การเมืองไทย หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564

ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2564 ก็ทำให้เราเห็นถึงอนาคตที่มืดมนลงของการเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ประการแรก แม้ว่าคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจของประยุทธ์จะน้อยที่สุด แต่อย่างน้อยก็จะเห็นว่า เอกภาพของฝ่ายรัฐบาลยังเหนียวแน่น แม้ว่าตัวประยุทธ์เองนั้นจะไม่ได้อยู่ในโครงสร้างพรรคใดอย่างเป็นทางการ มีแต่ความเชื่อมโยงผ่านพลเอกประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่เห็นได้อย่างเด่นชัด และการมองย้อนกลับไปว่า ประยุทธ์นั้นเป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวของพลังประชารัฐที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา

แม้ว่าประยุทธ์นั้นจะได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุดจากบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ 208 เสียง แต่ก็จะเห็นว่าคะแนนเสียงของประยุทธ์นั้นตราบใดที่มาจากพรรคมากกว่าหนึ่งพรรค ก็ต้องถือว่ายังมีอำนาจเหนือพรรคร่วมรัฐบาล หรือมีอำนาจเหนือนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา

แต่ทั้งนี้การมีอำนาจเหนือนักการเมืองนั้นอาจไม่ได้แปลว่าเป็นการสยบยอมของนักการเมืองอย่างหมอบราบคาบแก้ว (คาบกล้วยคงจะพอมีบ้าง) แต่หมายถึงว่าประยุทธ์ยังทำให้พวกเขาสมประโยชน์ในการยื่นข้อเรียกร้องต่อรองได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการต่อรองอาจจะอยู่ในรูปลักษณะของการร้องขออย่างพินอบพิเทา แต่ก็ไม่ได้สยบยอมไปเสียหมด

Advertisement

การตกต่ำของคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจของประยุทธ์ในรอบนี้ ทำให้คนอาจจะต้องเริ่มคิดแล้วว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนๆ ประยุทธ์ก็ได้คะแนนไม่ไว้วางใจน้อยกว่าชาวบ้านเขา (เมื่อ 4 กันยายน 2564 ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 208 แต่ในครั้งที่แล้วเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 206 แต่ก็ยังมีคนที่ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่า คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 207 สุชาติ ชมกลิ่น 212 และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 215) แต่ก็ยังอยู่มาได้ไม่ใช่เหรอ ในห้วงขณะแห่งการฉุกคิดนี้เองที่ทำให้เราต้องกลับมานึกกันว่า แม้ว่าคะแนนไม่ไว้วางใจประยุทธ์ในรอบนี้จะสูงกว่ารอบที่แล้ว สูงเกินหน้าเกินตาเพื่อน และสูงที่สุด แต่ประยุทธ์ก็คงจะอยู่ต่อได้ เพราะนอกเกมสภาผู้แทนไปแล้วประยุทธ์ยังมีมิตรแท้อย่างวุฒิสภาที่ตนนั้นเลือกมากับมืออีกถึง 250 คน ในการประคองประยุทธ์ไว้อย่างใจถึงใจ

ประการที่สอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่ทันโลก-ไม่ทันสมัยของแรงตึงเครียดและขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องต่างๆ ที่พูดกันในสภานั้นมีลักษณะที่ไม่ทันโลกไม่ทันกาลอยู่ไม่ใช่น้อย ในโลกนอกสภาที่ความเร็วของเวลานั้นทวีความเร่งอย่างสูงมาก ถ้าใครอยู่ในโลกของโลกออนไลน์ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และไลน์ จะพบว่าการนำเสนอเรื่องราวของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้แทบจะเป็นเรื่องที่เก็บเอาเรื่องจำนวนมากจากโลกอินเตอร์เน็ตมาพูด ส่วนที่จะเริ่มมีใหม่ๆ นั้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือนักการเมืองจะไม่ยอมเปิดเรื่องออกมาแถลงก่อนเวลา อาจไม่ใช่เพราะกลัวว่าฝ่ายรัฐบาลจะเตรียมข้อมูลมาตอบโต้ แต่อาจจะรู้สึกว่า ถ้าข้อมูลรั่วมากไปบนอินเตอร์เน็ต ก็จะขาดซึ่งความบันเทิงเริงรมย์ในสภาไปเสีย

