สถานีคิดเลขที่ 12 : 2แพร่ง โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 : 2แพร่ง ระหว่างที่เรารอ “2-2-2” ที่จะชี้อนาคตการเมือง

สถานีคิดเลขที่ 12 : 2แพร่ง โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ระหว่างที่เรารอ “2-2-2” ที่จะชี้อนาคตการเมืองของประเทศ หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้

2 แรก คือ 2 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง จะคลอดออกมาแบบไหน

2 ที่สอง คือ การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จะออกแบบมาอย่างไร พรรคไหนจะได้เปรียบ เสียเปรียบ

2 ที่สาม คือ การตัดสินใจ 2 เรื่องสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 1) จะเลือกเส้นทางการเมืองคู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไป หรือย้ายไปตั้งพรรคใหม่ 2) จะยุบสภาเมื่อใด และอย่างไร

Advertisement

ไม่ว่าฉากทัศน์การเมือง “2-2-2” จะออกมาอย่างไร ล้วนส่งผลต่ออนาคตประเทศทั้งสิ้น

คาดหมายกันว่า ช่วงกลางปี 2565 เราน่าจะเริ่มได้คำตอบนั้น

ระหว่างรออยากชี้ชวนให้พิจารณา “ทาง 2 แพร่ง” ที่เกี่ยวโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสำคัญไม่น้อยกับการเมืองภายในประเทศเช่นกัน

Advertisement

โดยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นการขับเคลื่อนของผู้นำประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ “หางเครื่อง” ของรัฐบาล เกี่ยวกับการเมืองระหว่างชาติ อย่างน่าพิจารณา

เดิมนั้นการต่างประเทศเราจะไม่เอียงไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนัก (แม้ว่าในความเป็นจริงเราถูกมองว่าเป็นบริวารสหรัฐมาโดยตลอด)

แต่หลังการยึดอำนาจ 2557 ต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน

ดูเหมือนจะเอียงไปทางจีนมากกว่า

พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งร่วมประชุมผู้นำอาเซียน+จีน ด้วยท่าทีที่เป็นมิตรอย่างยิ่งกับผู้นำจีน ผิดกับผู้นำหลายชาติในอาเซียนที่แสดงท่าทีไม่พอใจจีน โดยเฉพาะปัญหาในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ไทยไม่ได้คัดค้านความพยายามโน้มน้าวของจีนที่จะให้ดึงผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาร่วมประชุมด้วย แต่หลายชาติอาเซียนไม่เอาด้วย การโน้มน้าวของจีนจึงไม่สำเร็จ

ไม่เพียงชื่นมื่นระหว่างรัฐบาลไทย-จีนเท่านั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ยังโชว์ความชื่นมื่นระหว่างประชุมออนไลน์กับผู้บริหารหัวเว่ยยักษ์โทรคมนาคมจีน ที่เคยตกเป็นตัวละคร “สงครามตัวแทน” ระหว่างจีนกับสหรัฐและชาติตะวันตกอย่างเข้มข้น

สะท้อนจุดยืนที่แตกต่างในเรื่องนี้อย่างชัดเจนระหว่างไทยกับชาติตะวันตก

ไม่ใช่เพียงเรื่องนี้ หากยังเกี่ยวพันไปถึงจุดยืนอันแตกต่างต่อกรณีเมียนมาที่สหรัฐและชาติตะวันตกไม่ยอมรับรัฐทหารเมียนมา

แต่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย กลับบินไปเมียนมาแบบลับๆ แต่ก็ปิดไม่มิด

ซึ่งแน่นอน สหรัฐและชาติตะวันตกย่อมไม่พึงใจถึงความโน้มเอียงที่ไทยหรี่ตาข้างหนึ่งให้กับรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างเมียนมา

ยิ่งกว่านั้นอีกฟากยังเออออกับกัมพูชา ด้วยการส่งนักโทษลี้ภัยกลับไปให้ดำเนินคดี

จนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ออกแถลงการณ์ประณามไทยอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกัน “หางเครื่องรัฐบาล” ยังออกมาเคลื่อนไหวขับไล่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อ้างว่าเข้ามาจุ้นจ้านการเมืองในประเทศ

อันสะท้อนว่าไทยสะวิงไปอีกข้าง คือให้น้ำหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าความมั่นคง

ซึ่งย่อมมีระยะห่างจากสหรัฐ แม้ด้านหนึ่งจะแสดงความใกล้ชิดด้วยการช่วยเหลือเรื่องวัคซีนโควิด-19 แต่อีกด้านก็เพิ่มระยะห่างกับไทยอย่างไม่ปิดบัง

ล่าสุด คือการไม่เชิญไทยเข้าร่วมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย 110 ประเทศ

ซึ่งแม้ไทยจะแสดงท่าทีไม่สนใจ

แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชี้แนวโน้มว่าไทยโน้มเอียงไปยังฝ่ายอำนาจนิยมอย่างจีน เมียนมา กัมพูชา มากกว่าสหรัฐและชาติตะวันตก

ซึ่งเชื่อว่า คนไทยหลายคนมีคำถามในจุดยืนนี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ถือเป็นทาง 2 แพร่ง ที่อาจจะต้องดีเบตกันอย่างเข้มข้นหากกรณี “2-2-2” มีคำตอบ และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image