น้ำท่วมระลอกแรก : เมื่อปัญหาไม่ได้มีไว้แก้

ต้องการจะบันทึกเรื่องราวของน้ำท่วมในประเทศไทยในปี พ.ศ.2564 แต่ต้องย้ำว่านี่เป็นการพูดถึงน้ำท่วมในช่วงต้น หรือระลอกแรกเท่านั้น

หมายถึงว่า น้ำท่วมในหนึ่งปีก็น่าจะมีหลักๆ สักสามรอบ รอบแรกก็คือ น้ำท่วมอีสาน และพื้่นที่ใต้เขื่อนใหญ่ในภาคกลางตอนบนเรื่อยมาจนถึงภาคกลางตอนล่าง ส่วนรอบที่สองก็คือ น้ำท่วมกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ และระลอกที่สามก็คือ น้ำท่วมภาคใต้

น้ำท่วมภาคใต้จะเป็นอะไรที่แยกไปจากน้ำท่วมสองระลอกแรก เพราะน้ำที่ท่วมจะมาจากมรสุมอีกชุดหนึ่ง และปริมาณน้ำไม่ได้ไหลลงมาจากภาคกลาง นอกจากนั้นน้ำท่วมภาคใต้จะเกิดขึ้นประมาณปลายปี เป็นช่วงที่สองระลอกแรกนั้นจบไปแล้ว และตัวผมเองก็ไม่ค่อยจะได้สัมผัสในส่วนนี้เท่าไหร่

ขณะที่น้ำท่วมสองระลอกแรกนั้นค่อนข้างจะเกี่ยวกันอยู่มาก เพราะน้ำท่วมระลอกแรกส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น จึงเกี่ยวพันกับการที่น้ำจะมาถึงกรุงเทพฯหรือไม่

Advertisement

ส่วนในระลอกสอง กรุงเทพมหานครเองก็มีองค์ประกอบสำคัญสักสี่ประการ คือน้ำที่หลากลงมา น้ำทะเลที่หนุนสูงจนระบายออกไม่ได้ ส่วนที่มาจากฝนตกกระหน่ำ (น้ำท่วมรอการระบาย) และการไม่รับมือในเมือง เช่น ท่อ คลอง และการคำนวณพื้นที่เก็บน้ำ ซึ่งอีกไม่นานเกินรอก็คงจะได้เห็นปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครเหมือนทุกๆ ปี

กลับมาเรื่องประเด็นของน้ำท่วมรอบแรก สิ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจก็คือ ตกลงน้ำท่วมนี่เป็นปัญหาโลกแตกกับประเทศเรา หรือว่าเรามีวิธีเข้าใจและอยู่กับมันอย่างแปลกๆ โดยเฉพาะรัฐ/รัฐบาล

ในอดีตเคยมีคำอธิบายที่ทรงพลังว่า รัฐนั้นจะสามารถสถาปนาอำนาจได้ก็ด้วยสมรรถนะในการจัดการน้ำ โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการกับระบบน้ำ ทั้งการชลประทานและการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เช่น การย้ายเมืองหลวงจากภัยแล้ง หรือแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง รวมถึงปัญหาระหว่างรัฐว่าด้วยเรื่องการจัดการน้ำ และระบบการจัดการเหมือง ฝาย แต่จะไปถึงการไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของที่ดิน หรือกำลังคนเอาเสียเลยก็อาจจะเลยเถิดไปนิด

Advertisement

อย่างไรก็ดี คุณูปการสำคัญของแนวคิดว่ารัฐโบราณมีฐานอำนาจอยู่ที่ความสามารถในการจัดการระบบน้ำ และแบ่งปันทรัพยากรในเรื่องดังกล่าวไปยังกลุ่มคนที่แตกต่างกันนั้น ทำให้แนวคิดเรื่อง “เผด็จการแบบโลกตะวันออก” (Oriental Despotism) หรือ “เผด็จการพลังน้ำ” (Hydraulic Despotism) ยังคงถูกนึกถึงเสมอ ไม่ใช่เพราะว่าอำนาจในการจัดการน้ำเป็นเรื่องของรัฐโบราณ แต่ผู้เขียนคือ Wittfogel ได้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจในเรื่องการจัดการน้ำนี้ก็เป็นรากฐานสำคัญของอำนาจเผด็จการสมัยใหม่ในโซเวียตรัสเซีย และจีน (K.Wittfogel. 1957. Oriental Despotism; a Comparative Study of Total Power. New Haven: Yale University Press)