การนำเสนอญัตติที่ต้องใช้เวลาประชุมหารือ เสนอแบบฟอร์ม กำหนดวันประชุม กำหนดตัวคนพูด ย่อมชี้ให้เห็นว่าการเมืองแบบรัฐสภานั้นล่าช้ากว่าการเมืองบนโลกออนไลน์ และการเมืองบนท้องถนน ที่ประเด็นนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว ควบคู่ไปกับความสนใจของประชาชนที่เสพข้อมูลที่หลากหลายขึ้น ความสนใจการเสพสื่ออยู่มาตรฐานสิบนาทีของคลิปยูทูบ หรือข้อความไม่กี่คำในทวิตเตอร์ ในไลน์ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการชุมนุมเองก็เปลี่ยนการปราศรัยให้สั้นลง เพื่อให้เกิดประเด็นที่หลากหลายและการเข้าร่วมที่ทวีจำนวนมากขึ้น

Advertisement

โลกที่หมุนไวขึ้นมากจากยุคทีวีหนังสือพิมพ์แบบเดิม จึงชี้ชัดว่าการที่คนจะตามการอภิปรายแบบเปิดทีวีแช่ไว้ทั้งวันอาจไม่ได้มีมากเหมือนแต่ก่อน ยิ่งไม่มีการจัดระบบที่ชัดเจนที่แจ้งให้ประชาชนรู้ว่า ช่วงเวลาไหนจะอภิปรายใครเป็นหลัก หรือจะชี้ว่าแกนนำหลักแต่ละคนนั้นจะขึ้นในช่วงไหนบ้าง ก็ย่อมทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ชวนติดตามอย่างเข้มข้นในแบบก่อน แต่อย่างน้อยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ก็ทำให้การอภิปรายนั้นสามารถถูกนำเสนอย้อนหลัง และส่งต่อได้อย่างรวดเร็วขึ้น

นอกจากการพูดถึงตัวรูปแบบของการอภิปรายแล้ว เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของการอภิปรายก็จะพบว่าขอบเขตของสิ่งที่อภิปราย หรือพูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่ “พูดได้” ในสภานั้นกลับแคบกว่าสิ่งที่พูดได้และพูดกันในพื้นที่ออนไลน์ และพื้นที่ถนนแห่งการชุมนุม นั่นหมายความว่า พื้นที่ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือพื้นที่แห่งโลกประจำวันนั้นกลับเป็นพื้นที่ที่กว้างกว่าพื้นที่ของการเมืองของรัฐสภา ของการเมืองตัวแทน

แต่การพูดว่าบางสิ่งพูดได้มากกว่าในโลกนอกสภานั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย แต่ความไม่ปลอดภัยกลับเสนอมิติของความเป็นจริงบางอย่างว่า โลกนอกสภานั้นรุนแรงและร้าวลึกกว่า เมื่อเห็นการปะทะ และการดำเนินคดีจริงที่เกิดขึ้น

แต่อย่างน้อยในโลกของสภานั้น สิ่งที่เราได้เห็นก็คือการพยายามยืนในพื้นที่เดียวกันให้ได้ของคนหลายฝ่าย และก็ยอมรับร่วมกันกลายๆ ว่าบางเรื่องนั้นยังพูดไม่ได้ แต่กระนั้นก็ตามเสียงบางเสียงก็ยังพอหลุดลอดออกมาได้บ้าง แม้ว่าจะยากเย็นเหลือเกิน

ประการที่สาม เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการเมืองในรัฐสภาในวันนี้มีข้อจำกัดมากมาย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เชื่อว่ารัฐสภาเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ และมีเรื่องของเอกสิทธิ์ในรัฐสภาคุ้มครอง ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่มี หรือความมีเอกสิทธิ์ของนักการเมืองแทบจะไม่เห็นแล้ว สิ่งที่พบก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภามันทำหน้าที่อะไรได้บ้างในบ้านเรา

