พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ความหวัง

อยากตั้งข้อสังเกตง่ายๆ ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ถูกขับเคลื่อนโดยความหวังเสียเป็นส่วนมาก

จากที่เคยได้มีบทสนทนากับคนรุ่นใหม่อยู่บ้าง พวกเขามักให้ความเห็นว่า ผมเป็นคนที่ไม่เคยพูดถึงและให้ความหวังอะไรกับชีวิตและการเมือง

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดอยู่หลายรอบ และก็ยอมรับจริงๆ ว่าไม่ได้เป็นคนที่อยู่ด้วยความหวังสักเท่าไหร่

จะว่าไปไม่แน่ใจว่าจะนิยามความคิดของตัวเองอย่างไร ลองย้อนคิดก็พบว่า หรือไอ้ความคิดที่เราศรัทธามันมีไว้มองปรากฏการณ์แต่ไม่ได้ชี้ทางให้เห็นว่าจะไปอย่างไร

Advertisement

หรือไอ้ที่เคยไปมามันก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าอยู่หลายครั้งหลายครา

ใบบทสนทนากับคนรุ่นใหม่เขาก็ถามผมกลับว่า แล้วถ้าไม่ใช่เรื่องความหวัง แล้วจะต่อสู้เพื่ออะไร?

คำตอบของผมในบทสนทนาก็คือ เราอาจจะพูดถึงความยุติธรรม เราอาจจะพูดเรื่องความจริง หรือเราอาจจะพูดเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในสังคม

Advertisement

ประเด็นไม่ใช่ว่าการเคลื่อนไหวในปัจจุบันไม่ได้มีเรื่องแบบนี้ เพียงแต่ชี้ชวนให้คิดในการสนทนากันว่า จุดเน้นที่มีในการเคลื่อนไหวนั้นอาจจะมีได้หลายอย่าง แต่ทำไมผมรู้สึกว่าพวกเขาหมกมุ่นกับเรื่องความหวังอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ชื่องานเสวนา หรือการพูดคุยกันในหลายๆ เวที ดูราวกับว่าความหวังเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเหมือนผมจะไม่มีสิ่งนี้ให้กับพวกเขา

ในอีกด้านหนึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม รวมทั้งความจริงที่ถูกปิดกั้นอยู่ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่เต็มเปี่ยมในแง่ของเป้าหมายในการต่อสู้ เพียงแต่ทั้งหมดมันจะถูกขับเคลื่อนโดยเรื่องของความหวัง

 

ผมนึกถึงส่วนสุดท้ายของหนังสือของ  มานูเอล คาสเทลส์ ซึ่งศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคอินเตอร์เน็ตทั้งที่อียิปต์ อาหรับสปริง สเปน และวอลสตรีท ที่เขียนว่า “ในขบวนการทางสังคมทั้งหลายล้วนเต็มไปด้วยการแสดงออกซึ่งความต้องการและความปรารถนา การแสดงออกเหล่านี้เป็นเรื่องของ ‘ห้วงขณะของการปลดปล่อย’ เมื่อพวกเขาแต่ละคนได้โยนทิ้งซึ่งความปั่นป่วนกังวลใจที่มีมากมาย และเปิดกล่องมหัศจรรย์แห่งความฝัน ดังนั้น เราสามารถค้นหาการฉายภาพของมนุษย์ในทุกรูปแบบที่จะเป็นไปได้ในเรื่องราวและการกระทำ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นมากที่สุดก็คือเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นต่อระบบเศรษฐกิจที่ไร้ความปรานีที่ป้อนระบบตลาดการเงินที่เก็งกำไรและขับเคลื่อนด้วยจักรกลนั้นด้วยเลือดเนื้อของผู้คนที่ทุกข์ระทมในชีวิตแต่ละวันของพวกเขา แต่กระนั้นก็ตามถ้าจะมีประเด็นหนึ่งที่ร่วมกันของทุกขบวนการทางสังคม หรือเราจะเรียกว่าสิ่งที่เขากดดันเรียกร้อง หรือความใฝ่ฝันที่มีมิติแห่งการปฏิวัติ สิ่งนั้นก็คือการเรียกร้องให้มีขึ้นซึ่งรูปแบบใหม่ๆ ของการพินิจพิจารณาทางการเมือง การเป็นตัวแทน และการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพราะการจัดการปกครองที่มีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตยจะต้องเป็นเงื่อนไขตั้งต้นของการบรรลุถึงความต้องการและโครงการต่างๆ” (Manuel Castells. 2012, Networks of Outrage and Hope: Social Movements in the Internet Age. Cambridge: Polity.)