ไม่ว่าขอเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นไปตามทฤษฎีเผด็จการพลังน้ำมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความพยายามที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบรัฐราชการในแบบโบราณกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในยุคสมัยที่มากกว่าเรื่องของการที่จะบอกว่าสวดมนต์สิจ๊ะ เพราะขนาดรัฐโบราณผู้นำเองยังต้องทำอะไรมากกว่ารอรับรายงาน และแนะนำให้สวดมนต์

และยิ่งทำให้เห็นว่าในกรณีของรัฐไทย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้นำในทุกยุคสมัยก็จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเป็นพิเศษ และเมื่อพูดถึงการให้ความสนใจในการบริหารจัดการน้ำเป็นพิเศษมันก็ไม่ใช่เรื่องของความเป็นโลกยุคใหม่ หรือยุคเก่าไปเสียทั้งหมด

เพราะมันเป็นเรื่องของการผสมผสานระหว่างอำนาจในเชิงบารมีและประเพณี คือทำให้แผ่นดินร่มเย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ และก็หมายถึงเรื่องของความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชน รวมทั้งการมีระบบราชการแบบโบราณที่ยังต้องทำงานกำกับดูแลเรื่องต่างๆ เอาไว้ และพร้อมต่อการศึกสงคราม และเชื่อมโยงอำนาจท้องถิ่นในส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันในระดับหนึ่ง รวมทั้งลดหย่อนภาษีต่างๆ หากการเก็บเกี่ยวทำได้ไม่ดีพอ

มาในส่วนของโลกสมัยใหม่ ความเข้าใจที่มีในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนก็มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก ทั้งในแง่ของการขยายอำนาจของรัฐและความซับซ้อนในการทำงานของรัฐ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเองที่จากเดิมการเพาะปลูกอาจจะเป็นไปเพื่อยังชีพ หรือค้าขายแลกเปลี่ยนในปริมาณที่ไม่มากนัก มาสู่การเพาะปลูกที่ไม่ได้อิงกับการยังชีพพื้นฐานแต่ต้องการเงินตรา และหมายรวมไปถึงการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความซับซ้อนของลำดับขั้นตอนในการผลิต เช่น การปลูกข้าว ส่งออก

และองค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มเข้ามาอีกด้านหนึ่งคือ มิติทางวิทยาศาสตร์ ที่พัฒนามาเป็นเรื่องวิศวกรรมศาสตร์ที่ไม่ใช่องค์ความรู้ในระดับของการไขความลับของจักรวาล แต่ยังหมายถึงปฏิบัติการจริงในพื้นที่และผู้คน ผ่านการวัด ประเมิน และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน

วิศวกรรมศาสตร์โดยเฉพาะวิศวกรรมโยธาจึงเป็นฐานสำคัญของการก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ ไม่น้อยไปกว่าการสาธารณสุขแบบแผนใหม่ (P.Carroll. 2006. Science, Culture, and Modern State Formation. Berkeley, CA: University of California Press.) และองค์ความรู้ด้านการเศรษฐกิจ หรือกฎหมายเช่นกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิศวกรรมศาสตร์ทำให้เราจินตนาการ สัมผัส และได้รับผลกระทบจริงจากการดำรงอยู่ การปฏิบัติการ และความชอบธรรมของรัฐอย่างจริงจัง จนบางทีมากกว่าเรื่องราวทางกฎหมายด้วยซ้ำ

การบริหารจัดการน้ำจึงเกี่ยวพันกับความเป็นรัฐวิศวกรรม และศาสตร์ทางวิศวกรรมอย่างแนบแน่น ระบบการชลประทานสมัยใหม่ไม่ว่าจะในแง่ของการก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำ การบริการจัดการน้ำทั้งเพื่อการเกษตร และการป้องกันบ้านเนื่องจากน้ำท่วม รวมไปถึงเรื่องของการนำเอาน้ำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า

