หน้า 3 วิเคราะห์ : ซีรีส์ ม็อบ สัญญาณ รุนแรง ต้องการ เปลี่ยนแปลง

หน้า 3 วิเคราะห์ : ซีรีส์ ม็อบ สัญญาณ รุนแรง ต้องการ เปลี่ยนแปลง

หน้า 3 วิเคราะห์ : ซีรีส์ ม็อบ สัญญาณ รุนแรง ต้องการ เปลี่ยนแปลง

การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เพราะจำนวนผู้เข้าร่วมมีมากขึ้น และพื้นที่การชุมนุมก็มีมาก

ล่าสุด ยังมีแนวโน้มของความรุนแรงจากการชุมนุมและการสลายการชุมนุมชัดแจ้งขึ้น

การชุมนุมของกลุ่ม “คาร์ม็อบ” ที่มี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ก่อตัวจากกลุ่มคน กลายเป็นฝูงชน และเติบโตจนสัมผัสได้ถึงจำนวน

Advertisement

การชุมนุมของกลุ่มคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เป็นที่ประจักษ์

และหลังจากการชุมนุมในวันนั้น ได้มีการนัดหมายชุมนุมกันวันที่ 7 สิงหาคม และนัดชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม

เป็นซีรีส์ม็อบที่รวมตัวเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเสนอที่กลุ่มตัวเองเคยเรียกร้อง

Advertisement

ทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ที่นัดชุมนุมวันที่ 7 สิงหาคม

ทั้งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นัดหมายกันวันที่ 10 สิงหาคม

หัวข้อการชุมนุมยังคงเหมือนเดิม

การเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งนี้แม้จะมีข้อเสนอเดิมและกลุ่มเคลื่อนไหวเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มคือดีกรีความรุนแรงมีสูงขึ้น

สูงขึ้นจากปริมาณผู้ชุมนุม ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม รัฐบาลได้ประกาศห้ามชุมนุมทั่วประเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมในระยะต้นดูในวันชุมนุม หลังจาก นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประกาศยุติ กลับเกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก แต่เดินหน้าไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กระทั่งเกิดการสลายการชุมนุม มีการใช้น้ำฉีด ใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง

สำหรับการชุมนุมวันที่ 7 และวันที่ 10 สิงหาคม รัฐบาลก็ประกาศห้ามชุมนุมทั่วประเทศอีกครั้ง พร้อมตระเตรียมมาตรการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่

การเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณอันตรายออกมาเป็นระยะ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข นับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อปี 2557

ในปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง และเข้าบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ความหวังต่อคนไทยทั้งเรื่องปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดอง

ขับกล่อมคนไทยด้วยถ้อยคำ “คืนความสุขให้ประเทศไทย” โดย “ขอเวลาอีกไม่นาน”

แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาบริหารราชการแผ่นดินมา 7 ปี กลับปรากฏว่าการปฏิรูปไม่สำเร็จและความขัดแย้งยังทวีความรุนแรง

ประเด็นความขัดแย้งในยุคสมัยหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 จุดชนวนขึ้นหลังกลไกของรัฐธรรมนูญทำงาน

ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยุบพรรคอนาคตใหม่ที่คนรุ่นใหม่เทคะแนนเสียงเลือก การเมืองในสภาไม่สามารถเป็นตัวแทนพวกเขาได้

การเคลื่อนไหวนอกสภา เริ่มปะทุ

ยิ่งเมื่อผนวกกับคำหยามหมิ่นจากฝ่ายความมั่นคงมองการเคลื่อนไหวของเยาวชนว่า “เป็นม็อบเด็กๆ” ยิ่งปลุกเร้าให้ “เด็กๆ” ลุกฮือทั่วประเทศ

ปริมาณผู้ชุมนุมทำให้รัฐบาลเริ่มได้ยิน การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาแต่ละแห่งต่างแสดงออกกันอย่างเสรี

กระทั่งก่อเกิดเป็นแนวร่วมขบวนการที่พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง

วันที่ 10 สิงหาคมนี้ เป็นวันครบ 1 ปี ของการประกาศข้อเรียกร้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่กระแสต่อต้านรัฐบาลปลุกขึ้น การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เปิดตัวรถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาที่บริเวณแยกปทุมวันก็กระตุ้นให้เกิดความโกรธเกลียดเจ้าหน้าที่

การชุมนุมที่มีพลังทำให้รัฐสภาประชุมหาทางแก้ไข ใช้ “การเมือง” แก้ปัญหา โดยสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกตั้งใหม่