คำตอบหนึ่งก็คือ การวิจัยในโลกพบว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีเพียงร้อยละห้าเท่านั้นเองที่จะนำไปสู่การที่รัฐบาลนั้นพ่ายแพ้ในเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่อย่างน้อยในร้อยละห้านั้น ก็มีกรณีไม่นานมานี้เช่นกัน เช่น กรณีของสวีเดน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นไม่สามารถโค่นรัฐบาลลงได้ เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลนั้นมักจะเป็นรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย มีลักษณะของรัฐบาลผสม และเป็นรัฐบาลที่การผสมกันนั้น หากไม่ใช่รัฐบาลที่ผสมหลายพรรค ก็เป็นการผสมกันแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพรรคที่ผสมกันนั้นอาจมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก แต่จำต้องร่วมมือกันด้วยเงื่อนไขของการร่วมมือชั่วคราว

จุดสำคัญก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นยังมีผลต่อการลดความชอบธรรมของรัฐบาลลงได้บ้าง เพราะฝ่ายค้านนั้นจะหวังล้มรัฐบาลเสียในคราวเดียวคงเป็นไปได้ยาก เพราะฝ่ายค้านมักได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ในแง่นี้ฝ่ายค้านจึงอาศัยการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการฟ้องประชาชน แต่ต้องไม่ลืมว่าในสมัยนี้การฟ้องประชาชนนั้นทำได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผ่านช่องทางออนไลน์ และประชาชนในประเทศนี้ก็เข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นอาจไม่ใช่ช่องทางที่จะพูดกับประชาชน เพราะตนเองก็มีสื่อในมืออยู่แล้ว คะแนนก็สูงกว่า แต่สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นการแสดงผลงานของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลกับผู้มีอำนาจว่าฉันได้ลุกขึ้นมาปกป้อง ขึ้นมาประท้วงโดยไม่อับไม่อาย เพราะเขาไม่ได้ทำให้ประชาชนดู แต่ทำให้ผู้มีอำนาจหยิบมือเดียวชม

แต่ในอีกประการหนึ่ง ในเงื่อนไขของการเป็นรัฐบาลผสมนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นกลับเป็นช่องทางในการต่อรองอำนาจหลังการอภิปรายอย่างเด่นชัด

และนี่คือหัวใจของการเมืองเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของบ้านเรา

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น มักจะเป็นเรื่องของการกดดันต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันในหมู่พรรคร่วม และนอกจากนั้น การเมืองในไทยเมื่อมีรัฐบาลผสมประกอบกันเป็นรัฐบาลยังจะพบเรื่องราวของการกดดันต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันเองในหมู่มุ้งของพรรคใหญ่ด้วย

การต่อรองกันของมุ้งในพรรคใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการเลือกตั้งในรอบนี้ และผมเองไม่เคยเชื่อว่าประยุทธ์นั้นจะถูกโค่นโดยคนในพรรคพลังประชารัฐ

ถ้าเราลองพยายามเข้าใจแรงกดดันของนักการเมืองในพลังประชารัฐเอง ก็จะพบว่าพวกเขาจะต้องกลับไปหาประชาชนในอีกปีกว่าๆ เท่านั้น และด้วยผลงานอันไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก ของรัฐบาลนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่ความไร้ประสิทธิภาพของตัวผู้นำคณะรัฐมนตรี แต่ยังหมายถึงทั้งการรวบอำนาจไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพไปซะทุกเรื่อง และการมีโควต้าตำแหน่งใน ครม.ที่สำคัญที่ไม่กระจายให้นักการเมือง อาทิ คลัง และพลังงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สร้างผลสะเทือนต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกหย่อมหญ้า บรรดานักการเมืองก็ต้องห่วงว่า ถ้าเขาฝากชีวิตไว้กับพลังประชารัฐต่อไป พวกเขาจะรอดไหมในครั้งหน้า

