การเลือกตั้งในช่วงการระบาดโควิด ความท้าทายและความสำเร็จ

การเลือกตั้งในช่วงการระบาดโควิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดไม่ได้ บางประเทศก็มีการจัดการเลือกตั้ง บางประเทศก็มีการเลื่อนเลือกตั้ง และในประเทศที่มีการเลือกตั้ง ก็มีการเลือกตั้งในหลายระดับ ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือการลงประชามติ

จากการรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563-กรกฎาคม 2564 ของ International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA) พบว่ามีอย่างน้อย 78 ประเทศทั่วโลกที่เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป และมีอย่างน้อย 41 ประเทศที่ตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป (ระดับชาติ) และการลงประชามติ ด้วยเงื่อนไขการแพร่ระบาดของโควิด

แต่ก็มีประเทศไม่น้อยกว่า 128 ประเทศ หรือที่มีสถานะคล้ายกับประเทศ (อาทิ ฮ่องกง) ที่ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดก็ตาม และก็มีประเทศไม่น้อยกว่า 56 ประเทศ ที่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจจากการตัดสินใจเลื่่อนการเลือกตั้งออกไป เป็นกลับมาจัดการเลือกตั้ง และมีถึง 29 ประเทศที่ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งระดับชาติ หรือการลงประชามติ

จากข้อมูลของ IDEA โดยสรุปพบว่ามีการเลือกตั้งไปตามปกติมากกว่าเลื่อนการเลือกตั้ง

Advertisement

 

(ที่มา : IDEA. Global Overview of Covid-19 Impact on Elections. www.idea.int)

Advertisement

โดยภาพรวมแล้ว สัดส่วนของแต่ละทวีปจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ระหว่างการจัดเลือกตั้งตามกำหนดเวลาเดิม และการเลื่อนการเลือกตั้ง พบว่าที่มากที่สุดทั้งจัดตามเวลา และเลื่อน และภูมิภาคที่เลื่อนมากกว่าจัดคือ ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนที่จัดมากกว่าเลื่อนก็คือ แอฟริกา และเอเชีย แปซิฟิก

ตัวเลขสถิติอีกส่วนที่น่าสนใจก็คือในการเลือกตั้งระดับชาติและการลงประชามตินั้นมีถึง 31 ประเทศที่มีประชาชนมาเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว 7.7% และมีการมาลงคะแนนเสียงลดลงถึง 53 ประเทศ ลดลงโดยเฉลี่ย 9.9%

การกล่าวอ้างถึงว่าความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดของโควิดกับการรณรงค์หาเสียงนั้นก็มีจริง รวมไปถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็อาจจะมีผลทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ในเรื่องของการหาเสียงนั้นก็มีการระวังป้องกัน บางประเทศอย่างสิงคโปร์เองก็มีการห้ามในช่วงแรก แต่ต่อมาก็ผ่อนคลาย และในบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ก็ได้รับคำชมเชยว่าไม่มีการระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังการเลือกตั้งก็ยิ่งทำให้สังคมมีความหวังและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดได้ดีขึ้น

หลายประเทศก็ยังหาความเชื่อมโยงไม่ได้ว่าการชุมนุมทางการเมือง และ การเลือกตั้งในช่วงเวลาการระบาดของโควิดนั้นเกี่ยวข้องกันแบบเป็นเหตุเป็นผล เหมือนว่าเป็นเรื่องการกล่าวหา และลดทอนเสรีภาพของประชาชนมากกว่า เอกสารของ Council on Foreign Relations (How Countries are Holding Elections During the Covid-19 Pandemic. 17/09/20) อ้างความเห็นของนักวิจัยอาวุโสของ International Foundation for Electoral System ที่ชี้ว่าถ้ามีการบริหารจัดการการเลือกตั้งที่ดี เช่น การเว้นระยะห่าง การดูแลตัวเอง และใส่อุปกรณ์ป้องกัน กรณีของเกาหลีใต้ชี้ว่า ถ้าอุปกรณ์ป้องกันดี มีการวัดอุณหภูมิ มีการเว้นระยะห่าง การระบาดจะไม่เพิ่มขึ้น และคนออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ ค.ศ.1992 เป็นต้นมา

มาตรการอื่นๆ ที่สามารถทำให้ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในช่วงการรณรงค์ และในการลงคะแนนเสียง ก็อาจจะมีเรื่องของการจำกัดไม่ให้คนเข้ามาในคูหามากเกินไป การสนับสนุนให้ลงคะแนนล่วงหน้า การขยายเวลาการลงคะแนนเพื่อลดความแออัด ส่งเสริมการลงคะแนนในช่องทางอื่นที่ไม่ต้องมาคูหา เช่น ทางไปรษณีย์ แต่แน่นอนว่างบประมาณในการจัดการเลือกตั้งก็ต้องใช้เพิ่มขึ้น และต้องระวังเรื่องระบบความปลอดภัยในอินเตอร์เน็ต และโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนที่อาจมีไม่เท่ากัน

