ข้อเสนอใช้ 3 เสาหลักในหมู่บ้าน เป็นฐานป้องกันและยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019

ข้อเสนอใช้ 3 เสาหลักในหมู่บ้าน เป็นฐานป้องกันและยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019

ข้อเสนอใช้ 3 เสาหลักในหมู่บ้าน
เป็นฐานป้องกันและยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019

ผมเข้าใจว่า การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาเกือบทุกระลอก รัฐบาลและ ศบค.ส่วนใหญ่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือรวมศูนย์ไว้ที่ ศบค.ตลอดมา จึงทำให้เห็นว่าการบริหารจัดการแก้ปัญหาเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคจึงไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดปัญหาที่ล้มเหลวในหลายๆ ประเด็น เช่น การจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงและการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและอยู่ในภาวะยากลำบาก ก็ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการเช่นกัน รวมถึงมาตรการปิดแคมป์คนงานและส่งผู้คนกลุ่มเสี่ยงกลับภูมิลำเนา ก็ยังขาดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

ปัญหาที่เป็นอยู่และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลพวงมาจากวิธีคิดอยู่บนฐานของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลและ ศบค.ทั้งสิ้น ขาดการกระจายอำนาจเพื่อให้มีการแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลในการช่วยป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเมื่อรวมศูนย์อำนาจ มีปัญหาและไม่มีประสิทธิภาพ ทางออกจึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ช่วยบริหารจัดการ และเห็นว่าน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

โดยเสนอให้ใช้ 3 เสาหลักในหมู่บ้าน (ชุมชน) เป็นฐานในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง 3 เสาหลักดังกล่าวประกอบด้วย เสาหลักที่ 1 ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลหรือ รพ.สต. เสาหลักที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในตำบล หมู่บ้าน และเสาหลักที่ 3 ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ทั้ง 3 เสาหลักได้บูรณาการความร่วมมือกันทำงานในการบริหารจัดการดังนี้ (1) ดำเนินการตรวจเชิงรุกทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน เพื่อควานหาเชื้อและคัดกรองบุคคลในครัวเรือนในหมู่บ้านเพื่อแบ่งประเภทกลุ่มคน เช่น กลุ่มกักตัวที่บ้าน กลุ่มติดเชื้อที่ต้องใช้โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเห็นว่า รพ.สต. และศูนย์บริการสาธารณสุขของ อปท. น่าจะสามารถปรับเป็นโรงพยาบาลสนามได้หรือในผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงก็ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัด (2) เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายบุคคล การเดินทางของประชาชนในหมู่บ้านและบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกส่งกลับภูมิลำเนา (3) สำรวจบุคคล ครัวเรือนและผู้ประกอบการในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบและตกอยู่ในภาวะยากลำบาก เพื่อเสนอให้จังหวัดและรัฐบาลได้ช่วยเหลือ เยียวยา ให้ตรงเป้าหมายให้มากที่สุด

Advertisement

ทั้งนี้รัฐบาลและ ศบค.ต้องกระจายงบประมาณให้กับจังหวัดและท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดหาเครื่องตรวจเชื้อ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และเป็นเงินช่วยเหลือเยียวยา แก่บุคคล ครัวเรือนและสถานประกอบการในหมู่บ้านที่ถูกผลกระทบและอยู่ในภาวะยากลำบากและที่สำคัญรัฐบาลและ ศบค.ต้องกระจายวัคซีนไปให้จังหวัดให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนแต่ละหมู่บ้านด้วย

ผมจึงเห็นว่า การให้อำนาจกับจังหวัดและ ศบค.จังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธานในการบริหารจัดการและร่วมมือกับ 3 เสาหลักในหมู่บ้าน จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เพียงแต่รัฐบาลและ ศบค.ต้องกล้าตัดสินใจผันเงินไปให้จังหวัดในการบริหารจัดการแก้ปัญหาและผันเงินให้กับท้องถิ่น (อปท.) ในการประสานการตรวจเชื้อเชิงรุก

ส่วนในการผันเงินให้จังหวัด เสนอให้จังหวัดละโดยเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จะใช้เงินประมาณ 76,000 ล้านบาท และผันเงินจัดสรรให้กับท้องถิ่น (อปท.) เฉลี่ยท้องถิ่นละ 20 ล้านบาท จากจำนวน อปท. 7,850 แห่ง เป็นเงินเฉลี่ย 157,000 ล้านบาท รวมเงินงบประมาณที่รัฐบาลต้องผันให้จังหวัดและท้องถิ่น โดยประมาณ 233,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นการบริหารจัดการทั้งการจัดหาเครื่องตรวจหาเชื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์และการช่วยเหลือ เยียวยา ครัวเรือน ผู้ประกอบการในหมู่บ้าน ทั้งที่ถูกกักตัวและถูกผลกระทบที่อยู่ในภาวะยากลำบาก โดยพิจารณาใช้เงินกู้ใหม่ 500,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ให้จังหวัดพิจารณาจัดหาเวชภัณฑ์ยาสมุนไพรพื้นบ้านที่ได้มาตรฐาน เพื่อกระจายให้กับครัวเรือนในหมู่บ้านเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอีกทางเลือกทางหนึ่ง แนวทางทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว ถือว่าเป็นการป้องกันและยับยั้งโดยการใช้ 3 เสาหลักในการทำงานโดยมีจังหวัดและท้องถิ่นเป็นฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงาน ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาแนวใหม่

ส่วนรัฐบาลและ ศบค. รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่กำหนดนโยบายและติดตาม ประเมินผลให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายของแต่ละจังหวัด รวมทั้งตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแนวทางที่เสนอให้ไช้ 3 เสาหลักนี้ เห็นว่าที่ผ่านมา 3 เสาหลักได้ทำงานช่วยรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ใช้ไม่เต็มที่และยังต่างคน ต่างทำและหากทั้ง 3 เสาหลักได้บูรณาการกันก็จะเป็นแนวทางที่น่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่า การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลและ ศบค.ฝ่ายเดียว ทั้งยังเป็นการทำให้หมู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมวางแผน ในการจัดการตนเองของหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกแรงหนึ่ง

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image