กมฺมุนา วตฺตตีโลโก

การศึกษาว่าด้วย “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ไม่ว่าจะเป็นสายทางโลกหรือสายทางธรรมไม่ได้แตกต่างกันเท่าใด หากวิเคราะห์ดูแล้ววงจรชีวิตของคน หรือที่ว่าด้วย “ชีวิต” หนี “กฎแห่งธรรมชาติ” ไม่พ้น ในวงจรชีวิตภาษาธรรมะ เวลาที่เราไปวัด โดยเฉพาะงานศพ ตอนสวดพระอภิธรรมจะพบเห็นตาลปัตรของพระสงฆ์ 4 รูป ขึ้นสวดพระอภิธรรมว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” หรือจะเข้ากับ “ไตรลักษณ์” ที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว “วัฏจักรแห่งชีวิต” มี 10 ขั้นตอน

1.เกิด : เป็นช่วงที่เด็กทารกอยู่ในครรภ์มารดา ช่วงเวลา 9 เดือน เมื่อครบกำหนดคลอดออกมาดูโลก ด้วยอวัยวะครบ 32 ประการ มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 2,500-3,500 กรัม

2.เด็ก : เป็นช่วงอายุ 0-12 ปี เป็นเด็กอ่อน มารดาโอบอุ้มเลี้ยงดู กระตุ้นพัฒนาการให้มีสติปัญญาอารมณ์เข้ากับสังคมได้ดี เข้าเรียนวัยก่อนอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา เรียนรู้กล่อมเกลาจากครูอาจารย์

3.หนุ่ม : เป็นช่วงอายุทีนเอจ (Teenage) อายุ 13-19 ปี เด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษา ประมาณอายุ 17-18 ปี

Advertisement

4.รับปริญญา ประมาณอายุ 17-18 ปี เข้าเรียน “มหาวิทยาลัย” อีก 4-6 ปี ก็จะจบปริญญา ประมาณอายุ 21-24 ปี ได้รับความรู้ประสบการณ์จากอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อนๆ

5.เข้าทำงาน หรือได้รับการศึกษาประสิทธิ์ประสาทปริญญาแล้ว ไปสมัครงานเข้าทำงาน ไม่ว่าจะทำธุรกิจที่บ้านเอง รับราชการ เป็นลูกจ้างร้านค้า รัฐวิสาหกิจ มีเงินเดือนหารายได้เป็นของตัวเอง

6.แต่งงาน : พอมีเงินมีหลักมีฐาน พอมีรายได้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ก็จะพบคู่ คู่รัก คู่เพื่อน ช่วงวัย 25-35 ปี หากดวงสมพงศ์ก็จะเข้าประตูวิวาห์ตามกรอบวัฒนธรรมประเพณี มีหลักฐานของชีวิตตามที่พ่อแม่คาดหวังจากลูกทุกคนที่เป็นบัณฑิต มีครอบครัว เป็นหลักเป็นฐาน

Advertisement

7.เลี้ยงลูก : ครอบครัวที่อบอุ่นสมหวังคือการมี “ทายาท” ไว้สืบตระกูลเป็นชายก็ได้หญิงก็ดี เป็นลูกที่เกิดมาสมบูรณ์ครบทุกประการ เราทั้งสองที่เป็นคู่สามีภรรยาก็จะมีสถานะเป็น “คุณพ่อคุณแม่” ของลูกซึ่งจะเข้าวงจรที่เรา “จุติ” มาเกิดจากท้องพ่อ-แม่ของเรา และเลี้ยง “ลูก” ของเราให้เจริญเติบโต ฟูมฟักกล่อมเกลาเหมือนกับปู่ย่า ตายาย ที่คลอดและเลี้ยงเรามาอย่างน้อยก็ให้ดีเท่าหรือดีกว่าพ่อแม่ที่คลอด เลี้ยงเรามาพร้อมกับฐานะให้ “มั่นคง มีกิน มีใช้ ตามสมควร” เป็นรากฐานให้ลูก ช่วงนี้ก็จะอายุ 35-50 ปี

