ทวงคืนสิทธิ เลือกตั้ง กทม.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมงานพบปะพี่น้องประชาชนย่านบางรัก พาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติโควิด-19 แต่ยังไม่ยอมเปิดชื่อ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เป็นใคร เพียงยืนยันว่ามีแน่นอน คุณสมบัติ ชื่อเสียง ความรู้ ความสามารถเพียบพร้อม ครบเครื่อง รับรองชาว กทม.ผู้ลงคะแนนเสียงไม่ผิดหวังแน่

แต่ก็บอกไม่ได้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภา กทม.จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ หลังจากถูกอำนาจพิเศษคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดองเค็มไว้ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้ 7 ปีแล้ว

แม้จะมีการคืนสิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลทั่วประเทศไปแล้วก็ตาม

แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแท้ๆ ที่ว่ากันว่าผู้คนมีระดับ มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงกว่าจังหวัดรอบนอก ปรากฏว่ายังไม่ได้รับคืนสิทธิเดียวกันผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสภา กทม.ถึงบัดนี้

Advertisement

คนเมืองหลวง คนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลางทั้งหลายยังอดรนทนได้กับสภาวะอำนาจล้นเกิน ถูกยึดสิทธิไปโดยไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะได้รับกลับคืนมาวันไหน

ขณะที่ตัวละครการเมือง ทั้งที่สังกัดพรรค กลุ่มการเมืองและอิสระ ต่างก็ออกโรง เต้นกันไปเรื่อยๆ ไม่ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ก้าวไกล พรรคกล้า ไทยสร้างไทย เส้นทางใหม่ ทยอยออกตัวกันมานานนับปีแล้วแต่ก็ยังเงื้อค้าง ไม่ได้ลงสนามจริงเสียที เพราะรอการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว

ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับพี่น้องในต่างจังหวัด แต่กระบวนการตัดสินใจกลับอืดอาดล่าช้า คลุมเครือ ยื้อแล้วยื้ออีก โยนกันไปโยนกันมาระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง อ้างติดปัญหาต่างๆ นานา การแบ่งเขตเลือกตั้ง การสะสางทะเบียนผู้ใช้สิทธิไม่เสร็จสิ้นลงตัว เลยยังตกลงกันไม่ได้ จะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ วันไหนแน่

กลายเป็นช่องให้กระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ที่ต้องตัดสินใจ
สุดท้าย อ้างโน่นอ้างนี่รวมทั้งภัยโควิด-19 ตลอดมา ไม่ยอมคืนสิทธิให้ประชาชนอย่างเปิดเผยโปร่งใสตรงไปตรงมา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านมากว่าสองปี ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562 รัฐบาล คสช.ใช้เป็นข้ออ้างว่าเปลี่ยนรูปแปลงโฉมสู่ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนราษฎร มีพรรคการเมือง ไม่ใช่เผด็จการเต็มรูปอย่างเดิมแล้ว

แต่ความเป็นจริงที่รับรู้กันอยู่ กลับยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง กทม.ทุกระดับ โดยอำนาจการตัดสินใจปลดปล่อยประชาธิปไตยเต็มใบให้คนกรุงเทพฯยังอยู่ในมือคนคนเดียวจะคืนสิทธิให้เมื่อไหร่ก็ได้

การกล่าวอ้างประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาจึงไม่ต่างกับการพ่นน้ำลาย เอาตัวรอดไปวันๆ โดยที่พรรคการเมือง นักการเมืองร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน ไร้อำนาจต่อรอง ไม่สามารถกดดัน เสนอแนะให้หัวหน้ารัฐบาลตาสว่างตัดสินใจได้

ไร้น้ำยา ว่างั้นเถอะ

เพราะผลประโยชน์ร่วมในการเป็นรัฐบาล ต้องรักษากติกา มารยาท สยบยอมต่ออำนาจที่เหนือกว่า โดยมีสิทธิอันชอบธรรมของพี่น้องชาว กทม.เป็นเหยื่อ

ผู้คัดค้านแนวคิดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชอบอ้างเสมอว่า กรุงเทพมหานครถึงเป็นเมืองหลวง เมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางอำนาจทุกด้านก็ตาม แต่ความเป็นจริงฐานะไม่ต่างไปจากเทศบาลใหญ่พิเศษแห่งหนึ่ง การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็เทียบเท่ากับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลขนาดใหญ่เท่านั้นเอง

แต่เพราะเหตุใดผู้มีอำนาจรับผิดชอบถึงหวั่นไหว หวาดวิตก ไม่ยอมให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯและสมาชิกสภา กทม.เกิดขึ้นโดยเร็วอีกครั้ง

หากเมื่อครั้งเปิดให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลทั่วประเทศ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล เสนอแนะ กดดัน ต่อรองให้นายกรัฐมนตรียอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สมาชิกสภา กทม.เสียในคราวเดียวกัน สถานการณ์ก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี

แต่กลับดึงดัน โยกโย้ ดึงเอาไว้โดยไม่มีการชี้แจงแถลงเหตุผลที่ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว

การคงอำนาจการตัดสินใจไว้ที่คนคนเดียวหากดำรงต่อไปอย่างไม่รู้วันจบ ทำให้โอกาสการพัฒนาของกรุงเทพมหานครและคนกรุงเทพฯสูญเสียไปโดยใช่เหตุ

สภาพการณ์เป็นเช่นนี้นอกจากอำนาจต่อรองของฝ่ายการเมืองตกต่ำแล้ว ความตื่นตัวของคนกรุงเทพฯในการทวงสิทธิคืน เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีพลังมากพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image