อาศรมมิวสิก : ปลดแอกลาวออกจากเพลง เหลือแค่ดวงเดือนทำนองเมืองเหนือ

เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงที่มีความโดดเด่นในบรรดาเพลงไทยทั้งหลาย ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และพลังของเพลง ลาวดวงเดือนกลายเป็นสัญลักษณ์มีลักษณะเด่นว่าเป็นเพลงไทยสำเนียงลาว อ้างทฤษฎีดนตรีสากลของพระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) เพราะว่าเพลงมีอยู่ 5 เสียง ความเป็น 5 เสียงถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของเพลงไทยที่มีชื่อเป็น “ลาว” อยู่จำนวนมาก รวมทั้งลาวดวงเดือน ซึ่งเป็นเพลงเอก กลายเป็นตัวแทนของเพลงไทย ลาวดวงเดือนเป็นเพลงยอดฮิต มีการนำไปขับร้องและบรรเลงซ้ำๆ มากที่สุดเพลงหนึ่ง

ลาวดวงเดือนได้ถูกนำไปเรียบเรียงเสียงใหม่สำหรับวงดนตรีประเภทต่างๆ เป็นเพลงร้อง ร้องภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเขมร ลาวดวงเดือนถูกใส่เนื้อร้องใหม่ ร้องเป็นเพลงเนื้อใหม่ใช้ทำนองเก่า ได้เรียบเรียงเป็นเพลงบรรเลง ใช้ประกอบละคร ประกอบสารคดี ประกอบภาพยนตร์ สำหรับวงโยธวาทิต วงซิมโฟนีออเคสตรา นอกจากนี้ยังทำเป็นเดี่ยว เช่น เดี่ยวขลุ่ย ขิม ระนาด เปียโน ไวโอลิน ฯลฯ มีฝรั่งได้นำเพลงลาวดวงเดือนซึ่งเรียบเรียงโดย พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ ไปแสดงกับวงซิมโฟนีออเคสตรา ทั้งยุโรปและอเมริกา

ลาวดวงเดือน ประพันธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ.2425-2452) โอรสองค์ที่ 41 ในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดามรกฎ (พ.ศ.2398-2458) ทรงเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถสูง มีวงปี่พาทย์ส่วนพระองค์ในวังท่าเตียน และมีครูดนตรีคนสำคัญอยู่ในวงปี่พาทย์หลายคน

เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล ; พ.ศ.2364-2437) เจ้าของวังท่าเตียน ลูกสาวคนโต คือ เจ้าจอมมารดามรกฎ ในปี พ.ศ.2414 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ประชุมเรื่องการหาเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่เพื่อใช้แทนเพลงจอมราชจงเจริญ (God Save the Queen) ผู้ที่ร่วมประชุมมีพระเสนาะดุริยางค์ (ครูขุนเณร) พระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) มีครูมรกฎ ขณะนั้นอายุ 16 ปี โดยตกลงนำเพลงบุหลันลอยเลื่อนมาใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี (ทางไทย) ระหว่าง พ.ศ.2414-2430 ต่อมากลายเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่า

Advertisement

เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมีลูกชาย คือ นายบุศย์มหินทร์ ได้เดินทางไปแสดงดนตรีที่ยุโรป พ.ศ.2443 ที่กรุงเบอร์ลิน เดรสเดน เวียนนา อัมสเตอร์ดัม โคเปนเฮเกน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มอสโก ในการเดินทางได้บันทึกเสียงไว้ครั้งแรกมี 5 เพลง คือ คำหอม ทยอยเขมร ปี่แก้วกาล กราวกระแซ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินด้วย ซึ่งการบันทึกเสียงครั้งนั้นไม่มีคำว่า “ลาว” นำหน้าเพลง

นักดนตรีในวังท่าเตียนคนสำคัญมีนายปั้น บัวทั่ง (บิดานายเฉลิม บัวทั่ง) เป็นหัวหน้าวง นายแปลก ประสานศัพท์ (พระยาประสานดุริยศัพท์)คนปรับวงปี่พาทย์ ชื่อนายขลิบ ชำนิราชกิจ นักระนาดเอก เพลงลาวดวงเดือนนั้น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงพระนิพนธ์ขึ้นระหว่าง พ.ศ.2448-2450 ใช้นักดนตรีที่วังท่าเตียนเป็นวงเล่น อาศัยทำนองเพลงเหนือใส่เนื้อร้องใหม่ เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากความรักที่มีต่อหญิงสาวชาวเหนือ เล่ากันว่า เป็นตำนานเพลงรัก ระหว่างเจ้าชายกับเจ้าหญิงเชียงใหม่

เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงสิ้น (พ.ศ.2437) วังท่าเตียนและวงปี่พาทย์ได้ตกเป็นของเจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาคนโต ที่วังท่าเตียนนั้นมีวงปี่พาทย์ มีโรงละครชื่อ ปริ้นส์เธียเตอร์ (Prince Theatre) มีการจัดการแสดงละครโดยเก็บค่าเข้าชมแห่งแรก (พ.ศ.2427) จึงเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงละครและดนตรี ยังเป็นที่ชุมนุมของนักดนตรีฝีมือดี นักแสดง รวมถึงผู้ดีและคนชั้นสูง เป็นพื้นที่เพื่ออวดรสนิยมกัน
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จกลับจากการศึกษาที่อังกฤษ พ.ศ.2446 เรียนวิชาเกษตรศาสตร์ ขณะนั้นมีพระชันษา 21 ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตราธิการ ปี พ.ศ.2451 ได้เป็นอธิบดีกรมช่างไหมและการทอผ้า เสด็จไปต่างจังหวัด 2 ครั้ง คือ ภาคเหนือ พ.ศ.2446 และภาคอีสาน พ.ศ.2447-2448

Advertisement

เมื่อครั้งเสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ ได้พบกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ ขณะอายุ 16 ปี เป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวาน ผิวขาวดั่งงาช้าง ใบหน้าเปล่งปลั่งดั่งดวงเดือน แก้มอิ่มเอิบสีชมพู มีสุ้มเสียงอันไพเราะเป็นแบบฉบับสตรีล้านนา ด้วยความงดงามอย่างน่าพิศวง ทำให้เจ้าชายตกตะลึงหลงรัก จึงโปรดให้ข้าหลวงมณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่ไปสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมในพระองค์

การเจรจาไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ (พ.ศ.2430-2453) ผัดให้เธออายุครบ 18 ปีก่อน ยังมีข้อแม้ว่าต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระพุทธเจ้าหลวง ตามธรรมเนียมราชสกุล เพราะไม่ต้องการให้ลูกสาวเป็นแค่หม่อม ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาก่อนแล้ว จึงไม่ต้องการให้ลูกสาวกลายเป็นแม่ร้าง

ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนด้วยเหตุผล ความรักของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมกับเจ้าหญิงชมชื่นจึงไม่สำเร็จ เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จถึงกรุงเทพฯ พระญาติก็ทัดทาน ความรักทั้งคู่จึงไม่สมหวัง

พ.ศ.2447-8 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จหัวเมืองอีสาน ต้องเดินทางทางเกวียน บางคืนก็ประทับแรมในเกวียน ด้วยพลังของความคิดถึงหญิงคนรัก ก็รำพึงออกมาเป็นเพลง ด้วยมีความสามารถและชื่นชอบดนตรีอยู่แล้ว จึงได้นำทำนองเพลงเมืองเหนือมาใส่เนื้อร้องใหม่ “คร่ำครวญถึงคนรัก” ทรงตั้งชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินเกวียน ประหนึ่งว่าทำนองเพลงเหนือ เนื้อร้องสื่อจากคนรัก เนื้อเพลงมีดังนี้

“โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง โอ้ว่าดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม เอยพี่นี้รักเจ้าหนา ขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียม โอ้เจ้าดวงเดือนเอย หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย เอ๋ยเราละหนอ”

เนื้อเพลงขึ้นต้นด้วย “โอ้ละหนอดวงเดือนเอย” คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่า “เพลงลาวดวงเดือน” แทนที่จะเรียกชื่อว่า ลาวดำเนินเกวียน

ผมได้ขอความรู้จาก อาจารย์ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ ที่เชียงใหม่ และ อาจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อม อยู่ที่ลำปาง ซึ่งเป็นทั้งนักดนตรีและเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีเมืองเหนือ ท่านได้อธิบายคำร้องเพลงลาวดวงเดือนว่า

คำว่า “เจ้าสาวคำดวง” ในเนื้อเพลงลาวดวงเดือน เป็นภาษาเหนือ เป็นชื่อเฉพาะ เป็นชื่อตำแหน่ง หรือเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไป ข้อนี้ยังไม่พบการใช้และยังไม่เคยพบใครมีชื่ออย่างนี้ แต่มีชื่อ “คำตวง” สำหรับคนที่ชื่อ “ดวงคำ” ที่ภาคเหนือนั้นมีอยู่มาก มักจะเป็นชื่อของผู้ชายมากกว่าเป็นชื่อของผู้หญิง

คำว่า “คำตวง” ตวงเป็นมาตราวัดปริมาณของชาวล้านนาโบราณ “หนึ่งตวง” มีความจุเท่ากับครึ่งลูกมะตูม “คำตวง” จึงหมายถึงสิ่งที่มีค่าสูง คำคือทองคำ อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า เนื้อเดิมของเพลงตรงนี้ อาจเป็น “สาวคำตวง” ซึ่งน่าจะเป็นไปได้เหมือนกัน นานเข้าคนภาคกลางไม่รู้จัก “คำตวง” ก็ใช้เป็น “คำดวง” แทน

