สุรชาติ บำรุงสุข : ละครใกล้ลาโรงแล้ว!

หากเปรียบเทียบการเมืองไทยเป็นละครโรงใหญ่แล้ว การแสดงของ “คณะสามทหาร” ที่ลงโรงมาตั้งแต่ปี 2557 กำลังดำเนินมาจนถึงจุดสุดท้ายของเรื่อง เสียงของผู้ชมมีแต่ตะโกนขับไล่ให้เลิกการแสดง แทบจะหาคนชื่นชมการแสดงนี้ไม่ได้เลย จนเป็นดังสัญญาณว่า ใกล้เวลาที่ละคร “คณะสามทหาร” จะลาโรงแล้ว!

ถ้าเป็นเรื่องของคณะละครก็คงไม่ยาก เมื่อผู้ชมไม่ซื้อตั๋วเข้าไปดูการแสดง สุดท้ายแล้ว คณะละครนั้นก็ต้องปิดฉาก และยุติการแสดงไปเอง… เมื่อไม่มีผู้ชม การแสดงย่อมต้องเลิกลา เพราะไม่คณะละครใดสามารถบังคับให้ผู้ชมต้องทนดูในสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ

แต่ “คณะสามทหาร” ในการเมืองไทย แตกต่างออกไป พวกเขาไม่ยอมเลิกการแสดง และต้องการที่จะอยู่ในเวทีต่อไปให้ได้อย่างยาวนาน เสมือนหนึ่งเป็นการใช้อำนาจบังคับให้ประชาชนที่เป็นดังผู้ชมต้องยอมทนอยู่กับการแสดงของ “คณะสามทหาร” นี้ ทั้งที่เสียงเรียกร้องให้ละครคณะนี้ปิดการแสดงดังไปทั่ว

ผู้นำทหารเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐตั้งแต่รัฐประหาร 2557 และใช้การเลือกตั้งในตอนต้นปี 2562 เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนตนเองจาก “รัฐบาลทหาร” มาเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” … การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงปัจจัยในการลดทอนแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร และขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้รัฐบาลใหม่ของผู้นำรัฐประหารไม่ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองมากเกินไป อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำรัฐบาลทหารว่ามาจากการเลือกตั้ง

Advertisement

แต่การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน และไม่มีผลงานเชิงนโยบายเป็นที่ประจักษ์ ย่อมทำให้รัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และยิ่งเมื่อรัฐบาลล้มเหลวกับการบริหารจัดการวิกฤตโคคิด-19 ด้วยแล้ว ผลที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การที่รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากประชาชนอย่างหนัก อันอาจกล่าวได้ว่า ไม่มียุคใดสมัยใดที่ผู้คนในสังคม จะส่งเสียงต่อต้านรัฐบาลมากมายเท่านี้ อีกทั้งยังน่ากังวลอย่างมากกับการยกระดับของความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นจากการส่งข้อความของประชาชนในหลายภาคส่วน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความ “เกลียดชัง” และการ “ไม่ไว้ใจ” รัฐบาล… ไม่เคยมีครั้งไหนเลยในการเมืองไทย ที่คนในสังคมเป็นจำนวนมากจะแสดงออกถึงการต่อต้านผู้นำรัฐบาลเช่นในปัจจุบัน

เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยที่กำลังถูกทำลายจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดความ “คับแค้นใจ” ทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อรัฐบาล ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่า วิกฤตการเมืองโควิด-19 ที่เกิดในขณะนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรในอนาคต

ทฤษฎีของวิชารัฐศาสตร์ถือว่าการขยายตัวของ “ความเกลียดชัง” ที่ผสมผสานเข้ากับ “ความคับแค้นใจ” ทางการเมืองในท่ามกลางวิกฤตคือ แนวโน้มของการเกิดความรุนแรงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือข้อสังเกตทางทฤษฎีในอีกด้านหนึ่งคือ วิกฤตการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ และอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีวิกฤตชุดใดจบลงโดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

Advertisement

ดังนั้น การแก้ปัญหาวิกฤตจึงมีความหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง เพราะวิกฤตที่เกิดเป็นคำตอบในตัวเองว่า นโยบายเดิมของรัฐบาลประสบความล้มเหลว หรือในอีกระดับหนึ่งคือ การแก้ไขวิกฤตอาจมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมืองด้วย การที่ระเบียบทางการเมืองใหม่ถือกำเนิดขึ้นนั้น เป็นเพราะระบอบการเมืองเก่าไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดในสังคมได้ อีกทั้งวิกฤตดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของระบอบเดิม และรวมถึงการไร้ความสามารถของผู้นำในระบอบนั้น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อวิกฤตจบลง สังคมจึงต้องการเปลี่ยนทั้งระเบียบการเมืองเก่า และกลุ่มผู้นำเก่าออกไปพร้อมกัน

ตัวอย่างของวิกฤตขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการจัดระเบียบใหม่ทางการเมืองของไทย ได้แก่

การสิ้นสุดของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่จบลงด้วยการสิ้นสลายของระบอบทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร ในที่สุด คณะสามทหารของปี 2516 ต้องเดินทางลี้ภัยออกจากประเทศไทย ชัยชนะครั้งสำคัญของนักศึกษาประชาชนในปีดังกล่าวทำให้เกิดระเบียบการเมืองใหม่ คือ การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากของ “คณะทหาร 2490” ที่สืบอำนาจต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหารครั้งนั้น และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของผู้นำทหารที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เช่นเดียวกัน ชัยชนะของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร 2534 ต้องยุติลง และนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจทางการเมือง-การทหารของคณะทหาร “รุ่น 5” ที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้นำ อันมีนัยคือ การปิด “ยุครุ่น 5” ในการเมืองไทย ซึ่งนายทหารรุ่น 5 เป็นกลุ่มทหารที่มีอำนาจอย่างมากในการเมือง “ยุคหลังยังเติร์ก”

ชัยชนะจากการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนำไปสู่สภาวะของ “การเมืองยุคหลังปี 35” หรือเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังปี 2516 อีกทั้งยังเกิดผลสืบเนื่องที่นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระเบียบใหม่ในการเมืองไทยร่วมสมัย

ดังได้กล่าวแล้วว่า วิกฤตย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ พร้อมกันนี้ ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ของไทยเองก็เริ่มก่อตัวขึ้นจากการต่อสู้เรียกร้องขนาดใหญ่ของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ แทบไม่ต่างจากปี 2516 และปี 2535 อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ให้คำตอบที่ท้าทายอย่างมากว่า วิกฤตใหญ่ในการเมืองไทยมักจบลงด้วยการสิ้นสุดอำนาจของระบอบทหาร ฉะนั้น จึงน่าสนใจว่า วิกฤต 2564 จะจบลงเช่นไร?

แต่วันนี้เห็นชัดว่า ละครกำลังลาโรง… ไม่มีใครอยากชมการแสดงของ “คณะสามทหาร” อีกแล้ว… พอกันที!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image