ในหลายส่วนของงานของคาสเตลพยายามพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงการที่จะ “live together” หรือการอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องจินตนาการและความใฝ่ฝันและโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งกับรูปแบบใหม่ๆ ของประชาธิปไตย ทั้งบนถนน ในสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ และในโลกออนไลน์

ผมคิดว่าคำถามพวกนี้เป็นคำถามที่ต่างไปจากความเข้าใจทั่วๆ ไปของเราว่าความหวังคือความใฝ่ฝันส่วนบุคคล หรือสิ่งที่เราฝันไว้ว่าเราจะประสบความสำเร็จ หรือเรามี “อนาคต” แล้วเราถูกพรากจากสิ่งเหล่านี้โดย “ระบอบ” ที่มีอยู่

ผมใช้คำว่าระบอบในความหมายสองชั้น คือ หมายถึงระบบหลายระบบที่ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสัญลักษณ์ และในชั้นที่สอง ผมหมายถึงตัวระบอบ หรือความชอบธรรมที่ทำให้คนในระบบเหล่านั้นยอมรับถึงเหตุผล ความจำเป็นในการดำรงอยู่ของระบอบเหล่านั้น

การพยายามตั้งคำถามว่าถ้าความหวังไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความหวังร่วม สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และด้วยเงื่อนไขเชิงสถาบัน (institutional conditions) อะไรบ้าง

เรื่องแบบนี้อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาก่อนที่จะจัดเวทีพูดคุยไม่ว่าจะในระดับใหญ่ หรือย่อย ก่อนที่จะมากังวลว่าแต่ละฝ่ายมีจุดยืนทางการเมืองอะไร เพราะการมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติ และการมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันไม่ได้เท่ากับการที่ผู้คนที่มีจุดยืนที่แตกต่างกันจะไม่มีโอกาส หรือไม่สนใจที่จะแสวงหาจุดยืน หรือความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาคิด หรือเชื่อ

ไม่ได้เพราะว่าพวกเขามีใจเปิดกว้างเสมอไปนะครับ แต่อาจจะหมายถึงการที่เขาต้องการยืนยันความคิดของพวกเขาเองว่าถูกต้องก็ได้

การมีจุดยืนต่างกันไม่ได้แปลว่าคุยกันไม่ได้ แต่คุยกันรู้เรื่องหรือไม่อันนี้ว่ากันไปอีกเรื่อง บางทีก็คุยกันได้เพราะสุดท้ายอาจลงเอยว่าตกลงกันได้ว่าต่างฝ่ายต่างไม่เหมือนกัน ต่างไม่เห็นด้วยซึ่งกันและกัน อาจจะไม่มีทางออก แต่อย่างน้อยพวกเขามีตัวตน และต่างยอมรับถึงการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง

กลับมาเรื่องความฝันอีกครั้ง บางครั้งความฝันก็ไม่ใช่เรื่องที่ไร้สาระเสมอไป แต่กระนั้นก็ตาม พวกเราล้วนอยู่ในการนำเสนอความฝันซึ่งทุกฝ่ายก็ทำ และก็มีความคล้ายคลึงกันในระดับหนึ่งถึงเป้าหมายนั่นก็คือสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริงความฝันและการไปสู่ความฝันของแต่ละฝ่ายก็อาจไม่เหมือนกัน เช่น เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา หรือในโลกของทุนนิยมเสรีนิยม เราก็เห็นโฆษณามากมายที่ฉายภาพความฝันต่างๆ ที่ล้วนเข้าถึงได้หากมีปัจจัย หรือซื้อมาครอบครอง

ความฝันและความหวังบางทีอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ข้อเสนอบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนเกิดขึ้นจริงในสังคมอื่นทั้งที่มีเงื่อนไขที่ใกล้เคียง หรือไม่ใกล้เคียง แต่ก็ถูกนำมาถกเถียงศึกษากันต่อไป

