เรียนออนไลน์…การบ้าน ‘อย่าเยอะ’

เรียนออนไลน์...การบ้าน ‘อย่าเยอะ’

เรียนออนไลน์…การบ้าน ‘อย่าเยอะ’

การเรียนการสอนแบบออนไลน์กลายเป็น New Normal ทางการศึกษาสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเราประสบปัญหา COVID-19 ระบาดมาร่วม 2 ปีแล้ว COVID-19 เป็น “ตัวเร่ง” ให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น ผู้เขียนก็ต้องยอมรับว่าตนเองสอนออนไลน์เป็น รวมทั้งใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนอื่นๆ เช่น Google Classroom ได้ เมื่อต้องปรับการสอนของตัวเองเป็นระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 นี่แหละ ท่ามกลางการระบาดของโรค มีผลดีบางอย่างเกิดขึ้น มีมูลค่าประเมินไม่ได้
เช่นกัน วิกฤตของบางอย่างจึงเป็นโอกาสของอีกบางอย่างแน่นอน

การเรียนระบบออนไลน์ในสภาพปัจจุบัน กรณีนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ ของประเทศ เราต้องยอมรับว่าเป็นช่วง “ประคับประคอง” เพื่อไม่ให้การเรียนของเด็กๆ สะดุดและเสียหลักจนล้มระเนระนาด และเป็นการป้องกันให้เด็กๆ นักเรียนห่างไกลจากภาวะเสี่ยงจากการระบาดของโรค การมุ่งหวังเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงหรืออยู่ในระดับเดิมของรายวิชาต่างๆ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ประคับประคองให้ผลสัมฤทธิ์และการเรียนรู้ของนักเรียนมีผลลัพธ์ไม่ด้อยกว่าเดิมก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว เนื่องจากการเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศเรานั้นประสิทธิผลการเรียนน่าจะยังด้อยกว่าระบบปกติแน่นอน แม้ยังไม่มีผลการวิจัยในเรื่องนี้ก็เถอะ

ในระดับปริญญาตรีและระดับสูงกว่าปริญญาตรีที่ผู้เขียนสอนอยู่นั้น พบเจอว่าไม่น่าห่วง ผู้สอนเกือบทุกคนสามารถควบคุมให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ด้อยกว่าเดิมได้แน่นอน กล่าวเฉพาะศึกษาปริญญาตรีที่ผู้เขียนสอนออนไลน์มาหลายเทอมในภาวะโควิดระบาดนั้น พบว่าไม่มีปัญหาเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ต นักศึกษาทุกคนมีความพร้อม การสอนโดยแบ่งกลุ่มย่อยแล้วมอบหมายหัวข้อให้นักศึกษาอภิปรายร่วมกันภายในกลุ่มก็ไม่มีปัญหาผู้เขียนทำแล้ว ผลลัพธ์ของนักศึกษาดีมาก การสอบด้วยระบบออนไลน์ก็ไม่มีปัญหา เขาทำได้ทุกคน การใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการเรียนเช่น Google Classroom เขาทำได้ดีกว่าผู้สอนอย่างผู้เขียนเสียอีก หลายๆ เรื่องผู้สอนขอความรู้เพิ่มเติมจากนักศึกษา เรื่องนี้เป็นเรื่องของวัย และสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่เราต้องยอมรับร่วมกันว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีความพร้อมเรื่องนี้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

Advertisement

ปัญหาที่นักศึกษาสะท้อนเมื่อผู้เขียนสอบถามเพื่อเป็นการสำรวจคือเขาอยากมาเรียนที่มหาวิทยาลัยมากกว่าเรียนออนไลน์เนื่องจากอยากเจอเพื่อน อยากทำกิจกรรมนักศึกษาร่วมกันกับเพื่อน ในกรณีนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโทนั้นนักศึกษาไม่มีปัญหาเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการเรียนแม้แต่คนเดียว และนักศึกษากลุ่มนี้ต้องการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบมากกว่าต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย

เมื่อการเรียนออนไลน์ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเช่นนั้น ความพร้อมด้านอุปกรณ์ก็ขาด และเป็นช่วงประคับประคอง ผู้เขียนคิดว่าการบ้านของนักเรียนที่รับการสอนแบบออนไลน์ต้องไม่มากเกินไป ครูต้องพยายามทำการสอนออนไลน์ให้มีสภาพเหมือนการเรียนจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ต่างกันเฉพาะเป็นห้องเรียนเสมือนเท่านั้น การเรียนออนไลน์หากครูทุกคน “รุมกันให้การบ้าน” เชื่อแน่ว่านักเรียนไม่สามารถรับไหว ปัญหาของการเรียนออนไลน์โดยทั่วไป มีเรื่องความไม่พร้อมของวัสดุอุปกรณ์อยู่ส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อให้การบ้านมากเกินไปอีก นับเป็นการเพิ่มปัญหาให้แก่นักเรียน รวมทั้งกระทบถึงผู้ปกครองแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การบ้านยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ แต่ต้องอยู่ในปริมาณพอเหมาะ ในสภาพบ้านเมืองปกติการบ้านของนักเรียนก็ต้องมากเกินอยู่แล้ว จะมานับประสาอะไรกับสภาพภาวะโรคระบาด พอเหมาะของผู้เขียนก็คือไม่เกินขั้นกลาง ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเรื่องการเรียนออนไลน์และการมอบการบ้านนักเรียนเพื่อให้เกิดความลงตัวเรื่องการเรียน และการใช้ชีวิตในสภาพบ้านเมืองเกิดโรคระบาดของนักเรียนดังนี้