ที่สำคัญคนอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เป็นระดับเลขาฯพรรค ซึ่งย่อมต้องหมายถึงการดูแลชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรค และการคุมเกมสมาชิกพรรคให้อยู่ หากเขาไม่ได้อำนาจมากกว่านี้ ไม่ได้ตำแหน่งที่มากกว่ารัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ก็ต้องตั้งคำถามว่าเขาจะดลบันดาลชัยชนะให้พลังประชารัฐได้จริงหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นั่นหมายความอีกอย่างว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละครั้งนั้น นอกจากความชอบธรรมของรัฐบาลเป็นเงื่อนไขสำคัญในความอยู่รอดและคะแนนนิยมแล้ว การนับถอยหลังสู่เวลาที่จะต้องมีการเลือกตั้งเมื่อครบกำหนดการอยู่ในอำนาจก็เป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้แรงกดดันในเรื่องของการอยู่รอดของพรรครัฐบาลเองเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งอยู่ในครึ่งหลังของการอยู่ในอำนาจ แถมยังเป็นครึ่งหลังที่เป็นขาลงในกติกาที่ไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ไม่ต้องง้อใครก็ค่อนข้างจะยาก นักการเมืองในพลังประชารัฐเองก็ย่อมต้องรู้สึกกดดันกับความไร้ประสิทธิภาพ และความไม่รู้ร้อนรู้หนาว และความไม่ยี่หระของประยุทธ์ในการทำงาน และตอบคำถามสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญข่าวคราวของการที่จะมีการตั้งพรรคสำรอง หรือพรรคใหม่ที่อิงกับเครือข่ายมหาดไทยของอดีตข้าราชการชั้นสูงของพรรคเอง ก็ยิ่งต้องทำให้นักการเมืองที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐหวั่นไหว เพราะพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นพรรคเฉพาะกิจที่เกิดมาเพื่อสนับสนุนระบอบนี้เป็นหลัก และมีระบบกล้วยในการหล่อเลี้ยงพรรคจิ๋วจอมเขย่ง แต่อย่าลืมว่า ในเครือข่ายนิเวศวิทยาและโครงสร้างทางอำนาจของระบอบประยุทธ์นั้น นอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว ยังมีกองทัพ ยังมีเบื้องหลัง ยังมีระบบประชารัฐสามัคคี ซึ่งหมายถึงระบบการหนุนหลังของเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ ยังมีระบบราชการที่ได้ประโยชน์ตรงจากเงินเดือน และสวัสดิการ ยังมี ส.ว.ที่หยิบมาเอง และยังมีฐานสนับสนุนจากระบบระดมกำลังคนที่มหาดไทย ที่ลงรากไปถึงระดับหมู่บ้าน สู่ตำบล อำเภอ และจังหวัด

การที่ระบบ 3 ป.นั้นคุมนักการเมืองไว้ขาหนึ่ง คุมนักปกครองไว้อีกขาหนึ่ง คุมธุรกิจและเครือข่ายอำนาจไว้อีกด้านหนึ่ง ทำให้นักการเมืองซึ่งเคยคิดว่าตนเป็นส่วนหลักของสังคมย่อมเห็นว่าพวกเขามีพื้นที่เล่นที่จำกัดลง ยิ่งหากมหาดไทยไม่ถูกคุมโดยนักการเมืองจากพลังประชารัฐ ความหวาดหวั่นว่าพวกตนจะไม่ได้กลับสู่สภา เพราะพรรคอะไหล่ที่ต่อตรงกับนักปกครองนั้นก็จะเข้ามาแบ่งปันอำนาจไปได้ไม่ใช่น้อย

ระบบหลายขาของประยุทธ์และพวกนี้เองที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับนักการเมืองที่ยังสนับสนุนประยุทธ์ และยังเชื่อว่างบประมาณและเงินกู้ต่างๆ จะช่วยดูแลพื้นที่ของตนและสร้างโอกาสและความนิยมให้กับพวกตนอย่างเพียงพอที่จะกลับมาสู่เวทีทางการเมืองในครั้งหน้านั้นเริ่มสั่นคลอน

ดังนั้นเราจึงต้องจับตาการเจรจาต่อรองตำแหน่งทางการเมืองครั้งใหญ่ก่อนที่จะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการบริหารงานของรัฐบาลนี้ ว่าใครจะผลัดเปลี่ยนเข้ามาประคองอำนาจของกลุ่มก้อนของตนเอาไว้ได้