ส่วนคำว่า “สู” คำเดียว นิยมใช้กับผู้ที่สนิทสนมกันมากเท่านั้น โดยไม่มีคำว่า “เจ้า” นำหน้าเป็น “เจ้าสู” ยังมีคำว่า “ข้อย เว้า สู รักเป็นฮัก เจ้าแก้ว” ในท่อนที่สองมีคำว่า “เบิ่ง บ่” การผูกกลอนเพลงด้วยคำว่า “เจ้า” แสดงว่าทั้งสองมีความสนิทสนม มีความรัก และมีความผูกพันกันมาก

ความเป็นลาว คนเหนือไม่ได้เรียกตัวเองว่า “ลาว” แต่เรียกตัวเองว่า “คนเมือง เฮา หรือหมู่เฮา” ไม่ได้เรียกตนว่าลาวแต่อย่างใด การเรียกว่าเป็นเพลงลาว เป็นชื่อของคนภาคกลางเรียกเอง ลาวหมายถึงอีสาน

ในอดีต คนเหนือเรียกเผ่าพันธุ์ตัวเองว่า “ยวนหรือโยน” สืบเชื้อสายมาหลายทอดจากคนของ “โยนก” บ้านเดิมของพญามังราย (พ.ศ.1782-1854) ผู้สถาปนาล้านนา ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรียกตนเองใหม่ว่า “คนเมือง” มาตลอด แม้ว่าจะใช้ล้านนากันด้วย ก็ใช้ในแวดวงวิชาการเป็นหลัก ถ้าใช้ลาวจะหมายถึงชาวอีสานเท่านั้น นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายคนเห็นว่า ชาวเหนือถูกเหมาว่าเป็นลาว คงเพราะภาษามีศัพท์ร่วมกันมาก กินข้าวเหนียวด้วยการใช้มือปั้นจิ้ม ก็ใช้วิธีการกินเหมือนกันด้วย

ช่วงหนึ่งเชียงใหม่ไม่มีเจ้าเมือง ขณะที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ.2077-2114) จากหลวงพระบาง (ล้านช้าง) มีความเข้มแข็งก็เชิญเข้ามาปกครอง ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีและก่อเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมรวมทั้งเพลงด้วย การที่ทางกรุงเทพฯ เรียกรวมกันเป็นลาว คงเป็นเพราะความละม้ายคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สมัยรัชกาลที่ 5 เชียงใหม่ ยังกลายเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวเฉียง

กลับมาที่เรื่องเพลง กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องไว้ 4 เพลง คือ ลาวดวงเดือน ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย และเพลงแป๊ะซึ่งเนื้อเพลงอื่นๆ ไม่โด่งดังหรือเป็นที่นิยมเท่ากับเพลงลาวดวงเดือน

พระองค์ประชวรด้วยโรคปอด สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2452 เมื่อพระชันษา 27 ปี ลือกันว่า ทรงตรอมพระทัยที่ไม่ได้สมหวังกับเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าหญิงชมชื่นสมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ ณ ลำพูน ได้เสียชีวิตลงในปีถัดมา (พ.ศ.2453) ตีความและเล่าต่อๆ กันว่า สิ้นด้วยตรอมใจ เมื่อพระชันษา 23 ปี

กรณีเพลงทำนอง “ลาว” ลาวคำหอม มีหลักฐานว่า นายบุศย์มหินทร์ได้นำเพลงคำหอมไปแสดงและบันทึกเสียงที่ยุโรป พ.ศ.2443 ไม่มีคำว่า “ลาว” นำหน้า วงปี่พาทย์เล่นในงานศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ พ.ศ.2425 ครูมีแขกเป็นผู้ควบคุมวง เล่นเพลงคำหอมกับเพลงดำเนินทราย ไม่มีชื่อลาวนำ ส่วนเพลงแป๊ะก็มีมาก่อนแล้ว ปี พ.ศ.2414 ครูถึก ลูกครูมีแขก ได้ต่อเพลงแป๊ะให้กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

เพลงขึ้นชื่อว่าลาว เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ ลาวลำปาง ลาวสมเด็จ ลาวเสี่ยงเทียน ลาวเจริญศรี ลาวกระทบไม้ ลาวจ้อย ลาวครวญ ลาวเจ้าสู ลาวเฉียง ลาวเดินดง ฯลฯ มีชื่อเหมือน “ลาวดวงเดือน” ชื่อว่าลาว ถูกเรียกโดยคนภาคกลาง อาจเพราะผู้มีอำนาจไปเหยียดหรือถือว่าเหนือกว่า เมื่อไปรับและชอบเอาเพลงเหนือมาแล้ว ให้ชื่อเอาไว้ก็ถือว่าเป็นเกียรติ หากจะปลดแอกลาวออกจากเพลงเหนือให้เหลือแค่ชื่อเพลงเดิม ก็คงมีความเท่าเทียมกันทางวัฒนธรรมมากขึ้น อาทิ ดวงเดือน เสี่ยงเทียน ลำปาง จ้อย เจริญศรี กระทบไม้ เป็นต้น ซึ่งก็รู้แล้วว่า เพลงมาจากเมืองเหนือไม่ใช่อีสาน หากเรียกชื่อตามชาวเหนือก็จะไม่สับสนกับลาวอีสานอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image