แรงกดดันทำให้ข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใกล้ความจริง

แต่แล้วพรรคพลังประชารัฐแกนนำฝ่ายรัฐบาลก็พลิกผันจากเดิมสนับสนุนกลายเป็นคัดค้าน กลไกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เริ่มทำงานอีกครั้ง

ทำให้การแก้ไขรัธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยุติ

รัฐสภาที่เดิมตั้งใจเป็น “ทางออก” กลับกลายเป็น “ทางตัน”

แม้บัดนี้จะมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการแก้ไขเพื่อสนองตอบพรรคการเมือง

หนทางที่จะให้รัฐสภาเป็นทางออกถูกปิดลง

เมื่อหนทาง “การเมือง” แก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องไม่ได้ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็จดจ้องที่จะลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็ใช้มาตรการทางกฎหมายและใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการตอบโต้

พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนความคิดจากเดิมออกปากให้ใช้กฎหมายบางข้อ แต่ภายหลังสั่งให้ใช้กฎหมายทุกฉบับเข้าจัดการ

ขณะที่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมในระยะหลังมีขั้นตอนเข้าสู่การสลายการชุมนุมที่เร็วขึ้นและแรงขึ้น

แรงขึ้นถึงระดับใช้กระสุนยาง

ในการชุมนุมแต่ละครั้งเริ่มมีเหตุการณ์สอดแทรก เกิดความรุนแรงที่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความรุนแรง

การชุมนุมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างล่าสุด

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าปฏิบัติการเป็นไปตามหลักสากล รวมถึงการใช้ปืนจ่อหัวผู้ขี่รถจักรยานยนต์

มุมมองของเจ้าหน้าที่แตกต่างจากฝ่ายสิทธิมนุษยชนที่มองว่าเจ้าหน้าที่ทำรุนแรงเกินเหตุ

ลักษณาการเช่นนี้ส่งสัญญาณว่าความรุนแรงพร้อมเกิดขึ้น

ด้านการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ยามนี้กำลังถดถอย สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่เคยเป็นจุดเด่นของรัฐบาลเพราะสามารถควบคุมการระบาดได้ดี

บัดนี้กลับกลายเป็นร้าย

คนไทยได้รับทุกขเวทนาจากการระบาด ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้น ตัวเลขผู้ป่วยก็พุ่งแรง เนื่องจากการบริหารจัดการวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์

เมื่อแนวระวังป้องกันโรคพังทลาย ปัญหาการบริหารจัดการก็กลายเป็น “หอกแหลม” ที่คอยทิ่มตำใส่ พล.อ.ประยุทธ์ทุกวัน

กระทั่งมีกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน และผู้ที่ทนเห็นคนไทยด้วยกันเดือดร้อนไม่ได้ต่างออกมา Call Out โดยรัฐบาลใช้วิธีตอบโต้กลับด้วยกฎหมาย

ตอบโต้กลุ่ม Call Out เหมือนกับการตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม

ผลที่เกิดขึ้นคือคนยิ่ง Call Out มากขึ้น เพราะพวกเขาต้องการให้รัฐบาลทราบว่ากำลังเดือดร้อน

นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนาน และไม่มีผลงานเชิงนโยบายเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับ

ยิ่งเมื่อรัฐบาลล้มเหลวกับการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ผลที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากประชาชนอย่างหนัก

นอกจากนี้ยังน่ากังวลอย่างมากกับการยกระดับของความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นจากการส่งข้อความของประชาชนในหลายภาคส่วน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความ “เกลียดชัง” และการ “ไม่ไว้ใจ” รัฐบาล

นายสุรชาติยกทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มาอธิบายว่า ถือว่าการขยายตัวของ “ความเกลียดชัง” ที่ผสมผสานเข้ากับ “ความคับแค้นใจ” ทางการเมืองในท่ามกลางวิกฤต คือ แนวโน้มของการเกิดความรุนแรงทางการเมือง

และอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีวิกฤตชุดใดจบลงโดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ทางการแก้ปัญหาวิกฤต จึงต้องเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง

เมื่อนโยบายเดิมล้มเหลว การแก้ไขวิกฤตก็คือการเปลี่ยนแปลง

การชุมนุมทั้งที่เกิดขึ้นมาในอดีต และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ถือเป็นวิกฤตที่รัฐบาลกำลังเผชิญหน้า

ทั้งม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งคาร์ม็อบบีบแตรไล่นายกฯ และเสียง Call Out

ทุกความเคลื่อนไหวที่ส่งเสียงและแสดงออก เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image