สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชามติไปเลย

สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชามติไปเลย

ไหนๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ประกาศอยู่ให้ครบวาระแล้ว

หมายความว่าจะอยู่ต่อไปจนถึงปี 2566

ไหนๆ สัปดาห์นี้รัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ และพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมีประเด็นขัดแย้งกันหลากหลาย

Advertisement

หนึ่ง คือ เรื่องบัตรเลือกตั้งที่พรรคใหญ่เสนอให้มี 2 ใบ สำหรับ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่พรรคก้าวไกล นำเสนอการเลือกตั้งบัตร 2 ใบเหมือนกัน แต่ให้คงการคำนวณ ส.ส.พึงมีตามจำนวนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

หนึ่ง คือ เรื่องอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ฝ่ายหนึ่งไม่แตะต้องอำนาจ ส.ว.ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเสนอให้โละอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ทิ้งซะ

หนึ่ง คือ การเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

สำหรับประเด็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีปัญหาตรงที่เกรงว่า จะต้องผ่านการทำประชามติก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้

ดังนั้น เมื่อนายกฯจะอยู่ต่ออีก 2 ปี ในเมื่อกฎหมายประชามติกำลังพิจารณากันอยู่

ทำไมเราจึงไม่ทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันไปเลย

ถามประชาชนว่า จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ดีไหม

เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

หรืออยากจะฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังขัดแย้งกัน

ประชาชนเห็นว่า ควรจะโละอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ประชาชนเห็นว่า การเลือกตั้งบัตร 2 ใบนั้น จะเอาแบบพรรคพลังประชารัฐ คือ แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือจะเอาแบบพรรคก้าวไกล

เร่งแก้ไขกฎหมายประชามติ เร่งให้ กกต.ดำเนินการ
การเมืองจะได้มีทางเลือกว่าจะเดินกันไปข้างไหน อย่างไร

ที่เสนอเช่นนี้เพราะไปๆ มาๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มจำกัดวงกันอยู่แค่พรรคการเมืองและนักการเมือง

พรรคการเมืองใหญ่ต้องการแบบหนึ่ง พรรคการเมืองเล็กต้องการอีกแบบหนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความต้องการของพรรคการเมืองและวุฒิสภา

เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่แก้ไข เป็นไปตามความต้องการของนักการเมือง

ข้อครหาที่เอา “ประชาชน” เป็นข้ออ้าง เพื่อดำรง “อำนาจ” ของพวกพ้องตัวเอง จึงดังขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น จึงอยากให้ความต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน

อยากให้ประเด็นหลักๆ ที่ต้องการแก้ไข หรือยกร่างใหม่ มาจากความเห็นของประชาชน

การทำประชามติทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

บางทีประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นว่า ข้อเสนอของพลังประชารัฐ เหมาะสำหรับประเทศไทย

บางทีประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นว่า ข้อเสนอของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เหมาะกว่า

บางทีประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นสอดคล้องกับความเห็นของพรรคก้าวไกล

หรือบางทีประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นด้วยกับความคิดเห็นของวุฒิสภา

ไม่ว่าประชาชนจะคิดเห็นเช่นไร สามารถแสดงออกได้ด้วยการทำประชามติ

เสียงส่วนใหญ่ของการประชามติ คือ คำตอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ทำประชามติกันไปเลย

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image