สิ่งที่ต้องการจะย้ำก็คือว่า เหตุผลหนึ่งที่คนสมัยใหม่เขายอมอยู่ใต้รัฐก็เพราะเขาเชื่อมือ หรือเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐในการจัดการกับธรรมชาติได้ เพราะรัฐสมัยใหม่จะไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญโชคชะตาด้วยตัวเอง และจะไม่ทำหน้าที่แค่ไปเยี่ยม หรือมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน เพราะเรื่องเหล่านั้นองค์กรสาธารณกุศลที่ไหนก็ทำได้ และต่อให้ทำก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความโดดเด่นของสมรรถนะของรัฐ โดยเฉพาะรัฐสมัยใหม่ในการจัดการชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เมื่อเทียบกับการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการธรรมชาติด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่ และด้วยสรรพกำลังในด้านต่างๆ ในการสร้างกลไกในการจัดการธรรมชาติโดยเฉพาะในกรณีของการควบคุมรัฐที่มีต่อภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่แค่อวดฝรั่งว่าตนก็สามารถเข้าถึงความรู้ตะวันตกได้เช่นกัน

ในหลายพื้นที่ในโลกรัฐวิศวกรรมยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเข้าไปยึดครองพื้นที่และผู้คนอื่นๆ ได้ด้วย และด้วยการชลประทานสมัยใหม่การระบายน้ำออกสามารถกระทำได้อย่างเป็นระบบ และกินพื้นที่มากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตแบบใหม่ๆ ได้ เช่น การปลูกพืชที่กินบริเวณกว้างขึ้น ส่วนการวางโครงสร้างอื่น เช่น ถนน ก็ช่วยทำให้เกิดการเข้าถึงของรัฐและกองทัพในการรักษาความสงบและรับมือกับข้าศึกได้ด้วย

เมื่อพูดเช่นนี้เราก็จะเห็นว่าในกรณีของรัฐไทยในปัจจุบันนั้นสมรรถนะของรัฐในการจัดการกับเรื่องของน้ำท่วมเป็นสิ่งที่น่ากังขาเป็นอย่างมาก นับเนื่องมาจากการมีรัฐสมัยใหม่อย่างน้อยเป็นร้อยปี สังเกตได้ว่ารัฐไทยในยุคหลังนี้ไม่เคยเอาชนะปัญหาน้ำท่วมได้เลย และไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงสมรรถนะและศักยภาพในการจัดการกับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างจริงจัง

นอกเหนือจากการโทษดินฟ้าอากาศ เช่น ปีนี้มีปรากฏการณ์โลกร้อนแบบไหนบ้าง สิ่งที่พึงพิจารณาคือ บ่อยครั้งที่รัฐเอาองค์ความรู้ที่ซับซ้อนทางวิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้างในการอธิบายว่าทำไมโครงการต่างๆ ในการจัดการน้ำจึงไม่สำเร็จ เช่น ปีนี้มีปรากฏการณ์ในระดับโลก น้ำจึงมากกว่าปกติ ทั้งที่งบประมาณในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำก็มีมาก และหน่วยงานก็มีอยู่ไม่น้อย

ย้อนมาดูสังคมไทยจะพบว่ายังมีความพยายามที่จะอธิบายว่าน้ำท่วมเป็นสภาวะธรรมชาติที่รัฐได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้กับประชาชน แต่ประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐและช่วยตัวเองด้วย แต่ยังไม่มีการพยายามสืบค้นอย่างจริงจังว่าผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไมน้ำท่วมยังกลับมาเหมือนเดิมอีก และก็วนเวียนเป็นวัฏจักร

