ไปเลือกตั้ง อบต. ปกป้องธุรกิจการเมือง

ไปเลือกตั้ง อบต. ปกป้องธุรกิจการเมือง วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเลือกตั้งนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. พร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 5,300 แห่ง ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเขตพื้นที่ อบต. ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ นั้นก็คือ บัตรใบที่หนึ่ง “เลือกนายก อบต.” และบัตรอีกใบหนึ่ง “เลือกสมาชิกสภา อบต.” ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อพิจารณาเลือกคนที่จะเป็นตัวแทนของเราเข้าไปดูแลท้องถิ่น อบต. ทั้งในการพัฒนา อบต.ไปสู่ความก้าวหน้าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และสามารถแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ รวมถึงการแสดงออกถึงการหวงแหนสิทธิของตนตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่ต้องปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่น รู้จักการจัดการตนเอง

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 จึงถือว่าเป็นวันปลดปล่อยให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้เลือกทางเดินอนาคตท้องถิ่นในพื้นที่ อบต. ของตนเอง นับตั้งแต่ถูกหยุดชะงักและว่างเว้นการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 7 ปี ด้วยคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งให้งดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้นายก อบต.ที่ครองตำแหน่งอยู่เดิมได้อานิสงส์ในการต่ออายุอำนาจการบริหาร อบต.ไปคนละหลายปีและในเวลาต่อมา เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีเปิดให้มีการจัดการเลือกตั้ง อบต. เกิดขึ้นก็ก่อให้เกิดการลดความอึดอัดของประชาชนคนท้องถิ่นลงไปได้

ทั้งนี้ เพราะเมื่อเป็นการปลดปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อบต. พบว่ามีการตื่นตัวเพื่อไปสมัครเป็นนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต. ในช่วงระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากโดยมียอดผู้สมัครนายก อบต.ทั่วประเทศ จำนวน 12,309 คน จากตำแหน่งนายก อบต. มีเพียง 5,300 แห่งเท่านั้น ส่วนยอดผู้สมัครเป็นสมาชิกสภา อบต. มีจำนวนถึง 123,141 คน รวมยอดผู้สมัครเลือกตั้ง อบต. ทั้งสิ้น 136,250 คน

ผมเข้าใจว่า กระแสความตื่นตัวที่เกิดขึ้นนั้น มีหลายๆ ปัจจัยหลายลักษณะที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของ อบต.ปรากฏผลชัดเจนว่า อบต.สามารถที่จะบริหารจัดการในกิจการ สาธารณะและบริการสาธารณะตอบโจทย์พี่น้องประชาชนในหลายๆ อย่าง เช่น การให้บริการด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การให้บริการด้านสวัสดิการสังคม เช่น การจัดให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดให้มีสวัสดิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น

Advertisement

ตลอดจนการป้องกันโรคและระวังโรคติดต่อ ในช่วงโควิด-19 ซึ่ง อบต.ก็บริหารจัดการร่วมกับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำและที่สาธารณะ กำจัดขยะมูลฝอยและบริการสาธารณะอื่นๆ

ที่สำคัญ ปัจจัยลักษณะการมีรายได้และงบประมาณประจำปี ชัดเจนเป็นของตนเองในการบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะดังที่กล่าวมาและสามารถจัดทำประโยชน์และความคิดสร้างสรรค์ให้กับประชาชนได้หลากหลายมิติ ทั้งนี้ เพราะ อบต.มีรายได้งบประมาณที่มาจากแหล่งภาษี อากร ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ อบต.จัดเก็บเองและรัฐบาลจัดเก็บให้ รวมทั้งรายได้จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ตัวเลขรายได้งบประมาณ อบต.จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะพื้นที่เขตเมือง ชานเมืองและเขตชนบทกับขนาดของพื้นที่ ซึ่งกลุ่ม อบต.ที่มีรายได้สูงจะอยู่ที่ประมาณ 400-600 ล้านบาทต่อปี กลุ่ม อบต.ที่มีรายได้ปานกลาง จะอยู่ที่ประมาณ 200-399 ล้านบาทต่อปี และกลุ่ม อบต.ที่มีรายได้น้อยจะอยู่ที่ประมาณ 50-199 ล้านบาทต่อปี

ปัจจัยรายได้ที่เป็นงบประมาณของ อบต.จึงเป็นลักษณะที่ยั่วยวนต่อการแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจการเมืองที่ ต้องพึงระวัง ซึ่งอาจจะมีผู้สมัครเป็นนายก อบต.หลายคน ที่ใช้ฐานการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างกรณี อบต.เป็นฐาน หวังผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจที่จะนำมาสู่การลงทุนทางการเมือง เพื่อต้องการแสวงหาโอกาสในการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายและเบียดบังผลประโยชน์จากโครงการในลักษณะเงินทอน ซึ่งถือว่าเป็นจุดอันตรายต่อประชาธิปไตย ท้องถิ่นและเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างยิ่ง

ผมจึงเห็นว่าการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ เป็นโอกาสของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ที่จะต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการชวนกันไปเลือกตั้งปกป้องธุรกิจการเมือง ซึ่งอาจมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบต. บางส่วนที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งทุกคนในพื้นที่ อบต.จะต้องตรวจสอบ กำกับดูแล รักษาผลประโยชน์ ท้องถิ่นตนเอง โดยช่วยกันสกัดกั้นการเข้าสู่อำนาจในการเลือกตั้ง อบต. โดยการพิจารณาเลือกนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. ที่เห็นว่า มีความซื่อสัตย์ สุจริตและไม่ใช้เงินซื้อเสียงในลักษณะการลงทุนทางการเมือง

ประเด็นสำคัญ ประชาชนจะต้องไปเลือกตั้งให้มากที่สุดเพื่อแสดงถึงการช่วยปกป้องธุรกิจการเมืองใน ระดับหมู่บ้าน ตำบลของทุกคน โดยเฉพาะการช่วยกันรณรงค์การไปใช้สิทธิให้เป็นแบบอย่างและไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างน้อยให้ได้ร้อยละ 90 ขึ้นไปซึ่งจะได้สะท้อนถึงรัฐบาลว่า ประชาชนต้องการการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อรักษาไว้ ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มั่นคง

แม้ว่าบทเรียนการเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. เพียงร้อยละ 62.25 เท่านั้น และการเลือกตั้งของเทศบาล เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564

เพียงร้อยละ 66.95 ซึ่งถือว่า น้อยกว่าสิ่งที่คาดหวัง แต่สำหรับการเลือกตั้ง อบต. ที่ถือเป็นพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ก็คาดหวังว่า ประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุดอย่างที่คาดหวังได้ เช่นกัน

ดังนั้น นอกจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้แสดงออกถึงการไปใช้สิทธิและรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองและรักษาประชาธิปไตยท้องถิ่นให้มั่นคงแล้ว ทุกท่านยังได้ชื่อว่า เป็นผู้รักษาและปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น อบต. ทั้งในแง่การปกป้องงบประมาณ การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ อบต.อย่างเต็มที่ ในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและนี่คือประชาธิปไตยท้องถิ่นในรูปแบบ อบต.ที่ประชาชนคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image