ดังนั้น ความหวังที่เราเรียกว่าก็แค่ความฝันของคนรุ่นใหม่นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องเหลวไหล และอาจมีลักษณะรูปธรรมในระดับหนึ่งแล้ว หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “อุดมคติที่เป็นรูปธรรม” (concrete utopia) ในระดับหนึ่ง ในความหมายที่ว่ามันเป็นอุดมคติที่แฝงไปด้วยการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของสองสิ่ง คือทั้งศักยภาพและการซ่อนเอาไว้ซึ่งศักยภาพอีกมากมาย ภายใต้ความสัมพันธ์ของความเป็นจริงของโลกและการเข้าไปกระทำการบางอย่างต่อโลกนี้ของมนุษย์ ซึ่งแม้ว่ามนุษย์เหล่านั้นจะเต็มไปด้วยศักยภาพแต่ก็อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นตามที่พวกเขาคิดหรือใฝ่ฝันซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย เพียงแต่ว่ามันยังเกิดไม่ได้เพราะเงื่อนไขบางอย่างนอกเหนือไปจากความมุ่งมั่นและศักยภาพของพวกเขายังไม่มาถึง

เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะไม่มองว่าความฝันและความหวังของคนรุ่นใหม่นั้นเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเพ้อฝัน แต่พยายามเข้าอกเข้าใจว่าการได้มาซึ่งสังคมที่พวกเขาใฝ่ฝันหรือหวังเอาไว้นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และมันไม่ได้ยากลำบากเพียงเพราะว่าพวกเขานั้นเผชิญกับความไม่พร้อมทางสังคมที่ไม่พร้อมเพราะเงื่อนไขหลายอย่างยังมาไม่ถึง

หากแต่เป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากกระบวนการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องต่อสู้อย่างยากลำบากกับพลังอำนาจเหล่านั้นเพื่อบรรลุสิ่งที่พวกเขาหวัง หรือใฝ่ฝันเอาไว้

ในแง่นี้สิ่งที่พวกเขาคิดเขาฝันจึงอาจไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่มันเป็นเรื่องที่พวกเขาต่อต้านขัดขืนกับเงื่อนไขที่กดขี่ ครอบงำ กดทับพวกเขาอยู่ต่างหาก

ดังนั้น อุดมคติที่พวกเขาหวัง หรือใฝ่ฝันจึงไม่ใช่สภาวะที่ถูกคิดอย่างดิบดี ละเอียดรอบคอบ เป็นตัวแบบที่วางเอาไว้แล้ว แล้วก็แค่คิดว่าจะไปให้ถึงได้ด้วยผู้นำ แกนนำ ขบวนการ หรือพรรค ที่เต็มไปด้วยความชาญฉลาด ความรู้ ความพร้อม

แต่ความหวังและการเคลื่อนไหวของพวกเขาเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ในกระบวนการของการมีชีวิต รักษาชีวิต เริ่มชีวิตใหม่ ด้วยการกลับสู่สภาพเดิม เรียนรู้ที่จะอยู่รอด ปรับตัว ดำรงไว้ซึ่งชีวิต (autopoietic process) หรือที่เรียกในภาษาชีววิทยาว่า ระบบอัตตกำเนิด

(ในทางชีววิทยา หมายถึงระบบของเครือข่าย ของกระบวนการ หรือปฏิกิริยาของโมเลกุลที่ทำให้เกิดผลลัพธ์คือการผลิตตัวตนเองขึ้นมาใหม่ กำหนดขอบเขตของตนเอง ด้วยตนเอง ผลสุดท้ายผลิตผลของระบบอัตตกำเนิดก็คือระบบที่จัดการตนเอง ระบบที่มีการจัดการตนเองทำให้เกิดการผุดกำเนิด ผุดปรากฏของชีวิต ซึ่งไม่มีจุดจำเพาะ ระบบอัตตกำเนิดเน้นความสำคัญ ที่พลวัตการเกิดชีวิต นั่นคือระบบการจัดการตนเองที่มีกระบวนการภายในอันจะทำให้เกิดการสร้างตนเองขึ้นมาใหม่ เป็นวัฏจักร เป็นวงจรต่อเนื่อง ทำให้เกิดลักษณะจำเพาะของสิ่งมีชีวิตคือ “อำนาจกำหนดตนเองทางชีวภาพ (biological autonomy)” หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ สิ่งมีชีวิตจะเป็นระบบที่มีกระบวนปฏิบัติการระบบปิด เกิดวัฏจักรภายใน-อ้างจาก บ้านจอมยุทธ ระบบ
อัตตกำเนิด (autopoiesis))