จึงทำให้คิดไปว่า แทนที่รัฐสมัยใหม่และระบบราชการสมัยใหม่จะมีอยู่เพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ และเปลี่ยนแปลงธรรมชาติรองรับระบบการเพาะปลูกสมัยใหม่ และชีวิตของผู้คน กลับกลายเป็นว่า รัฐราชการ/รัฐวิศวกรรม/รัฐชลประทานสมัยใหม่มองภัยพิบัติเป็นทรัพยากรในการดำรงอยู่ของตนผ่านงบประมาณและกำลังคนที่หล่อเลี้ยงตัวเองอย่างพึ่งพาอาศัยกับภัยพิบัติที่ประชาชนต้องแบกรับ

ถ้ามองแบบนี้แล้ว เราจะไม่มองว่ารัฐนั้นล้มเหลว หรือขาดประสิทธิภาพ แต่เรากำลังเห็นว่ารัฐใช้ความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในฐานะฐานทรัพยากรของตนเองในการดำรงอยู่บนความเดือดร้อนของประชาชน

ตราบใดที่ประชาชนยังเดือดร้อน เมื่อนั้นรัฐก็จะมีข้ออ้างในการปกครอง แต่ถ้าความเดือดร้อนหมดไปอย่างสมบูรณ์รัฐก็จะไม่มีเหตุผลในการดำรงอยู่ ดังนั้น การสร้างสมดุลและพลวัตของการทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ โดยการเขียนโครงการ และแก้ปัญหารายวันโดยไม่คิดแก้ปัญหาหลักจึงเป็นดังเงื่อนไขต่ออายุของรัฐและระบบราชการเอาไว้ เพราะรัฐไทยโดยเฉพาะรัฐราชการยึดกุมมิติด้านความชอบธรรมเชิงสัญลักษณ์ และประเพณีเอาไว้อย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด

ลองดูในกรณีประเทศอย่างสหรัฐ ที่ระดับของภัยพิบัติต้องเป็นระดับทอร์นาโด ไซโคลน หรือหลายประเทศภัยพิบัติต้องอยู่ในระดับไต้ฝุ่น แต่สำหรับของไทยแค่ความกดอากาศ หรือแค่ดีเปรสชั่น ก็สร้างความเสียหายในระดับที่อยู่กันไม่ได้แล้ว แถมยังชอบโชว์สถิติประเภท  ว่าตกมากที่สุดในรอบกี่พันปี ซึ่งไม่ได้มีสาระอะไรเลยเพราะมันไม่ได้มีความรุนแรงในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งถ้ารุนแรงในระดับนั้นก็เป็นสิ่งที่พอรับได้ว่าปัญหาย่อมจะเกิดขึ้นจากการที่เราคาดไม่ถึง

ขณะที่ภัยพิบัติในประเทศไทยมีลักษณะที่ซ้ำซาก และความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ถอดออกมาเป็นโครงการรายปีก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ความสำคัญอยู่ที่การสร้างเพื่อซ่อม ไม่ใช่สร้างเพื่อแก้ปัญหา

ผมไม่ได้กล่าวไปถึงเรื่องของข้อถกเถียงสมัยใหม่ที่ว่าในการแก้ปัญหาภัยพิบัติจะต้องคิดมากกว่าเรื่องวิศวกรรมไปสู่เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน และการแก้ปัญหาเรื่องเครือข่าย รวมไปถึงการมองธรรมชาติในระบบที่ยืดหยุ่นขึ้น ฟื้นสภาพได้รวดเร็วขึ้นหรอกนะครับ เอาแบบสมัยใหม่แบบดั้งเดิมเลย คือเชื่อมั่นในโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับธรรมชาติและภัยพิบัติ

มันจะเป็นไปได้ยังไงที่ความฉิบหายของประชาชนรายปีถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นงบประมาณ โครงการ และการเลื่อนขั้นจนเกษียณราชการ และการเฉลิมฉลองการครบรอบของหน่วยงานได้ทุกปี ราวกับว่ายิ่งอยู่นานยิ่งมีคุณค่าในสังคม

แถมยังมีผู้นำประเทศที่ไม่ได้รู้สึกรู้สากับความเดือดร้อนของประชาชน และนำเสนอทางออกให้กับบ้านกับเมืองนี้ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากทำใจและสร้างภาพลงพื้นที่ไปวันๆ

นี่มันรัฐปรสิตชัดๆ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องข้องอื่นๆของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image