Advertisement

1.การเรียนแต่ละครั้งจำเป็นจะต้องเบ็ดเสร็จในเวลาเรียน ไม่จำเป็นต้องมีการบ้าน ให้การบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากการบ้านมากจะเป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่นักเรียน ครูที่คิดว่าการบ้านคือฝึกความรับผิดชอบของนักเรียนนั้น จำเป็นจะต้องคิดใหม่ ความรับผิดชอบฝึกด้วยกลไกอื่นได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องฝึกด้วยการบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เรากำลังประคับประคองให้การเรียนของเด็กๆ เกิดผลสัมฤทธิ์ไม่ต่ำกว่าเดิม เพราะเราอยู่ในภาวะการระบาดของโรคร้าย

2.หากครูสอนออนไลน์โดยการมอบหมายการบ้านกันทุกวิชา โดยการเข้าใจว่าการมอบหมายงานหรือการบ้านเป็นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center) เป็นการคิดที่คลาดเคลื่อนจากแนวคิดหลักของการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) นั้น จำเป็นต้องพิจารณาบริบทอื่นประกอบด้วย ขณะนี้เป็นสภาพที่สังคมมีการระบาดของโรค นักเรียนและผู้ปกครองมีความทุกข์เรื่องโรคระบาดเป็นทุนเดิม การเพิ่มการบ้านที่มากกว่าความจำเป็นทำให้ผู้เรียนมีความทุกข์ การเรียนหนังสือในสภาพที่มีความทุกข์นั้นไม่สามารถหวังผลสัมฤทธิ์ในระดับสูงได้แน่นอน และเป็นที่มาของความเครียด การ “จมปลักชีวิตอยู่บนกองความเครียด” รังแต่จะให้มนุษย์เหี่ยวเฉามองโลกในแง่ร้าย และเป็นพลเมืองที่ด้อยคุณภาพของประเทศชาติ

3.ถ้าจำเป็นต้องให้การบ้านก็ให้เฉพาะบางวิชาเท่านั้น เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เนื่องจากวิชาเหล่านี้ต้องอาศัยการทบทวนบ่อยๆ ทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ มากกว่าวิชาอื่น มิฉะนั้นอาจจะเกิดการลืมและความคงทนของสิ่งที่เรียนรู้จะอยู่ได้ไม่นาน และลดจำนวนข้อของการบ้านให้น้อยลง

4.ใช้เทคนิคการสอบแบบการใช้คำถาม (Questioning Technique) ให้มากที่สุด สอนไปถามไป เพื่อกระตุ้นความตั้งใจของนักเรียนอยู่สม่ำเสมอ ถามเป็นรายเดียวบ้าง คือให้ตอบเฉพาะคนที่ถาม และถามรายกลุ่มทั้งห้องเรียนบ้าง คือใครตอบได้ตอบ เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ทันทีขณะสอน ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม เมื่อนักเรียนตอบถูกหรือไม่ถูกก็ตามต้องเสริมแรงนักเรียนเพื่อให้เขามีกำลังใจในการเรียน

5.ไม่ต้องเคร่งครัดเรื่องเนื้อหาการสอนจนเกินไปว่าครบตามที่หลักสูตรกำหนดหรือไม่ กล่าวคืออาจจะไม่ครบตามที่หลักสูตรกำหนดทุกเรื่อง ไม่ว่าหลักสูตรแกนกลาง หรือหลักสูตรสถานศึกษา

6.ต้องสอนความรู้เรื่องไวรัส COVID-19 และการป้องกันโรคด้วย สอนสุขลักษณะนิสัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันโรค อย่าวางใจว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง เป็นหน้าที่ของบุคคลทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของครูและสถานศึกษาด้วยแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในช่วงของการป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ เป็นความท้าทายความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษาและของครูทุกคนที่เราต้องนำพานักเรียนของเราข้ามด่านนี้ไปให้ได้อย่างปลอดภัย มีความสุข ไม่บกพร่องเรื่องความรู้ ความสามารถและทักษะต่างๆ ที่หลักสูตรกำหนด

ขอให้กำลังใจครูทุกคน ในฐานะผู้เขียนก็เป็นครูคนหนึ่ง

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image