คอลัมน์แฟลชสปีช : ประชาชนต้องเรียนรู้

คอลัมน์แฟลชสปีช : ประชาชนต้องเรียนรู้

คอลัมน์แฟลชสปีช : ประชาชนต้องเรียนรู้

ด้วยความเชื่อว่าพัฒนาการเมืองไทยยังไม่ไปไหน ประชาชนส่วนใหญ่ยังตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้ง “ส.ส.” ด้วยบุญคุณ ความใกล้ชิดส่วนตัว การพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูล อุปถัมภ์กัน

ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งคือผู้ที่ต้องใช้ชีวิตคลุกคลีคอยดูแลความทุกข์ความสุข เป็นเกียรติประดับบารมีในงานศพ งานแต่ง และงานบุญอื่นๆ ของครอบครัว เดือดเนื้อร้อนใจอะไรไปขอความช่วยเหลือได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่ไม่ได้รับความสะดวกจากการบริหารของภาครัฐ หรืองานราชการ อย่างลูก-หลานหาที่เรียนไม่ได้ ถนนหนทางพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ไฟฟ้าดับ โรงพยาบาลไม่มีเตียง หรืออะไรต่อมิอะไรทำนองนี้

เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ “ผู้แทนราษฎร” ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในเรื่องการปฏิบัติงานขาดตกบกพร่องของข้าราชการ

Advertisement

เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่า “ส.ส.” หรือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” มีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารของรัฐบาล ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการให้ทำงานอย่างคุ้มภาษีที่ประชาชนจ่ายมาเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ในรัฐสภาเป็นช่องทางที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ของประชาชน และการบริหารที่เข้มแข็ง ดีงาม มีประสิทธิภาพจากกลไกของผู้บริหารประเทศ รวมถึงช่วยกันตรากฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันของประชาชน

เพราะไม่เชื่อว่าประชาชนชาวไทยจะพัฒนาถึงจุดที่กาบัตรเลือกตั้งด้วยความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ของ “ส.ส.” ว่าไม่ต่างจากข้าราชการ

เชื่อว่าประชาชนไม่มีความรู้ว่า ส.ส.คือผู้ที่ใช้อำนาจแทนประชาชนในการจัดการให้กลไกรัฐทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ

Advertisement

เพราะความเข้าใจว่าประชาชนเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมผู้มีบารมีในท้องถิ่น ทำงานในระบบอุปถัมภ์อย่างที่่ว่ามายาวนาน ประสานเป็นหนึ่งเดียวกับข้าราชการที่ต้องรับใช้ประชาชนได้ เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จึงเลือกที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคตัวเอง ด้วยการเน้น “ส.ส.เขตพื้นที่”

การลงมติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จึงออกมาในแนวทางสร้างโอกาสของชัยชนะจาก ส.ส.พื้นที่เขต ซึ่งผู้สมัครของตัวเองมีความเชี่ยวชาญในการทำงานสนองระบบอุปถัมภ์และบารมีในท้องถิ่นดังกล่าว

ซึ่งตรงนี้เองเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

น่าสนใจที่ การพัฒนาการเมืองควรจะได้ ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่แบบไหน

การเมืองไทยที่เดินหน้าเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสม อันหมายถึงอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ทำงานในกรอบของการเกื้อกูล และคานอำนาจซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้ ส.ส.ที่มีคุณสมบัติ ความสามารถแบบไหน

แต่ที่เข้ามาเพื่อสนองตอบระบบอุปถัมภ์ ขอแบ่งงานข้าราชการมาทำ เพื่อเอาหน้ากับประชาชน หรือตรวจสอบ ออกกฎระเบียบให้ข้าราชการทำงานรับใช้ ดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

การเลือกคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ให้เหมาะสมกับภารกิจที่ควรย่อมเป็นเครื่องชี้ว่า พรรคการเมืองมีความจริงใจต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไปในทางที่เหมาะสมหรือไม่

เป็นผู้นำการพัฒนาประชาธิปไตย หรือแค่อาศัยความเป็นพรรคการเมืองเข้าไปมีอำนาจ โดยไม่มีความคิดที่จะนำการพัฒนาระบบให้เป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ

เป็นพรรคการเมืองส่งเสริมให้ ส.ส.ทำผิดหน้าที่ ผลที่ตามมาคือการด้อยค่า “ผู้แทนประชาชน” ซึ่งเป็นการเปิดทางหรือสนับสนุน “ความชอบธรรม” ให้ “อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน”

การโหวตแก้รัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่จึงสะท้อนให้เห็นอย่างล่อนจ้อนว่า พรรคการเมืองไทยเป็นอย่างไร จริงใจต่อประชาธิปไตยแค่ไหน หรือส่งเสริมสนับสนุนเป็นหนึ่งเดียวกับ “อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน”

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image