8.แก่ชรา : หากเรามีลูก 1-2 คน ท่านหากินอายุล่วงเข้า 50-60 ปีขึ้นไป เข้าสู่วัยทอง เข้าสู่วัยชรา หน้าที่นอกจากทำมาหากิน เราต้องดูแลสุขภาพกายและจิตของเรา เรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย อารมณ์ เลี่ยงอบายมุขทั้งปวงด้วย ก็จะไม่ป่วยไข้และอายุยืนยาวในที่สุด

9.เจ็บป่วย : ด้วยอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 70-80 ปี ดูแลสุขภาพ “3อ 3ลด” จากที่กล่าวแล้วควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพกายใจทุกปี ปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะการเกิดโรคไม่ติดต่อ คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจิตประสาท โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ เพราะเราสามารถจะป้องกันได้ด้วย “3อ 3ลด” แต่ด้วยเรื่องสังขารหนีไม่พ้น เรื่อง “การเจ็บป่วย” ด้วยวัยอันควรตามฐานะย่อมต้องเกิดแต่กว่าจะเกิดก็ขอให้อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป และจะเข้าสู่บันไดข้อที่…

10.ตาย : ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้ายที่ทุกคนต้องถึงหลักชัยในชีวิตของทุกๆ คน พึงจะต้องถึงแน่ๆ แต่ขอให้จบชีวิตด้วย “ความสุขที่ได้บังเกิด อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

⦁ “วิถีทางแห่งชีวิต” ทางธรรมะ กล่าวว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนดับไปเป็นธรรมดา”

⦁ เราเกิดมาจากไหนใครไม่รู้ จะไปสู่แห่งไหนใครไม่เห็น จะตายเช้าหรือสาย บ่ายหรือเย็น ไม่มีเว้นทุกคนจนปัญญา แต่ว่าชีวิตที่เกิดมาจะเป็น “คนหรือมนุษย์”

⦁ “คน” เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นอยู่เหมือนสัตว์ทั้งหลาย คือ มีการกิน การนอน การกลัว การสืบพันธุ์

ส่วน “มนุษย์” นั้นสูงกว่า “คน” เพราะมีธรรมของมนุษย์ คือมี “เบญจศีล เบญจธรรม” มนุษย์มีความหมาย 2 อย่างคือ 1.ผู้มีใจสูง (มโน อุสฺโส อัสฺสาติ, มนุสโส) 2.ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ (หิตาหิตํ มนติชานาติ มนุสฺโส) ดังคำกลอนที่ว่า “เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน ยอมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอย”

“คนกับกรรม” : คนทำความดีได้ง่าย แต่ทำชั่วได้ยาก คนชั่วทำความชั่วได้ง่าย แต่กลับทำดีได้ยาก แต่ที่ได้กล่าวเบื้องต้นแล้วว่า “คนกับมนุษย์” นั้นต่างกัน ขอกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งที่ว่า มนุษย์ คือ สัตว์โลกที่มีจิตใจสูง มีเหตุผลมี “ศีลธรรม” ส่วนคน เป็นสัตว์โลกที่มีจิตใจต่ำ ไม่มีศีลธรรม ไม่มีเหตุผล คำว่า “มนุษยธรรม” จึงแปลว่า “ธรรมที่ทำคนให้เป็นมนุษย์” ที่สมบูรณ์ทั้งร่ายกายและจิตใจ เมื่อพัฒนาจิตใจจาก “คน” ขึ้นมาเป็น “มนุษย์” ได้ก็ถือเป็น “คนดี” นั่นเอง

คำว่า “กรรม” เป็นคำกลางๆ แปลว่า “การ กระทำ” ทำดี เรียกว่า “กรรมดี” หรือ “กุศลกรรม” ทำชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว” หรือ “อกุศลกรรม” ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วนี้ทำได้หรือเกิดได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ (คิด)

