ที่เห็นและเป็นไป : ‘เปิดประเทศ’ที่ขาดความเชื่อมั่น

ที่เห็นและเป็นไป : ‘เปิดประเทศ’ที่ขาดความเชื่อมั่น

ที่เห็นและเป็นไป : ‘เปิดประเทศ’ที่ขาดความเชื่อมั่น

ค่ำวันก่อน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเปิดประเทศ

วันที่ 1 พ.ย.นี้ จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยหลังล็อกประตูอยู่นานเพื่อป้องกันโควิดระบาดรุนแรง

น่าแปลกทั้งที่ก่อนหน้านั้น เสียงร่ำร้องให้รัฐบาลยอมให้ประชาชนได้ทำมาหากินอย่างปกติเสียที ก่อนที่จะล้มละลาย เสียหาย อดตายกันไปทั่ว

Advertisement

แต่กลายเป็นว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเปิดประเทศ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอย กลับถูกเรียกร้องให้ทบทวนดีๆ เกิดความไม่เชื่อมั่นขึ้นมาอีกว่า นักท่องเที่ยวจะไม่เอาเชื้อโควิดเข้ามาระบาด จนเดือดร้อนกันไปทั่วอีกครั้ง

ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของคนไทย

ทั้งที่อยากกลับไปใช้ชีวิตปกติ เรียกร้องรัฐบาลให้เปิดทำมาหากินได้เสียที แต่พอจะเปิดประเทศเข้าจริงๆ กลับกลัวขึ้นมาอีก

จนเกิดคำถามว่า ทำไมคนไทยยุคนี้จึงคัดค้านรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทำอะไรกลายเป็นเรื่องไม่ถูกไปเสียทั้งหมด

เหมือนประชาชนเอาแต่โลเล โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่เอา

ดูจะเป็นเช่นนั้น

ทว่าเรื่องนี้หากมองให้ดีๆ แล้วน่าจะเข้าใจได้

ความต้องการที่จะ “ใช้ชีวิตปกติ” นั้นมีอยู่แน่ ไม่แปรเปลี่ยนไปไหน

แต่ “ความกลัว” ผู้ที่มาจากต่างประเทศจะเอาเชื้อมาแพร่ก็มีอยู่เช่นกัน

ถ้าไล่ฟังเหตุผล แล้วนำมาวิเคราะห์จะพบว่า

ที่ออกมาต่อต้านนั้น เหตุผลจริงไม่ได้อยู่มีการเปิดประเทศ

แต่เป็น “ความไม่มั่นใจในการจัดการของรัฐบาล” ว่ามีความรอบคอบพอ

วัคซีนที่ทั้งยังฉีดไม่ครบตามเปอร์เซ็นต์ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และคุณภาพวัคซีนที่ฉีดไปแล้วไม่น่าเชื่อถือพอในการป้องกันการระบาด

มาตรการรองรับต่างๆ ที่ไม่ให้ความเชื่อมั่นว่าจะควบคุมความเสี่ยงได้

อยากใช้ชีวิตที่ทำมาหากินได้ตามปกติใจจะขาด เพราะที่ผ่านมาเดือดร้อนสาหัสกับการควบคุมที่รัฐบาลบังคับให้ต้องอยู่ในมาตรการป้องกัน

แต่ความไม่เชื่อมั่นในการจัดการนั้นมีมาก เพราะแม้แต่จะออกมาตรการบังคับเข้มข้นมากมายและยาวนาน การระบาดของโรคยังรุนแรงและขยายตัว ทะลุมาตรการต่างๆ เหล่านั้นไปได้

มีการชี้ให้เห็นความผิดพลาด และเบื้องลึกเบื้องหลังที่จะสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลมากมายในการดำเนินการของรัฐบาล

ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นต้นเหตุของความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการบริหารจัดการประเทศ

ในห้วงยามที่เกิดภาวะวิกฤต ความเชื่อมั่นต่อผู้นำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะการอยู่ร่วมกันเช่นนี้จะต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ร่วมมือร่วมใจที่จะฟันฝ่าไปด้วยกัน

หากการอยู่ร่วมเป็นไปอย่างหวาดระแวงในกันและกัน

ความวุ่นวายสับสน และความไม่เชื่อมั่นจะเกิดขึ้น

คนเราลองไม่เชื่อมั่นเสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรล้วนก่อให้เกิดความกังวล

รัฐบาลที่ประชาชนไม่เชื่อถือ ทำอะไรสำเร็จได้ยาก

การนำพาประเทศเผชิญกับวิกฤตจำต้องมีรัฐบาลที่ได้รับความเชื่อถือในความรู้ ความสามารถจากประชาชน

ซึ่งน่าเสียดาย ที่ประเทศไทยในยามวิกฤตกลับไม่มีรัฐบาลที่เชื่อมั่นได้มาเป็นผู้นำ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image