ที่เห็นและเป็นไป : หรือ ‘จะตายกันหมด’ จริงๆ

ที่เห็นและเป็นไป : หรือ ‘จะตายกันหมด’ จริงๆ

ที่เห็นและเป็นไป : หรือ ‘จะตายกันหมด’ จริงๆ

ถึงวันนี้ “120 เปิดประเทศ” กำลังถูกกดดันให้เปลี่ยนเป็น “ล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน”

“เปิดประเทศ” เป็นข้อเรียกร้องของผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจที่เห็นว่าตัวเลขทุกตัวแทบจะไม่ไหวแล้ว แนวโน้มความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องของประชาชน จะลามสู่ปัญหาสังคม เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศที่หากไม่เร่งหาทางเยียวยา ความเดือดร้อนจะลุกลามจนเกิดสภาวะว่าประเทศจะอยู่ไม่ได้

อย่างที่มีนักการเมืองรุ่นเก่าที่ผ่านความเปลี่ยนแปลงมาอย่างโชกโชนแล้วสรุปว่า “ถ้านายกฯประยุทธ์จะอยู่อีก 6 ปีก็อยู่ได้”

Advertisement

เหตุผลที่นักการเมืองอาวุโสท่านนี้บอกคือ “โครงสร้างอำนาจและการบริหารจัดการที่เป็นอยู่ ไม่มีอะไรที่จะทำให้ผู้มีอำนาจชุดนี้อยู่ต่อไม่ได้ ถือเป็นรัฐบาลที่ฐานมั่นคงที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

แต่นักการเมืองอาวุโสท่านนี้สรุปว่า “แต่หากนายกฯคนนี้อยู่อีก 6 ปี ที่จะอยู่ไม่ได้คือประเทศ”

เป็นการสรุปที่เรียกเสียง ฮา! จากวงสนทนาได้อย่างพร้อมเพรียง ก่อนที่ทุกคนจะเกิดอาการสลดในชะตากรรมเช่นนี้ของประเทศ

Advertisement

ผู้ดูแลเศรษฐกิจเห็นว่า “จำเป็นต้องเปิดประเทศ” และนายกรัฐมนตรีก็เห็นดีเห็นงามตามนั้น

อยากให้ผู้คนใช้ชีวิตปกติ โดยเฉพาะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เพื่อระบบเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปได้

แต่ความอยากกับความเป็นจริงไปด้วยกันหรือไม่ ตรงนี้น่าคิด

สองสามวันที่ผ่านมา เสียงจากหมอโดยเฉพาะผู้บริหารโรงพยาบาลใหญ่ๆ เรียงแถวกันออกมาชี้ให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อโควิดที่พบใหม่วันละ 3-4 พันคน ทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มจะรับไม่ไหว โรงพยาบาลเริ่มไม่มีเตียงเหลือ หมอต้องทำงานกันหนักเกินกำลัง ท่ามกลางอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ

รุนแรงถึงขั้นที่หมอบางท่านบอกว่า อาจจะถึงสถานการณ์ที่ต้องเลือกที่จะรักษาใคร และปิดโอกาสที่จะไปต่อของใคร

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

ทางออกที่หมอพยายามเรียกร้องคือ “ล็อกดาวน์พื้นที่ระบาด” อย่าง “กรุงเทพฯและปริมณฑล” อย่างน้อย 7 วัน เพื่อหยุดการติดเชื้อให้ได้

นั่นเป็นข้อเสนอที่ไปคนละทางกับ “เปิดประเทศ” ที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ดำเนินการไปแล้ว

จะเดินทางไหนกันแน่ เมื่อนักข่าวไปถามนายกฯคำตอบคือจะแน่ใจอย่างไรว่า “ล็อกดาวน์แล้วจะเอาอยู่” พร้อมกับตั้งคำถามกลับอีกหลายเรื่องเช่น “ใครไม่รักษากฎหมาย” หรืออะไรต่ออะไรที่ออกมาในเชิงเรียกร้องความร่วมมือ

แต่ควรจะมีคือ “การตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร โดยบอกเหตุผลให้ชัดเจนว่าเพราะอะไร” กลับไม่มี ไม่ได้ยินจากปากนายกรัฐมนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้สึกของประชาชนคือต้องเดินกันไปตามยถากรรม

ใครเบื่อหน่ายสิ้นหวังหนักๆ เข้าก็ “ฆ่าตัวตายไป” ไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีใครจะรู้สึกผิดที่สร้างแรงกดดันให้ประชาชนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตขนาดเลือกที่จะตายไปเสียดีกว่า

ไม่มีความหวังอะไรเลย

มาตรการแก้เศรษฐกิจยังซ้ำซากจำเจกับการแจกเงินให้ไปซื้อข้าวของ ซึ่งถึงวันนี้โครงการแบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความตื่นเต้นอะไรแล้ว เพราะแม้จะช่วยค่าใช้จ่ายได้บ้าง แต่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

ในทางป้องกันโรค ยังไม่มีอะไรดีขึ้น วัคซีนที่จะป้องกันยังไม่อยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อ ที่ราชการออกมาแถลงถึงความยุ่งยากในการทำตามแบบแผนของเอกสาร โดยภาวะฉุกเฉินไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา การหาที่ตรวจเพื่อให้รู้ว่าจะจัดการตัวเองอย่างไร ประชาชนแทบทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากรอให้ภาครัฐตัดสินว่าจะตรวจให้หรือไม่

แต่หากป่วยขึ้นมาจะเสี่ยงมากที่ต้องรอมารับไปหาหมอจนตาย ทั้งๆ ที่พยายามบอกกันว่าให้รีบไปพบแพทย์อย่าอยู่บ้านรักษาตัวเอง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น

ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามข่าว ยิ่งใกล้ชิดกับความเป็นไป ต่อการบริหารจัดการ ต่อการคิดการพูดของผู้มีหน้าที่ในทุกระดับจะยิ่งเครียด เพราะยิ่งฟังยิ่งยุ่งเหยิง ไม่มีภาพของการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นแนวทางให้แต่ละคนที่มีปัญหาจัดการตัวเองได้

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการทำมาหากิน ประกอบอาชีพ

หรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค

ไม่มีคำตอบแม้แต่จะต้องอยู่กับการบริหารจัดการแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ใครจะช่วยให้ดีขึ้นได้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image