ตัวอย่างง่ายๆ : เรารับประทานอาหาร เป็น “กรรม” กรรมอิ่มเป็นผลของกรรม คือ “วิบากของการรับประทาน” แล้วเราอิ่มก็เป็นของเรา คนอื่นจะอิ่มแทนเราไม่ได้ จึงเป็นกฎตายตัวเลยว่า ใครก็ตามที่ “ทำกรรม” แล้ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมเสมอ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้และให้คิดอยู่เสมอว่า “เรามีกรรมเป็นของของตน จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ”

หรืออาจกล่าวได้ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้เป็นกฎความจริงธรรมดา ที่จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เราปลูกต้นมะม่วงก็จะออกผลมาเป็นมะม่วง จะเป็นผลทุเรียนไปไม่ได้

มีผู้คิดอย่างพาลว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นั้นอยากจะบอกว่านั่นไม่จริงหรอก คนที่พูดอย่างนี้ เพราะเขาทำความดีไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าการทำดีนั้นจะต้องให้มี 3 ดี คือ “ถูกดี ถึงดี และพอดี”

ถูกดี : ก็คือ ทำดีให้ถูกกาลเทศะให้ถูกจังหวะ และพอเหมาะพอควร

ถึงดี : ก็คือ ทำดียังไม่ทันถึงดี ก็เบื่อหน่ายท้อแท้ เกียจคร้าน เลิกทำดีเสียแล้ว

พอดี : ก็คือ บางคนทำดีเกินพอดี ล้ำหน้าเพื่อนฝูง เอาเด่นเอาดังคนเดียว อย่างนี้จะดีได้อย่างไร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ทำดีต้องใจบริสุทธิ์”

⦁ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้นิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้วเมื่อ 100 ปีกว่า กล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือ บารมีของตนลงทุนไปก่อนเมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ จึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้ บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลา เทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดิน ก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า…”

นี่คือคำเทศน์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี อันเป็นปฐมเหตุที่ต้องสร้างความดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อนึ่ง เรามักจะได้ยินได้ฟังเสมอว่า การทำบุญให้ทานจะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ 6 ประการ คือ

1.ก่อนให้มีใจผ่องใสชื่นบาน

2.เมื่อกำลังให้จิตใจผ่องใส

3.เมื่อให้แล้วก็มีความยินดีไม่เสียดาย

4.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อลดราคะ

5.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อลดโทสะ

6.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อลดโมหะ

นั่นคือ ถ้าหากเรา “คิด พูด ทำ” ด้วยการทำ “กรรมดี” ไม่ฆ่าสัตว์ คนอายุยืน “ไม่เบียดเบียนสัตว์” สุขภาพดี “อดทนไม่โกรธ” ผิวพรรณดี “ไม่ริษยาคนอื่น” มีเดชานุภาพมาก “บริจาคทาน” มีสมบัติมาก “อ่อนน้อม” มีตระกูลสูงศักดิ์ “คบแต่บัณฑิต” มีปัญญามาก “ผลการทำกรรมดี ย่อมได้ผลดีตามมา” นั่นคือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

ท้ายสุดขอฝากแฟนๆ มติชนทุกท่าน ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดจากโรคไวรัสโควิด-19 ด้วยหลัก 5 ประการ คือ

1.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ตัวเราเองให้ครบ อย่าลืม “3อ” ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อารมณ์ดี 3ลด : ลดอ้วน ลดละเหล้า ลดละบุหรี่

2.ใส่ Mask 100% ทุกที่ทุกเวลา

3.กินร้อนช้อนส่วนตัว อาหารจานเดียว แยกกันทาน

4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ แอลกอฮอล์

5.สังเกตตัวเอง ถ้ามีอาการไข้หวัด ไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา หายใจขัด รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ไงเล่าครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image