อาศรมมิวสิก : ดนตรีอีสาน ผู้ไท ลาว และเขมร

อาศรมมิวสิก : ดนตรีอีสาน ผู้ไท ลาว และเขมร ผมได้เลือกวัฒนธรรมเพลงอีสาน

ผมได้เลือกวัฒนธรรมเพลงอีสาน ซึ่งมีลาว ผู้ไท และเขมร โดยนำทำนองเพลงพื้นบ้านมาเรียบเรียงใหม่ สำหรับบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) เนื่องจากผมมีความรู้น้อยก็เรียกวัฒนธรรม “ภูไท” ตามที่ราชการเขาเรียกกัน แต่ผมก็โชคดีที่ได้รับการทักท้วงจาก คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านได้ให้ความเห็นและให้หลักฐานว่า ภูไทนั้นเป็นชื่อเรียกกันตามรัฐราชการ ซึ่งเป็นการไปดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นชาวป่าชาวเขา ความจริงแล้วเขาเป็นคนไทยที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ไท” คำว่า ผู้ คือ คน หรือ “ผู้คน” ไม่ใช่ชาวป่าชาวเขา แต่เป็นพวกผู้ไท คือ ชาวไทย ผมจึงขอเปลี่ยนการเรียกเป็น “ชาวผู้ไท” หรือวัฒนธรรมของชาวผู้ไทแทน ตั้งแต่นี้ไป

ในพื้นที่ภาคอีสาน มีวัฒนธรรมลาวล้านช้าง วัฒนธรรมเพลงผู้ไท และวัฒนธรรมเพลงเขมร ซึ่งอีสานเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก มีบทเพลงที่หลากหลาย ได้พยายามที่จะจับทำนองเพลงหลักๆ เอามานำเสนอไว้ก่อน โดยลงพื้นที่เลือกสำรวจดนตรีในอุบลราชธานี ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ เลย นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ได้พบกับหมอลำ หมอแคน หมอพิณ ซึ่งเป็นคนสำคัญๆ ของแต่ละท้องถิ่น

เมื่อเมืองไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยโรคระบาดโควิด เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนวันที่แสดงและเปลี่ยนพื้นที่ถึง 3 ครั้งแล้ว โรคระบาดได้ส่งผลกระทบกับสังคมไทย นักดนตรี นักแสดง และงานวิจัยมากพอควร วิกฤตครั้งแรก เกิดโรคระบาดโควิด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 สร้างความตระหนกตกใจให้คนไทยมาก คนรู้สึกกลัวและต้องรับผิดชอบป้องกันตัวเอง ต้นเหตุการแพร่ระบาดมาจากสนามชกมวยลุมพินีรัฐบาลใช้โครงการโฆษณาว่า “ไทยชนะและเราจะไม่ทิ้งกัน”

วิกฤตการระบาดครั้งที่สองของโรคโควิด เกิดขึ้นต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 คนรู้สึกกลัวน้อยลง แต่สงสัยว่าทำไมรัฐบาลป้องกันไม่ได้ การระบาดของโรคโควิดกินเวลานานหลายเดือน ต้นตอโรคระบาดมาจากบ่อนการพนันที่ชลบุรี ตราด จันทบุรี นนทบุรี และที่กรุงเทพฯ รัฐบาลโฆษณาด้วยโครงการ “เราชนะและหมอชนะ” เพื่อสร้างความเชื่อถือให้คนในสังคม

Advertisement

วิกฤตโรคระบาดครั้งที่สาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-10 เมษายน พ.ศ.2564 คนในสังคมไม่เชื่อถือการควบคุมโรคระบาดตามมาตรการของรัฐอีกต่อไป การแพร่ระบาดมาจากสถานบันเทิง (คลับและผับ) พื้นที่สถานบันเทิงซอยทองหล่อ (คริสตัลคลับและเอมเมอรัลด์ผับ) กรุงเทพฯ มีพื้นที่อื่นๆ อาทิ เกาะช้าง ชลบุรี สระแก้ว คนที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง คนที่มีตำแหน่ง อธิบดี รัฐมนตรีติดโรคระบาดโควิด ครั้งนี้ต้องปิดเมืองกันยาวนาน วันนี้มีผู้คนล้มตายไปแล้ว 6 พันกว่าคนผู้ป่วยติดโรคระบาดโควิด 8 แสนกว่าคนแล้ว

เดิมได้กำหนดจัดการแสดงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย แต่ก็ต้องรอประกาศจากรัฐเรื่องพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด รอการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่นักดนตรีและคนทำงาน รออยู่ 3 เดือนแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ จะไปแสดงที่เชียงคาน ริมแม่น้ำโขง จังหวัดเลย เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่สีแดง แต่โรคระบาดก็ไม่มีวี่แววว่าจะหยุด กลับขยายพื้นที่ระบาดมากขึ้น