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องของการเลือกตั้งในช่วงการระบาดของโควิดอาจไม่ใช่แค่เรื่องของความพร้อมในแง่ของการจัดการเลือกตั้งให้ปลอดโรค แต่อาจจะเป็นเรื่องของ “ความชอบธรรม”และ “ความคาดหวังของประชาชน”ที่มีต่อการเลือกตั้ง หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อรัฐบาล ในกรณีของประเทศในลาตินอเมริกา บทความของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการ UNDP ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน Luis Felipe Lopez-Calva (The Virus and the Votes: How Is Covid-19 Changing Voter Turnout in LAC?. UNDP. www.latinamerica.undp.org. 71/02/21) อ้างบทสำรวจของ The Latin America Public Opinion Project ที่ว่าด้วยเรื่องการวิจัยความคาดหวังของประชาชนต่อการเลือกตั้ง และพบว่ามีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่มีความเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งในประเทศของตนเอง

อีกวิธีหนึ่งในเรื่องการวัดประเมินความชอบธรรมของการเลือกตั้งในช่วงการระบาดของโควิด ก็คือเรื่องของการดูว่าประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นหรือน้อยลง ถ้ามามากขึ้นก็อนุมานว่าประชาชนให้ความไว้วางใจกับการเลือกตั้ง (ไม่ได้แปลว่าไว้วางใจกับรัฐบาล เพราะเขาอาจจะต้องการมาเลือกคนอื่นมาเป็นรัฐบาลแทน) ในกรณีของภูมิภาคเอเชียนั้น นอกจากกรณีของเกาหลีใต้ที่เราได้กล่าวไปแล้วถึงความสำเร็จ จะพบว่า มองโกเลียและญี่ปุ่น มีผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่มาเลเซียและญี่ปุ่น มีคนออกมาใช้สิทธิน้อยลง

ในห้วงการเลือกตั้งที่เกาหลีใต้ การระบาดมีลักษณะทรงตัว ต่างจากกรณีของออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอิหร่าน ซึ่งการระบาดโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ในช่วงนั้น และคาดการณ์ว่าน่าจะมีผลทำให้การออกมาใช้สิทธิลดลง ซึ่งบทความของ Adhy Aman ใน The Diplomat.com (Elections in a Pandemic: Lessons from Asia) 05/08/20 ให้ความเห็นว่า ควรจะเลื่อนการเลือกตั้งไปก่อน กล่าวอีกอย่างก็คือ การวิเคราะห์เรื่องการเลือกตั้งนั้นต้องเข้าใจสถานการณ์โควิดด้วย

กล่าวโดยสรุปการเลือกตั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง อย่าปล่อยให้เป็นข้ออ้างว่าต้องเลื่อนออกไปตลอดเวลา เพราะการเลือกตั้งนั้นไม่เท่ากับการแพร่ระบาด และต้องลองคิดด้วยว่า ถ้าไม่เปลี่ยนรัฐบาล การแก้ปัญหาด้วยวิธีในระบบเองก็อาจเป็นไปไม่ได้ การบริหารจัดการการเลือกตั้งในห้วงการระบาดก็เป็นไปได้และประสบผลสำเร็จไม่ใช่น้อย รัฐบาลที่มีปัญหาก็ยังรักษาอำนาจไว้ได้ รัฐบาลที่ประสบความสำเร็จได้แรงสนับสนุนเพิ่ม หรือรัฐบาลที่ประชาชนไม่พอใจก็ออกไปได้

ในกรณีสังคมไทย ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพูดเรื่องการเลือกตั้งใหม่ในห้วงการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน เพราะในตอนนี้ความชอบธรรมของรัฐบาลตกต่ำ และความหวังของผู้คนก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ แทนที่จะคิดวิธีพิสดารแต่เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ หรือปล่อยให้รัฐบาลที่หลายฝ่ายไม่ยอมรับความชอบธรรมและไม่ยอมรับผลงานนั้น ก็อาจจะมาลองคิดว่าการเลือกตั้ง เป็นวิถีทางสันติทางหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศเช่นกัน และยิ่งลากกันยาวๆ ไม่ฟังเสียงใคร ก็อาจจะมีแต่ความตึงเครียดและพาลทำให้การเลือกตั้งเริ่มไม่มีคนสนใจเท่ากับทางเลือกของการเผชิญหน้าแตกหักกันที่รุนแรงและร้าวฉานกันมากขึ้นเรื่อยๆ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image