คอลัมน์หน้า 3 : คำว่า บูรณาการ กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาท ภูมิใจไทย

คอลัมน์หน้า 3 : คำว่า บูรณาการ กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาท ภูมิใจไทย

คอลัมน์หน้า 3 : คำว่า บูรณาการ กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาท ภูมิใจไทย

ผลสะเทือนจากความขัดแย้งในการฉีดวัคซีน ณ สถานีกลางบางซื่อ กำลังกลายเป็น “กรณีศึกษา” อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

นี่มิใช่การชี้เป้าจาก “เพื่อไทย” หรือ “ก้าวไกล”

มิได้เป็นผลงานการวิเคราะห์หรือตั้งข้อสังเกตจาก โทนี่ วู้ดซัม มิได้เป็นการสังเคราะห์แหลมคมจาก เอก ธนาธร

Advertisement

ตรงกันข้าม มาจาก “ภายใน” ของ “รัฐบาล”

สะท้อนให้เห็นบทสรุปอันแหลมคมยิ่งของนักวิชาการแห่งทีดีอาร์ไอที่ว่า ความล้มเหลวจากกรณีโควิดเนื่องแต่ความไม่เป็นเอกภาพของ 2 พรรคการเมืองใหญ่

นั่นคือ “พลังประชารัฐ” กับ “ภูมิใจไทย”

Advertisement

แต่พลันที่โฆษกของ ศบค.ได้เล่นบทเป็น “หลวงมุ่งกระแทกกลาง” โดยพุ่งเป้าไปยังพรรคภูมิใจไทย

ความร้อนแรงก็โยงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความละเอียดอ่อนอันเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ภายในการบริหารจัดการ “วัคซีน” ทวีความร้อนแรงเมื่อโควิดใน กทม.และปริมณฑล กลายเป็นประเด็น

เป็นประเด็นแห่งการไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากไม่ร้ายแรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ลงมาดำรงอยู่ในสถานะของผู้อำนวยการ ศบค.กรุงเทพมหานคร

แต่เมื่อปัญหาจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับ “วัคซีน”

ความร้อนแรงของปัญหาก็ปะทุขึ้น ไม่ว่าจะมองไปยังกรณีการฉีดที่คลองเตย ไม่ว่าจะมองไปยังกรณีการฉีดที่บางซื่อ

แม้มิได้มีการเขียน “ป้ายผ้า” เหมือนกับที่ “คลองเตย”

แต่บทบาทหลัก ณ สถานีกลางบางซื่อ เป็นของพรรคภูมิใจไทย จึงย่อมมีอาการกระบอกตาร้อนผ่าวเกิดขึ้นที่พรรคพลังประชารัฐ

เพียงแต่ส่งผ่านมาทางด้าน “ศบค.” เท่านั้น

ศบค.ได้กลายเป็น “กองหน้า” ในการตั้งข้อสังเกตไปยังสถานีกลาง บางซื่อ อันเป็นจุดเด่นและเป็นผลงานโดยตรงของพรรคภูมิใจไทย

คำว่า “วอล์ก อิน” ก็มีบางซื่อเป็นหัวหอก มิใช่หรือ

และคำว่า “วอล์ก อิน” ก็ริเริ่มขึ้นอย่างเปี่ยมด้วยความหวังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งแม้จะถูกเบรกโดยเสนอ “อิน ไซด์” เข้ามาแทน

แต่พรรคภูมิใจไทยก็ยังเน้น “วอล์ก อิน” ไม่แปรเปลี่ยน

ความร้อนแรงของสถานีกลางบางซื่อ จึงอยู่ที่การแสดงบทบาทอย่างออฟไซด์ ของ ศบค.ประหนึ่งเป็นปากเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐ

“ปฏิกิริยา” จึงมาจาก “ภูมิใจไทย” โดยอัตโนมัติ

โดยภาพภายนอกคล้ายกับเป็นการสาดน้ำร้อนอันมาจากพรรคพลังประชารัฐ และการเอาคืนโดยคนของพรรคภูมิใจไทย

แต่ในที่สุดก็ถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงกรณีของสถานีกลางบางซื่อ แห่งเดียวก็กลายเป็น “ตัวอย่าง” อันเป็นเงาสะท้อนแห่งการขาดไร้ซึ่งลักษณะ “บูรณาการ” ทางการบริหาร

เป็นรูปธรรมอ่อนด้อยในเชิง “การนำ”

ไม่ว่าจะเป็นการนำของพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็นการนำของพรรคภูมิใจไทยที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ทุกสายตาจึงมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image