ประการที่สี่ การเมืองหลังการอภิปรายนอกเหนือจากจะเห็นการต่อรองอำนาจของพรรคร่วมเอง ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชน เราก็จะเห็นว่าการพยายามผลักดันการตรวจสอบของฝ่ายค้านเข้าสู่สถาบันทางรัฐธรรมนูญก็ดูจะตีบตัน เพราะองค์กรตรวจสอบที่เชื่อมโยงกับระบอบอำนาจนี้ดูจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือไม่ก็ช้า และทำเรื่องการตรวจสอบตกหล่นจนไม่เป็นที่พึ่งพาและคาดหวังของประชาชน การเมืองหลังการอภิปรายจึงย่อมจะเป็นช่วงเวลาที่มืดมนและตกต่ำต่อเนื่องต่อไป และมีมิติที่พึงพิจารณาอยู่สามประการ

หนึ่ง ประยุทธ์และระบอบนี้ก็จะอยู่แบบเนียนๆ ต่อไป ประยุทธ์จะไม่ลาออก และไม่ทำอะไรมากนอกจากปล่อยให้มีการต่อรองปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีบ้าง เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพันธมิตรร่วมอำนาจทั้งหลายให้ผลัดเปลี่ยนกันมาลิ้มรสของอำนาจและความมั่งคั่ง ประชาชนก็จะเดือดร้อนเหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องวัคซีน โดยรัฐบาลหวังว่าสถานการณ์ไวรัสจะดีขึ้นโดยไม่ได้มองย้อนหลังไปบ้างว่าเป็นรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนตายไปมากที่สุดรัฐบาลหนึ่งในประวัติของชาติ หากไม่เป็นรัฐบาลที่ทำให้คนรอดตายและมั่งคั่ง หรือเป็นรัฐบาลที่ปล่อยให้คนตายเป็นจำนวนมากถึงมากที่สุด หรือไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้คนได้มากที่สุด แถมรัฐบาลนี้ยังอาจจะย่ามใจว่าไม่มีใครสามารถไล่พวกเขาลงได้ เพราะภายใต้กฎกติกาในรัฐสภานั้น การลาออกของประยุทธ์โดยมีคนที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่น้อยมาก หรือที่มีก็แทบจะหมดอนาคตทางการเมืองในรอบนี้กันไปหมดแล้ว แถมไม่มีแรงกดดันให้ต้องรีบเลือกนายกฯคนใหม่ ก็ทำให้ประยุทธ์เบาใจไปได้ว่าเขาคือคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นมาแข่งขันได้เลย

สอง แรงกดดันทั้งในและนอกสภาจะทำให้ประยุทธ์เริ่มคิดจะยุบสภา แต่เขาจะอยู่ในอำนาจ และกำหนดเงื่อนไขในการยุบสภามากกว่าพลังจากฝ่ายอื่นๆ สิ่งที่พึงระวังก็คือการปรับกฎกติกาการเลือกตั้ง การใช้อำนาจหน้าที่ของเครือข่ายใน ทางไม่ชอบที่จะส่งอิทธิพลไปถึงการเลือกตั้ง และการใช้งบประมาณที่น่าสงสัยในโค้งสุดท้าย เพราะเงินกู้อีกจำนวนมหาศาลที่ยังรอให้เบิกจ่าย แต่การกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายในสภาพที่ฝ่ายรัฐบาลกุมอำนาจเต็มในการกำหนดนั้น ก็อาจทำให้เงินเหล่านั้นเป็นเรื่องของการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สาม การเมืองนอกสภาจะรุนแรงร้าวลึกขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการกำหนดจังหวะการก้าวลง และความพ่ายแพ้ของระบอบประยุทธ์ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเงื่อนไขที่กำลังทหารอาจจะเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ทุกเมื่อ เพราะการเมืองที่เป็นอยู่นั้นฝ่ายผู้กุมอำนาจมักไม่ได้แสดงออกถึงความเมตตา หรือความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เท่ากับความเข้าใจในอำนาจที่ตนมี ว่าสูงกว่าประชาชน

สรุปว่าทั้งสามแนวทางที่ผมกล่าวมาก็ดูจะมืดมนลงทุกวันครับ

 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image