สถานีคิดเลขที่ 12 : ตรงฐานรากของภูเขาน้ำแข็ง โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ตรงฐานรากของภูเขาน้ำแข็ง จะว่าไปแล้วปรากฏการณ์

สถานีคิดเลขที่ 12 : ตรงฐานรากของภูเขาน้ำแข็ง โดย ปราปต์ บุนปาน

จะว่าไปแล้วปรากฏการณ์ “ม็อบราษฎร” เมื่อปี 2563 และ “ม็อบทะลุแก๊ซ” ในปี 2564 ต่างมีสถานะเป็นเหมือนส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่ผุดโผล่ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เรามองเห็น-ตระหนักถึงสภาพความอึดอัดคับข้องใจต่อสังคมการเมืองไทยและรัฐไทยในยุคปัจจุบัน ของคนรุ่นใหม่สองกลุ่มใหญ่ๆ

ได้แก่ นิสิตนักศึกษาปัญญาชนในมหาวิทยาลัย และวัยรุ่นคนชั้นกลางระดับล่างที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง

ผู้มีอำนาจเลือกจะจัดการกับส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งดังกล่าว ด้วยเครื่องมือทางด้านกฎหมายเป็นหลัก

ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแกนนำม็อบราษฎรด้วยประมวลกฎหมายอาญา ม.112 หรือ 116

Advertisement

และใช้กำลังตำรวจ คฝ. เข้าปะทะกับเหล่าเยาวรุ่นทะลุแก๊ซครั้งแล้วครั้งเล่า

สภาพการณ์ข้างต้นดำเนินไป โดยที่ “รัฐบาลโอลด์สกูล” ดูจะไม่เข้าใจและไม่พยายามใส่ใจคนรุ่นใหม่สักเท่าใดนัก

ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ ฝ่ายประชาธิปไตย ที่พยายามแย่งชิงฐานคะแนนเสียงจากพลเมืองกลุ่มนี้อย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัยกลับมีมิติลึกลับซับซ้อนกว่านั้น

ดังเช่นข่าว “สโมสรนิสิตจุฬาฯ มติเอกฉันท์ เลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยว ชี้เป็นธรรมเนียมสะท้อนความไม่เท่าเทียม” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของนานาปรากฏการณ์ที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือน-รอยปริแยกอยู่ตรงฐานรากใต้น้ำของภูเขาน้ำแข็ง

มติยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่ใช่แสงพลุวูบวาบที่ถูกจุดขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว ทว่ายังมีกรณีคล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้ว ในสถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ

อาทิ การที่นักศึกษารุ่นใหม่ลงมติยกเลิกระบบ “โต๊ะ” ในหลายๆ คณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือเป็นการยุติประเพณีการสร้างคอนเน็กชั่น “พี่-เพื่อน-น้อง” ที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่าสามทศวรรษ

การต่อต้านท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นใน “สนามการต่อสู้แห่งอื่นๆ” ที่คนรุ่นใหม่พยายามแผ้วถางเข้าไป

เป็นสนามการต่อสู้ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้กฎหมายจับเด็กเข้าไปขังในคุกกันอย่างไร้ปรานี ไม่ได้ดุเดือดจนเปิดโอกาสให้ คฝ.ได้รวมพล เป็นเรื่องภายในสถาบันการศึกษาจนรัฐบาลไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ฉลาดหน่อยก็ย่อมรู้ว่าตนเองไม่พึงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจ ที่นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มีฉันทามติไปในทิศทางเดียวกัน

ถ้าม็อบ “ราษฎร-ทะลุแก๊ซ” เคยส่งเสียงเตือนสังคม ด้วยภาพการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะอันน่าตื่นตา ตื่นใจ และคาดไม่ถึง

เรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นตามสนามการต่อสู้ในมหาวิทยาลัย ก็คือการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือการเปลี่ยนแปลงในระดับวิถีชีวิตประจำวัน ที่ซึมลึก แพร่กระจาย และมิอาจถูกตัดรอนบ่อนทำลายได้ง่ายๆ

ถึงแม้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนรุ่นใหม่ที่เคยมีส่วนร่วมกับการต่อต้านท้าทายคราวนี้ อาจเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่องขึ้น ภายในระบบราชการ-เอกชนที่ตายซากแบบไทยๆ

ทว่าอย่างน้อยที่สุด ความสัมพันธ์ทางอำนาจและความทรงจำร่วมที่เกี่ยวดองกับชีวิต-วิธีคิดของพวกเขา ผ่านสังคมมหาวิทยาลัย ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

และเมื่อความคิด-วิถีชีวิตชนิดใหม่ค่อยๆ ดำเนินไปปีแล้วปีเล่า การพยายามจะถอยหลังย้อนกลับไปฟื้นฟู “อดีต” (ที่ไม่สมเหตุสมผลและเปล่าเปลืองในสายตาคนรุ่นหลังๆ) ก็อาจทำได้ยากลำบากขึ้นตามลำดับ

ต่อให้ฝ่ายผู้มีอำนาจที่ชนะการเลือกตั้ง มี ส.ว. มีองค์กรอิสระ มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ อยู่ในมือ ก็อาจทำได้เพียงเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงตรงฐานรากภูเขาน้ำแข็งลุกลามขึ้นมากัดกินตนเองอย่างช้าๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image