การพูดถึงความเป็นซ้ายของคนรุ่นใหม่ ในทางหนึ่งอาจจะมองว่าพวกเขาเป็นพวกเบียว หรือทำเหมือนว่าตัวเองรู้ไปหมดทุกสิ่ง เหมือนตัวเองโตแล้ว แต่กลับดูถูกคนที่เป็นผู้ใหญ่จริงๆ หรือการที่เชื่อว่าตนเองนั้นวิเศษเหนือผู้อื่น มีสิทธิและมีพลังอำนาจเหนือคนอื่น

การพยายามย้อนไปหามาร์กซ์ อาจจะหมายถึงว่าพวกเขาเล็งเห็นว่ามาร์กนั้นก็ปฏิเสธความเป็นโลกอุดมคติแบบเดิมที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม มาสู่การคิด วิเคราะห์ และ พยายามเปลี่ยนแปลงโลกที่เขามีชีวิตอยู่ให้มันดีขึ้น

หรือแม้กระทั่งการย้อนกลับสู่ความสนใจในศาสนา ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาล้วนงมงาย แต่อาจเป็นเพราะพวกเขามองว่าศาสนาอาจให้คำตอบในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน และเป็นการอยู่ร่วมกันภายใต้ความปรารถนาที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากทุกข์

ที่พูดมานี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่ในอีกทางหนึ่งพวกเขามองว่าอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่การย้ายไปอยู่ที่อื่นอาจไม่ได้แปลว่าพวกเขาหนีจากปัญหาเสมอไป แต่อาจจะหมายถึงว่าพวกเขามองว่าที่อื่นนั้นมีอยู่จริง และเป็นที่ที่ให้เสรีภาพ และทำให้เขาได้บรรลุศักยภาพของเขา ซึ่งก็ทำให้เราต้องคิดว่า อะไรในกระบวนการทางสังคมในประเทศนี้ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกกดทับเอาไว้ และทำให้เขาสิ้นหวังในสังคมนี้ มากกว่ามองว่าพวกเขาเพียงแค่เป็นพวกเบี่ยงเบนออกจากสิ่งที่เชื่อว่าเป็นปกติของสังคมนี้

ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาอีกไม่น้อยก็ยังพยายามที่จะเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่อย่างไม่ย่อท้อ และพยายาม “กำหนดตนเอง” ท่ามกลางพลังและแรงกดดันต่างๆ ที่ถาโถมมาสู่พวกเขา ไม่ว่าเพื่อนๆ ของพวกเขาจะถูกจับกุมคุมขัง ข่มขู่ ทำร้ายไปมากเท่าไหร่

ที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความพยายามเข้าใจ “สิ่งที่เรียกว่าความหวัง” ของคนรุ่นนี้มั้งครับ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจพวกเขามากแค่ไหน มาวันนี้ผมไม่ได้คิดว่าการเรียกพวกเขาว่าพลังบริสุทธิ์จะมีพลังใดๆ เพราะมันเสี่ยงต่อข้อกล่าวหาว่าเนื่องจากพวกเขาเป็นพลังบริสุทธิ์พวกเขาจึงถูกชักจูงได้ง่าย และฝ่ายผู้มีอำนาจจึงใช้เงื่อนไขอำนาจนิยมเพื่อปกป้องลูกหลานของพวกเขา

ผมกลับมองว่าพวกเขาเป็น “เผ่าพันธุ์แห่งความหวัง” ที่พร้อมและกำลังกำหนดตนเองอยู่ทุกขณะที่โลกหมุนไป (และเขาก็พยายามหมุนโลกใบนี้ไปด้วย) และเรียนรู้ที่จะพ่ายแพ้ และลุกขึ้นสู้ใหม่กับกระบวนการอันไร้ความเมตตาปรานีที่ถาโถมใส่พวกเขา เพียงเพื่อให้พวกเขายอมสยบต่อความเป็นไปของระบอบนี้เท่านั้นเอง

#freeทุกคน

หมายเหตุ แรงบันดาลใจจากความรู้กระท่อนกระแท่นที่ได้มาจาก Ernst Bloch: The Principle of Hope ผ่าน Peter Thompson. The Frankfurt School Part 6: Ernst Bloch and the Principle of Hope. The Guardian. 29/04/2013 และ Jack Zipes. Ernst Bloch and the Philosophy of Hope. Tribune. 29/04/2020. ขอบคุณ อ.ม. และ พ.ต. สองนักศึกษาที่ได้มีโอกาสพูดคุยกันในค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image