สถานีคิดเลขที่ 12 : ร่วมกันสกัด ‘โอไมครอน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ร่วมกันสกัด ‘โอไมครอน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

นึกว่าโลกจะเริ่มสงบลง คิดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

กลับปรากฏว่ามีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ชื่อ “โอไมครอน” โผล่ขึ้นมา

สายพันธุ์นี้เป็นโควิดกลายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าจะต้องจับตามอง

การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์นี้ได้กระโจนจากแอฟริกาใต้สู่โลกแล้ว

Advertisement

มีมากกว่า 10 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้

มีทั้งเอเชีย มีทั้งยุโรป มีทั้งออสเตรเลีย

หลังจากโลกรับทราบเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ตลาดหุ้นก็ร่วง ราคาน้ำมันก็ร่วง

Advertisement

ผู้คนก็หวาดผวากันอีกครั้ง

ข่าวดีในตอนนี้คือ แพทย์จากแอฟริกาใต้ระบุว่า ผู้ป่วยที่พบยังมีอาการไม่รุนแรง

ข่าวดีจากแพทย์ไทยคือ ตามปกติไวรัสเมื่อสืบสายพันธุ์มานานแล้ว จะไม่รุนแรงเท่ากับตอนแรก

อีกหนึ่งข่าวดีคือ บริษัทผลิตวัคซีนคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อสู้กับโอไมครอนได้ในต้นปีหน้า

และยังมีข่าวดีจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ข่าวร้ายก็คือ ทุกๆ ข่าวดีดังกล่าวยังไม่มีอะไรแน่นอน

ความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่นี้จะรุนแรงกว่า หรือรุนแรงน้อยกว่าเดิมต้องใช้เวลาศึกษา

ทั้งจำนวนผู้ป่วย ทั้งอาการที่แสดงออกมา ทั้งระยะเวลาการรักษา ทั้งอัตราการเสียชีวิต

ทุกอย่างต้องรอแล้วนำผลที่เกิดขึ้นไปเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า

นอกจากนี้ ยังมีข่าวร้ายเพิ่มเติมว่า โอไมครอนที่กลายพันธุ์นี้ ได้เปลี่ยนโฉมของตัวเองจนกระทั่งวัคซีนที่ฉีดอาจจำรูปลักษณ์ของเชื้อโควิดที่เข้าสู่ร่างกายไม่ได้

เมื่อจำไม่ได้ก็ไม่สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อกร

สุดท้ายคือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายไปโดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง

ตอนนี้ความรู้เกี่ยวกับโอไมครอนยังมีน้อย ทุกคนจึงควรกลับไปยืนในจุดป้องกันตัวเองเข้มข้น

แม้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโควิดจากสายพันธุ์นี้ แต่การเอาใจใส่ต่อมาตรการสาธารณสุขถือว่ามีความสำคัญ

เพราะก่อนหน้านี้ เราเคยได้ยินชื่อสายพันธุ์เดลต้า แล้วอีกไม่นานสายพันธุ์ดังกล่าวก็โผล่ขึ้นมาในไทย

ต่อมามีข่าวคราวเกี่ยวกับสายพันธุ์แลมบ์ด้า สักพักก็โผล่ขึ้นมาในไทย

โชคร้ายที่สายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายเร็ว และมีผลทำให้เกิดความสูญเสียเป็นวงกว้าง

แต่ยังโชคดีที่สายพันธุ์แลมบ์ด้ามีข้อจำกัดในการระบาด

คราวนี้มาถึงสายพันธุ์โอไมครอนที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหมู่ออกจ่าประการใด

เชื่อว่าทุกภาคส่วนน่าจะเข้าโหมดระมัดระวังตัว

ภาครัฐเอาใจใส่ในมาตรการป้องกัน และการให้ความรู้ต่อสังคมมากๆ

โดยเฉพาะในช่วงเวลา 100 วันที่รอผลศึกษาโอไมครอน

ส่วนภาคเอกชนและภาคประชาชนเองต้องสดับฟังข่าวสาร

ร่วมมือกันป้องกันตัวเองและผู้อื่นให้พ้นอันตราย

หากทุกคนช่วยกันสอดส่อง และช่วยกันป้องกันตามมาตรการสาธารณสุข

การเปิดธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไป

การขับเคลื่อนประเทศจะได้เดินไปข้างหน้าได้

หวังว่าคงไม่ต้องล็อกดาวน์กันอีก เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาก็ทำให้คนไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image