จาก ‘เดลต้า’ ถึง ‘เดลต้าพลัส’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Unsplash)

เป็นที่รู้กันในหมู่นักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาว่า เชื้อโคโรนาไวรัสทุกชนิด “กลายพันธุ์” ได้เร็วมาก

ไม่ว่าจะเป็น โคโรนาไวรัส ชนิดที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโคโรนาไวรัส ที่ก่อโรคระบาดใหญ่ อย่าง ซาร์ส-โควี-2 ก็ตาม

เราเพิ่งคุ้นหูกับคำว่า “เดลต้า” หรือ “สายพันธุ์เดลต้า” กันมาไม่เท่าไหร่ ก็เริ่มมีตัวใหม่ ที่นักวิชาการที่อินเดีย เรียกว่า “เดลต้าพลัส” โผล่ขึ้นมาอีกแล้ว

เชื้อ “เดลต้า” หรือที่นักวิชาการเรียกว่า “บี.1.617.2” พบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้แพร่ระบาดไปในมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

กลายเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่สร้างความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญในแทบทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงๆ อย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ แม้แต่ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนให้ประชากรสูงที่สุดอย่างอิสราเอล

ทางการอิสราเอลต้องออกมาประกาศให้ใส่แมสก์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็เพราะอิทธิฤทธิ์ของเจ้า เดลต้า นี่แหละ

ในทางวิชาการ ยอมรับกันทั่วไปว่า เดลต้า แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ในบรรดา “แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อัลฟา หรือสายพันธุ์เคนท์ (บี.1.1.7) เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (บี.1.351) และ แกมมา สายพันธุ์กลายพันธุ์จากบราซิล (พี.1) ก็ตาม

Advertisement

เมื่อเทียบกับอัลฟา เดลต้า จะแพร่ได้เร็วกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเชื่อกันว่า ทำให้เกิดอาการป่วยหนักกว่าเชื้ออัลฟา ถึงเท่าตัว

วัคซีนทุกตัวเท่าที่มี ก็ลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง เมื่อเผชิญกับเชื้อเดลต้า เหล่านี้คือเหตุผลที่แม้แต่คนอย่าง แอนโธนี ฟาวซี หัวหน้าทีมเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา ต้องออกปากว่า เจ้านี่คือ “ตัวอันตราย” ที่แท้จริง

การกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็น “กลไก” ในการ “อยู่รอด” โดยธรรมชาติของไวรัส ยิ่งมันแพร่ได้มากเท่าใด เร็วขึ้นเท่าใด โอกาสอยู่รอดของมันก็มีมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้ ในอังกฤษ, สหภาพยุโรป และแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์เหมือนกันหมดว่า ไม่นาน เดลต้า จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลักอยู่ในประเทศเหล่านั้น

ในสายพันธุ์เดลต้า มีจุดกลายพันธุ์อยู่ 10 จุด ทุกจุดเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยน “สไปค์โปรตีน” ซึ่งใช้ในการ “ยึดจับ” กับ “เอซ2” (ACE2) ที่เป็นตัวรับในเซลล์ของมนุษย์

ไมค์ ไรอัน คุณหมอที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการแผนกโครงการฉุกเฉินทางสุขภาพขององค์การอนามัยโลก บอกว่า การกลายพันธุ์ของเดลต้า ทำให้มันแพร่ได้เร็ว แข็งแกร่งกว่า จับเกาะกับเซลล์ในร่างกายของคนกลุ่มเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพกว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งหลาย

จุดกลายพันธุ์ 3 จุดในสายพันธุกรรมของ เดลต้า ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่ E484Q, L452R และ P614R

แล้ว “เดลต้าพลัส” ล่ะคืออะไร?

“เดลต้าพลัส” เป็นสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก “เดลต้า” อีกต่อหนึ่ง

มีรายงานการตรวจพบ “เดลต้าพลัส” ครั้งแรก ซึ่งยังไม่มีการใช้ชื่อเรียกนี้ แต่เรียกด้วยชื่อทางวิชาการว่า “เอวาย.1” (AY.1) ใน “พับลิค เฮลธ์ อิงแลนด์ บุลเลติน” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา
พอถึงวันที่ 16 มิถุนายน มีการตรวจพบว่า “เดลต้าพลัส” นี้ระบาดอยู่ใน 11 ประเทศแล้ว

พอถึงวันที่ 23 มิถุนายน กระทรวงสาธารณสุขอินเดียก็รายงานว่า พบผู้ป่วยด้วยเชื้อซึ่งทางการอินเดียเรียกว่า เดลต้าพลัส นี้ อยู่ 40 ราย

ถึงตอนนี้ มีผู้ป่วยจากเดลต้าพลัส แล้ว 197 รายใน 11 ประเทศ รวมทั้ง 83 รายในสหรัฐอเมริกา

“เดลต้าพลัส” นอกจากจะมีจุดกลายพันธุ์สำคัญครบถ้วนเหมือนกับ “เดลต้า” แล้ว ยังเพิ่มการกลายพันธุ์ที่สำคัญอีกจุด นั่นคือ K417N

การกลายพันธุ์ที่จุดนี้เรียกความสนใจจากนักวิชาการได้ชะงัด เหตุผลเป็นเพราะ มันเป็นส่วนของการกลายพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ใน “เบต้า แวเรียนท์” หรือ “บี.1.351” จากแอฟริกาใต้

แล้วก็มีรายงานทางวิชาการเคยบอกเอาไว้ว่า มันทำให้เชื้อมีคุณสมบัติ “เลี่ยงหนี” จากภูมิคุ้มกันในร่างกายคนได้นั่นเอง

ถึงตอนนี้ มีอินเดีย ประเทศเดียวที่ประกาศให้ “เดลต้าพลัส” เป็น “แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น” คือเป็นการกลายพันธุ์ที่น่าวิตก

เหตุผลก็คือ มันแพร่ได้เร็วกว่าเพราะมีการกลายพันธุ์แบบเดียวกับเดลต้า ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้เชี่ยวชาญของอินเดียพบว่า มันยึดจับกับ “เอซ2” ของเซลล์ในปอดได้แน่นหนาแข็งแรงกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่นใดทั้งหมด แถมยังรักษายากกว่าทุกสายพันธุ์

เพราะยาที่ทำจากแอนติบอดี โมโนโคลนัล ซึ่งได้จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ใช้กับ เดลต้าพลัส ไม่ได้ผลเลยนั่นเอง

นี่คือความน่ากลัวของ “เดลต้าพลัส” ที่อีกไม่ช้าไม่นานเราคงคุ้นหูกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image