้าไปจนกลายเป็นสะเปะสะปะ ไร้ทิศผิดทาง

ที่คิดว่าเป็น “ราชสีห์” ที่แท้คือ “หนู”

ไม่มีใครรู้ว่าบทจบของสถานการณ์โควิดในสังคมประเทศไทยจะส่งผลสะเทือนอย่างไรตามมา แต่ล้วนตระหนักล่วงหน้าได้ว่า

หนักหนา สาหัส

ยิ่งประชาชนต้องแบกรับผลสะเทือนของไวรัสโควิดมากเพียงใด ปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นจะยิ่งกระทบไปยังผลงานของรัฐบาลมากเพียงนั้น

“ราชสีห์” ทั้งหลายจึงพึงต้อง “สำเหนียก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image