คอลัมน์หน้า 3 : วิถี สร้างภาพ หน่วยควบคุม ฝูงชน ความเป็นจริง

คอลัมน์หน้า 3 : วิถี สร้างภาพ หน่วยควบคุม ฝูงชน ความเป็นจริง

จังหวะก้าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัด “สาธิต” ปฏิบัติการของ “หน่วยควบคุมฝูงชน” หรือ “คฝ.” ถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการ “เชิงรุก”

ยืนยัน “วิถี” แห่งหลักการ “ทางสากล”

ไม่เพียงแต่เป็นการสาธิตอย่างธรรมดาปกติ หากแต่มีการเชิญสื่อทั้งในและต่างประเทศเข้ารับชมกันอย่างคึกคัก

จากนั้น “ภาพ” และ “การเคลื่อนไหว” ก็ปรากฏ

Advertisement

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ “ภาพ” อันเป็นการสาธิตอย่างเป็นทางการ เมื่อนำไปวางเรียงอยู่เคียงข้างกับที่ปฏิบัติ “จริง”

กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน

เพราะภาพที่ “สาธิต” กับที่สังคมรับทราบผ่านการลงมือ “ควบคุมฝูงชน” จริง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Advertisement

ไม่ว่าวิถี “การยิง” ไม่ว่าท่วงทำนองของ “คฝ.”

ต้องยอมรับว่า ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ในภาคสนามอย่างน้อยก็มี 2 ตัวอย่างที่เสนอตัวเข้ามาให้สังคมเกิดการเปรียบเทียบ

นั่นก็คือ ภาพการควบคุมฝูงชนบนท้องถนน

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสลายการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสลายการชุมนุมของ “กลุ่มทะลุฟ้า” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เป็นการเข้าสลายก่อนกำหนด “นัดหมาย” การชุมนุม

ยิ่งภาพอันเกิดขึ้นในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่ตอนค่ำของวันที่ 1 สิงหาคม กระทั่งตอนค่ำของวันที่ 18 สิงหาคม

ยิ่งสร้างความต่างจาก “การสาธิต”

ไม่เพียงแต่มิได้ยิง “แก๊สน้ำตา” ขึ้นฟ้า ไม่เพียงแต่มิได้ยิง “กระสุนยาง” ตามหลักสากลโดยเล็งลงพื้นหรือต่ำกว่าเอว

ตรงกันข้าม กลับยิงเข้าใส่บริเวณ “หน้าอก” และบน “ใบหน้า”

ต้องยอมรับว่า เป้าหมายในการสาธิต “หน่วยควบคุมฝูงชน” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการประชาสัมพันธ์ในลักษณะของพีอาร์

เป็นการรุกทางด้าน “การสื่อสาร”

เพียงแต่สื่อในการส่งสารมิได้มีแต่สื่อในการควบคุมของทางราชการ ตรงกันข้าม กลับมีสื่ออิสระเกิดขึ้นและดำรงอยู่มากมาย

พร้อมกับภาพ “สาธิต” จึงปรากฏ “ภาพจริง”

เป็นภาพจริงไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่สะพานชมัยมรุเชฐ และสามเหลี่ยมดินแดง

เป็นภาพการสาดระสุนอย่างเปะปะ

ไม่เพียงแต่เป็น “แก๊สน้ำตา” ไม่เพียงแต่เป็น “กระสุนยาง” ตรงกันข้าม ระยะหลังกลับปรากฏ “กระสุนจริง” เล็งไปยังเด็กๆ

แม้แต่ชาวบ้านที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็กลายเป็น “เหยื่อ”

เป้าหมายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการสาธิตเพื่อการประชาสัมพันธ์ เสมือนกับต้องการเปิดเกมรุกในทางการเมือง

ก็กลับกลายเป็น “การตั้งรับ”

นั่นเพราะว่าภาพจาก “การสาธิต” กับที่มีการปฏิบัติอย่างเป็นจริงในภาค “สนาม” กลับกลายเป็นคนละเรื่อง คนละอย่าง

แทนที่จะเป็น “บวก” กลับกลายเป็น “ลบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image