มหันตภัย CLIMATE CHANGE

วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นลงอย่างไรและในช่วงระยะเวลาอีกนานเท่าไร เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ีร้ายแรง ซึ่งจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติทั้งมวล ก่อให้เกิดการปรับตัวในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในขณะที่พฤติกรรมของมนุษยท์ทำให้ภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในช่วงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อุณหภูมิโลกเริ่มร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งสองมีอัตราการละลายเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่นอกจากจะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีความหนาแน่น เปลี่ยนไป ทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรมีความเร็วลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในลักษณะต่างๆ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่นเฮอริเคน หรือไซโคลน ซึ่งเป็นพายุที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจน
ไฟป่าที่เกิดในทวีปต่างๆ ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย อุทกภัยขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกภูมิภาค รวมถึงความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรงในทวีปแอฟริกา

นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชั้นแนวหน้าทางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศตะวันตกออกมาเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก เรียกร้องให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ตลอดจนติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกทั้งสองอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้นำประเทศทั้งหลายที่อยู่ติดทะเล เริ่มตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองริมฝั่งทะเลในประเทศของตน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งกว่าปกติ บางประเทศในทวีปยุโรปมีประสบการณ์จากการทำเขื่อนกั้นน้ำทะเล เพื่อเพิ่มพื้นที่ของประเทศ แต่เมื่อเกิดพายุอย่างรุนแรงในทะเลเหนือ ทำให้น้ำทะเลเคลื่อนที่ผ่านเขื่อนเข้ามาได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณกว้าง ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการแก้ไขอย่างมากมาย

ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับอุทกภัยร้ายแรงจากการที่มีพายุ
เฮอริเคนขนาดรุนแรงมาก พัดพาน้ำทะเลเข้ามาท่วมพื้นที่ชุมชน โดยระบบป้องกันน้ำท่วมเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องอพยพผู้คนจำนวนมากออกจากที่อยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วม ใช้งบประมาณจำนวนมากในการระบายน้ำออก ตลอดจนซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนจะเคลื่อนย้ายประชาชนกลับเข้าพื้นที่ได้

Advertisement

ก ลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้ต่ำ ตัวอย่างเช่น บังกลาเทศ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ราบลุ่มเกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่พัดพามากับแม่น้ำ เมื่อพายุไซโคลนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทำให้เกิดอุทกภัยขนาดใหญ่ แทบจะกล่าวได้ว่าน้ำท่วมทั้งประเทศ ต้องอพยพผู้คนขึ้นไปทางเหนือ เสียผืนดินชายฝั่งให้กับทะเล โดยทวีความรุนแรงและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียน ที่อาจจะต้องดำเนินการย้ายเมืองหลวงของประเทศไปอยู่ในที่ตั้งใหม่ (เหมือนกับประเทศเมียนมาที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว) เพราะกรุงจาการ์ตาเจอกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องและรุนแรงในหลายส่วนของเมือง เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต้องหาทางแก้ไขในระยะยาว

การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลและมหาสมุทรต่างๆ สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเมื่อเกิดน้ำท่วมก็อพยพผู้คน ระบายน้ำออก ซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น และย้ายคนกลับมา ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เทคโนโลยีก้าวหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปตะวันตก อาจมีการวางแผนแก้ไขระยะยาว รวมถึงการจัดเตรียมงบประมาณจำนวนมากสำหรับการดำเนินการ โดยบางแนวคิดก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ให้มนุษย์สามารถอยู่อาศัยบนพื้นน้ำได้ เช่นเดียวกับที่อยู่บนแผ่นดินในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับประเทศของเราซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง พื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมดต้องถูกกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน บางเมืองอาจจะมาก บางจังหวัดอาจจะน้อย ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ จึงควรจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา วิจัย และวางแผนการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ประกอบด้วย นักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งคงจะไม่มากนัก (ในรูปแบบของงานวิจัยทั่วไป) เพราะในขณะนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลสุขภาพของประชาชน

การวางแผนคือการคิดคาดการณ์ล่วงหน้า หากดำเนินการอย่างรอบคอบ ทั่วถึง และเป็นระบบ จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ดังคำกล่าวที่ว่า ในวิกฤต มีโอกาส คาดล่วงหน้าŽ

วุฒิชัย กปิลกาญจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image