พื้นที่ล่าสุด ได้เลือกที่ลานพญานาค นครพนม ก็พบสิ่งที่เป็นปัญหาใหม่ว่า สายการบินไม่ได้บินเสียแล้ว การเดินทางก็ยากลำบาก ที่พักโรงแรมก็มีเงื่อนไขหมด ที่สำคัญคือ ทุกคนกลัว ไม่มีใครเชื่อมั่นอะไรอีกต่อไป เริ่มไม่เชื่อมั่นแม้ตัวเอง ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือเป็นผู้แพร่เชื้อกันแน่ จนกลายเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการโรคระบาดของรัฐ รัฐบาลไม่มีราคาความน่าเชื่อถือเหลืออีกต่อไป

Advertisement

สำหรับเรื่องราวการแสดงดนตรี ในการเดินทางของนักดนตรี คนทำงาน กองถ่ายทำโทรทัศน์ อุปกรณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตอนนี้ขยับตัวและเคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องปิดบ้านปิดเมือง แถมต้องปิดปากและปิดจมูก แม้จะยังเปิดหูเปิดตาและเปิดใจได้ แต่ก็ออกไปแสดงดนตรีที่ไหนไม่ได้ ซึ่งก็ยังไม่รู้อนาคตเลยว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน

ระหว่างที่รอการแสดงดนตรีอยู่ในที่ตั้ง ก็วางแผนเตรียมพร้อมในการเรียบเรียงเสียงประสานเพลง การส่งเพลงให้นักดนตรีได้ฝึกซ้อม (ส่วนตัว) เหลือไว้เฉพาะวันเวลาและรอเมื่อท้องฟ้าเปิดรอเมื่อโรคระบาดโควิดซาลง การแสดงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่ลานพญานาคก็จะเกิดขึ้นทันที เพื่อจะเรียกขวัญกำลังใจเพื่อจะเล่นดนตรีไล่โรคห่า และเพื่อจะสร้างความอบอุ่น เรียกขวัญเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

รายการแสดง ได้เชิญหมอขวัญ หมอแคน หมอลำ หมอพิณ เพื่อทำพิธีเรียกขวัญ เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณ เป็นการเบิกฟ้าใหม่ให้ชีวิตกลับคืนมา เพื่อให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้ความเชื่อมั่นและมอบความสุขทางใจ เพื่อให้มีพลังที่จะต่อสู้ชีวิตอย่างมีความหวังต่อไป

หมอแคนและหมอเหยา (หมอขวัญหรือหมอผี) เป็นหนุ่มชาวผู้ไท จากเมืองเรณูนคร นครพนม ชื่อ นายโต๋ (ชัยวัฒน์ โกพลรัตน์) ชาวผู้ไทใช้พิณและแคน สำหรับทรงเจ้าเข้าผีเพื่อรักษาโรค อ่านคาถาและทำพิธีหมอผีที่ใต้ต้นมะเฟือง บางทีก็เรียกว่าผีมะเฟืองหรือหมอเหยา หมอขวัญทำหน้าที่เป็นผู้เรียกขวัญ หมอขวัญจะเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือสูง เป็นเจ้าพิธี และมีโอกาสเล่นดนตรีบ่อยๆ เพื่อสื่อสารระหว่างคนกับผี คนกลัวผีหรือคนที่นับถือผี จะต้องจ่ายค่าพิธีกรรมและนั่งสมาธิฟังเพลงของหมอผี

ชาวผู้ไท (ไทดำ) มีสำเนียงเพลงเฉพาะที่โดดเด่นมาก มีเพลงที่บรรยายธรรมชาติ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพและวัฒนธรรม อาทิ ศรีโคตรบูร ลายผู้ไทน้อย ผู้ไทใหญ่ ผู้ไทเลาะตูบ ผู้ไทสามเผ่า ผสมกับเพลงลาวสมัยนิยม อาทิ ต้อนวัวขึ้นภู ลมพัดพร้าว แม่ฮ้างกล่อมลูก แมงภู่ตอมดอก กาเต้นก้อน เพลงเหล่านี้เป็นตำราดนตรีที่สำคัญของเพลงอีสาน ซึ่งเป็นเพลงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพลงชั้นครูของอีสาน ถ่ายทอดเพลงผ่านเสียงพิณ แคน ปี่ โหวด โปงลาง สืบต่อกันมา จากชื่อเพลงก็จะบอกถึงอาชีพต่างๆ โดยใช้เสียงสัมผัสชีวิต ได้เข้าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสาน

บทเพลงสำคัญของชาวผู้ไท คือ ลำคอนสะหวัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญ ซึ่งมีเพลงลำผู้ไท ลำตังหวาย ลำบ้านซอก ลำคอนสะหวัน ซึ่งมีสร้อยเพลงให้ลูกคู่รับ “เฮ้ยย่ะๆ” วิธีการฟ้อนรำสวยงามมาก นางรำใส่เสื้อผ้าแบบฉบับของเผ่าผู้ไท มีปิ่นปักผมที่ทำด้วยโลหะสวยงาม

