สถานีคิดเลขที่ 12 : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

รัฐธรรมนูญ แก้ยาก
แต่ก็จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เนื้อหาเป็นประชาธิปไตย
เนื่องจากมันเป็นหลักประกัน รองรับการมีส่วนร่วมในการเมืองของประชาชน
ในการมีสิทธิ มีเสียง ผ่านการเลือกผู้แทน ส.ส.จากการเลือกตั้ง

เป็นหลักประกัน ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเสียงสวรรค์
เจตจำนงของประชาชนเจ้าของอำนาจ ที่แสดงออก ในการเลือกตั้งทั่วไป
โดยที่ไม่มีอำนาจอื่นใดเข้ามามีส่วนกำหนดรัฐบาลนอกเหนือประชาชน
ฉะนั้น เรื่องใดก็ตามที่ขัดกับหลักการนี้ ต้องได้รับการแก้ไข

การแก้ไข โดยที่ไม่พูดถึงหัวใจของปัญหา อย่างนั้นจะแก้ไปทำไม
แก้ให้ได้ชื่อว่าแก้ ว่าได้ทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ อย่างนั้นหรือ

พรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งมีการบรรจุพิจารณาวาระแรก ขั้นรับหลักการสัปดาห์นี้
พร้อมกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และฉบับของพรรคฝ่ายค้าน

Advertisement

โดยที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐนั้น นักวิชาการ และฝ่ายการเมือง ฟันธง มีความเป็นไปได้ ที่จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามากที่สุด เนื่องจากเสียงของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมกับพรรคแนวร่วมเครือข่าย และ ส.ว.ที่ประกาศสนับสนุน ร่างของพรรคพลังประชารัฐ ฉบับเดียวเท่านั้น มีจำนวนเสียงมากพอ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสองสภารวมกัน

แต่ที่เป็นปัญหา และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมของพลังประชารัฐนั้น
ไม่แตะต้องหัวใจปัญหา หรือมาตรา 272 ที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อย เรียกร้องแก้ไข ตัดบทบัญญัติที่เขียนไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ

ตัดอำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ออกจากการร่วมโหวต เลือกนายกรัฐมนตรี
เลิกให้ความสำคัญกับการรวบรวมเสียงในรัฐสภา กลับมาให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชน หรือ ส.ส.ผู้แทนประชาชน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามหลักที่ควรเป็น

Advertisement

ทั้งนี้ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ มาตราที่เสนอแก้ไข ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือแก้ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนี้ ฝ่ายต่างๆ ชี้ว่ามูลเหตุจูงใจเสนอแก้ไข เป็นเพราะจะทำให้พลังประชารัฐได้เปรียบ ได้ประโยชน์จากการมีบัตร 2 ใบเพิ่มขึ้น
เนื่องจากบัตรใบเดียว สกัดการเติบใหญ่ของจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่

ย่างไรก็ตาม เท่าที่สดับตรับฟัง พรรคเล็กก็เห็นด้วยว่าดี แฟร์กับทุกพรรคมากกว่าบัตรใบเดียว

แต่กระนั้น ไม่ว่าบัตรเดียว หรือ 2 บัตรก็ตาม ดูจะไร้ค่า เมื่อประชาชนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งมาแล้ว แฟร์แล้ว หากแต่กติกายังให้ความสำคัญกับการรวบรวมเสียงในรัฐสภาเป็นหลัก เกณฑ์ตัดสินเลือกนายกฯต้องได้กึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน

นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองใดก็ตาม แม้กวาดที่นั่ง ส.ส.สูงสุด ชนะเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ตั้งรัฐบาล
อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้ว

แก้แบบไม่เห็นหัวประชาชนอย่างนี้ ว่ากันว่าไม่ต้องแก้ก็ได้ มีบางพรรคเท่านั้นได้ประโยชน์สูงสุด
ถ้าจริงใจ ต้องรื้อแก้มาตราที่เป็นปัญหาโดยไม่ชักช้า ยกระดับกติกา ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเป็นเบื้องต้น
แก้แล้ว ต้องแก้โจทย์ใหญ่ของบ้านเมืองได้
แต่ญัตติแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ เป็นการลด หรือเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง
คำตอบมีอยู่ในตัว

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image