สถานีคิดเลขที่ 12 : แม้ไม่ผ่านก็น่าฟัง โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : แม้ไม่ผ่านก็น่าฟัง

สถานีคิดเลขที่ 12 : แม้ไม่ผ่านก็น่าฟัง โดย นฤตย์ เสกธีระ [email protected] 

วันที่ 16 พฤศจิกายน การประชุมรัฐสภาในวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเริ่มขึ้น

จากนั้นรัฐสภาจะใช้เวลา 18 ชั่วโมง ในการอภิปราย

แล้ววันที่ 17 พฤศจิกายน ก็จะลงมติ

แต่ก่อนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณา ได้มี ส.ว. และพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น

Advertisement

ส.ว.บางคนออกมาส่งสัญญาณว่า ไม่ผ่าน

พปชร.บางคนก็ออกมาส่งสัญญาณว่า ไม่ผ่าน

ถ้าเป็นไปตามนี้ แนวโน้มที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะไม่ผ่านก็มีสูง

แต่แม้ว่าจะคาดเดาว่า ไม่ผ่าน ก็ยังน่าฟังการพิจารณา

ทั้งนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่สมควรจะพูดกันในรัฐสภา

เมื่อตรวจสอบดูประเด็นสำคัญๆ ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชน 135,247 คน เข้าชื่อกันเสนอ พบว่ามีสาระสำคัญน่าติดตามหลายประการ อาทิ

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างรัฐสภา

จากเดิมมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ปรับให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว

หรือ การปรับโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเสนอให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด 3 คน แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก

และบัญญัติห้ามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันมีผลขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หรือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้วกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง

รวมทั้งการเพิ่มหมวดเรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วย

โดยให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด

และเสนอปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ

เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่นอกสภามาพักใหญ่ และมีการตอบโต้กันนอกสภามาพักใหญ่

ผู้ที่ตอบโต้กันฝ่ายหนึ่งก็คือ ผู้เสนอร่าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นผู้ที่จะคว่ำร่างนี่แหละ

คราวนี้รัฐสภาเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเสนอ และฝ่ายคัดค้านมาเผชิญหน้ากันในสถานที่ที่จะใช้แสดงเหตุและผล

นำเอาเหตุและผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาบอกเล่า

แล้วฟังคำอภิปรายโต้แย้งและสนับสนุน

จากนั้นก็เป็นการชี้แจงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งสองฝ่าย

โดยมีประชาชนได้รับฟังเหตุและผลทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น การประชุมรัฐสภาในวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงมีความหมาย

หมายถึงการใช้รัฐสภาเป็นเวทีพูดคุยกันในเรื่องที่เห็นต่าง

หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังเหตุและผล

หมายถึงการยุติความเห็นต่างด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

ผลที่เกิดขึ้นอาจจะคล้ายๆ กับการซักฟอกรัฐบาล

นั่นคือดูเหมือนกับไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้ว มีอะไร

ดังนั้น 18 ชั่วโมง ของการอภิปราย จึงเป็นเวลาที่น่ารับฟัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image