นอกจากนี้ ยังมีลายเต้ย ลมพัดพร้าว ต้อนวัวขึ้นภู แมงภู่ตอมดอกลายสุดสะแนน เดี่ยวพิณเพลงลายลำเพลิน-ลายใหญ่-ลายน้อย โดย หมอพิณคำเม้า เปิดถนน หรือ พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ ซึ่งเป็นนักดนตรีฝีมือชั้นครู ผู้มีประสบการณ์ได้เดินทางไปแสดงพิณทั่วโลกแล้ว ทั้งยังมีเพลงร้อง สาวอีสานรอรัก อมตูก อะไย แอกแครง แฮปปียา ขับร้องโดย น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ จบด้วยเพลงจำปาเมืองลาวและเพลงผู้ใหญ่ลี

ระหว่างการศึกษาเพลงอีสานก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า เพลงลาวเหนือกับเพลงลาวอีสาน มีความแตกต่างกันอย่างไร ความเป็นลาวแบ่งกันที่ตรงไหน เพลงที่ขึ้นชื่อว่า ลาว จะเป็นลาวไหนกันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะเพลงเป็นการถ่ายทอดกันไปและรับกันมา ปะปนกันจนบอกเขตแดนและเชื้อชาติไม่ได้ แต่พอจะวิเคราะห์จากเสียงดนตรีได้ว่า เป็นลาวเหนือหรือลาวอีสาน ขณะเดียวกันก็สามารถบอกพัฒนาการของสังคมได้ โดยผ่านเสียงดนตรี เพราะเสียงดนตรีเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถบอกเลือดเนื้อเชื้อไขได้

ทำนองดนตรีภาคเหนือนั้น เป็นวัฒนธรรมลาวเหนือ ส่วนใหญ่จะอยู่ใน (Major mode) บันไดเสียงเมเจอร์ของดนตรีสากล มีความหนักแน่น แนวทำนองจะไม่เน้นการด้นเพลง (improvisation) มากนัก เมื่อมีการเล่นซ้ำๆ นักดนตรีจะใช้วิธีประดับประดาและประดิดประดอยทำนองเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะได้ยินทำนองหลักๆ เดินอยู่อย่างชัดเจนเสมอ คล้ายกับดนตรีสำหรับการเห่และขับกล่อม หรือดนตรีสำหรับการทำสมาธิ ซึ่งจังหวะเพลงลาวเหนือส่วนใหญ่เป็นเพลงในจังหวะเนิบๆ สอดคล้องกับสำเนียงการพูดของคนภาคเหนือ ส่วนเพลงทำพิธีกรรม นิยมใช้กลองสะบัดชัยเป็นเครื่องดนตรีหลักในการบรรเลง ดนตรีเมืองเหนือจึงเป็นดนตรีของราชสำนักมากกว่าดนตรีของชาวบ้าน

ในขณะที่ดนตรีอีสานลาวล้านช้าง มักจะใช้ (Aeolian mode) บันไดเสียงไมเนอร์ เมื่อมีการเล่นทำนองซ้ำๆ ซึ่งนักดนตรีจะแสดงความสามารถพิเศษของตนเองออกมาอย่างวิจิตรพิสดารในการประดิดประดอยให้ได้ทำนองใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของทำนองหลัก นักดนตรีแต่ละคนจะมีทางบรรเลงเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะเน้นจังหวะสนุกสนาน ร่าเริง ส่วนเพลงที่มีจังหวะช้าจะนิยมใช้สำหรับเพลงในพิธีกรรม บายศรีสู่ขวัญ

วัฒนธรรมเพลงลาวล้านช้างอยู่กับคนเดินทาง คนพเนจร พ่อค้า ผู้คนที่ทำงาน ดนตรีที่อยู่กับสามัญชน นักดนตรีมีฝีมือสูงสามารถสอดใส่อารมณ์ส่วนตัวเข้าไปในเพลงได้ เสียงดนตรีสามารถที่จะปลดปล่อยความทุกข์ยากที่มีอยู่ในชีวิตออกไปได้ ฟังแล้วเนื้อเต้น ฟังแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงพวกพ้อง ฟังแล้วออกอาการ เคยมีคำพูดที่ว่า “ฝนจะตกขี้จะแตก ฟ้าจะผ่าคนจะตาย คนอีสานจะกลับบ้านห้ามไม่ได้” เสียงเพลงอีสานจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตชาวอีสานทุกคน เพราะเสียงสามารถเข้าทะลุหัวใจ

วัฒนธรรมเพลงอีสานได้แพร่ลงมาอยู่ในวัฒนธรรมเพลงของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างแยกไม่ออก กลืนกันไป แต่บทเพลงที่สำคัญๆ ชัดๆ ของอาณาจักรล้านช้างนั้นก็พอจะสืบค้นต้นแบบได้ อาทิ ขับทุ้มหลวงพระบาง ไทยดำรำพัน จำปาเมืองลาว สาวบ้านแต้สาละวันรำวง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image