ภาษีที่หายไปของ กทม. ใครว่าไม่น่าห่วง

ภาษีที่หายไปของ กทม.ใครว่าไม่น่าห่วง

ภาษีที่หายไปของ กทม.
ใครว่าไม่น่าห่วง

พ.ศ.2563 จะต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์โลกและประเทศไทยว่าได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อการทำมาหากินของผู้คนนับล้าน ต่อสุขภาพและความเสี่ยงต่อชีวิต และผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจังหวัด/ประเทศ รวมทั้งการคลังภาครัฐ ในโอกาสนี้ขอนำผลข้อมูลด้านการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นชั้นนำที่มีความเป็นมายาวนาน เพราะว่ารายได้นั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของ อปท. อาจส่งผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณะและคุณภาพชีวิตประชาชนในท้ายที่สุด

ความจริงมีสองเหตุการณ์ที่ส่งผลทางลบต่อการคลังท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกเหนือจากโรคระบาดและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ คือความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายภาษีท้องถิ่น นั่นคือ การนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้พร้อมกับยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องถิ่น เดิมทีคาดหมายว่าภาษีตัวใหม่จะช่วยขยายฐานภาษีและเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. แต่ผลกลับไม่เป็นดังคาด เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศให้ อปท.จัดเก็บจริงเพียง 10% ของมูลค่าภาษีตัวใหม่เป็นการชั่วคราว คือสมมุติว่าประเมินภาษีแล้วจะต้องชำระ 1,000 บาท แต่ให้ อปท.จัดเก็บได้เพียง 100 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเดือดร้อนต่อผู้มีที่ดินอาคารโรงเรือน เป็นสาเหตุทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลงอย่างในปี 2563 ไม่เฉพาะ กทม.เท่านั้น

นักวิจัยได้รับความกรุณาจากฝ่ายการคลัง กทม. กรุณาให้ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ซึ่งนำมาประมวลกับข้อมูลในอดีต แสดงผลในตารางหรือรูปภาพ รูปภาพแรกผลการจัดเก็บรายได้ของ กทม.จากภาษี 3 ประเภท คือ ภาษีบำรุงท้องถิ่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาเคยจัดเก็บได้เกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

Advertisement

ภาษีที่หายไปของ กทม. ใครว่าไม่น่าห่วง

ตัวเลขปี 2563 ยืนยันว่าไม่ผิดครับ รายได้ลดลงไปหรือติดลบ -84% เทศบาลและ อบต.อื่นๆ ก็คงเผชิญเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คำถามตามมาคือ ถ้าหากท่านเป็นผู้บริหาร กทม. หรือเทศบาลจะดำเนินการอย่างไรภายใต้สภาวะบีบคั้นเช่นนี้? แนวทางน่าจะเป็นไปได้คือ หนึ่ง นำเงินสะสมในอดีตมาใช้จ่ายเพราะว่าภาระการให้บริการประชาชนไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามเพิ่มขึ้นเพราะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบ รายจ่ายด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคระบาดก็หนักหนาสาหัส สอง ขอร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเพราะว่าการลดอัตราภาษีไปถึง 90% ที่ควรจะเก็บได้ 100 บาทเหลือเพียง 10 บาท เป็นผลกระทบภายนอกจากรัฐบาล ไม่ใช่การตัดสินใจของท้องถิ่น สาม กู้ยืม (เพราะว่าเงินสะสมอาจจะไม่เพียงพอ อนึ่งว่าด้วยการดำรงเงินสะสมของ
ท้องถิ่นนั้น มีเงื่อนไขต้องดำรงเงินสำรองขั้นต่ำ ไม่ใช่ว่าจะนำเงินสะสมมาจ่ายได้หมดเกลี้ยง เพื่อเป็นหลักประกันว่า อปท.มีเงินพอจะจ่ายเงินเดือนหรือค่าใช้จ่ายดำเนินการประจำที่จำเป็น

ภาษีที่หายไปของ กทม. ใครว่าไม่น่าห่วง

Advertisement

กทม.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้ 50 สำนักงานเขต กทม.มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการคลังเช่นเดียวกับ อปท.อื่นๆ คือกล่าวพื้นที่ชั้นใน-มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เป็นที่ตั้งของโรงแรม ร้านค้า บริษัทห้างร้าน เป็นย่านที่อยู่อาศัยคนรวย เช่น เขตบางรักและปทุมวัน ในตรงกันข้ามพื้นที่รอบนอกจริงอยู่มีบ้านเรือนอาศัยแต่ร้านค้าแหล่งธุรกิจน้อย รูปภาพที่สอง ในแนวตั้งหมายถึง รายได้ภาษีของ 50 สำนักงานเขต (log scale) มีความแตกต่างกันมากใน 50 สำนักงานเขต แกนนอนหมายถึงการเรียงลำดับ (1, 2, …50) เป็นการวิเคราะห์ตามกฎยกกำลัง (Power law หรือ Zipf law) รูปกราฟนี้เหมาะกับการอธิบายปรากฏการณ์กระจุกตัวมากๆ (หมายเหตุ เป็นตัวเลขปี 2562 ก่อนโควิดระบาด) เขตปทุมวันเป็นลำดับที่หนึ่งสร้างรายได้เข้า กทม. 1,500 ล้านบาท ตามด้วยเขตวัฒนา เขตบางรัก เขตห้วยขวาง เขตราชเทวี เป็นต้น

ช่วงเวลามิถุนายน-สิงหาคม เป็นช่วงเวลาเตรียมการงบประมาณของภาครัฐ/และท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจรายได้ซึ่งนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายเป็นพิเศษ ด้วยความห่วงใยและเห็นใจทุกองค์กรภาครัฐที่อยู่ในภาวะบีบคั้นทางการเงินการคลังด้วยกันทั้งสิ้น คงไม่สมควรที่จะตำหนิติติงใครว่ามาตรการแทรกแซงของรัฐไม่ดีหรือไม่เหมาะกับกาลเทศะ อดทนรอคอยให้ภาวะโรคระบาดเมื่อโรคร้ายซาไปแล้วสถานการณ์คงจะดีเอง อย่างน้อยที่สุดได้ข้อคิดว่า การมีเงินสะสมหรือเงินสำรองเป็นภูมิคุ้มกันชั้นยอด เป็นหนึ่งในคุณสมบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พวกเราควรน้อมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
พิชิต รัชตพิบุลภพ
เมรดี อินอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image