สถานีคิดเลขที่ 12 : อบต.เอฟเฟ็กต์ โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : อบต.เอฟเฟ็กต์ ประชาชนตื่นตัว ออกใช้สิทธิเลือกตั้ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : อบต.เอฟเฟ็กต์ โดย จำลอง ดอกปิก

ประชาชนตื่นตัว ออกใช้สิทธิเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบต.คึกคัก

ตัวเลขไม่เป็นทางการแตะ 75%

เกินกว่าเป้าหมายที่ กกต.ตั้งไว้ ร้อยละ 70

เหตุผลที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตบเท้าเข้าคูหา ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่คาดการณ์กันว่า เกิดจากร้างลาสนามเลือกตั้งมา 8 ปี

Advertisement

ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

ประชาชนมีการศึกษา เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง อบต. มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น

Advertisement

ที่น่าสนใจ พิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ

แม้บางพื้นที่ เหลือผู้สมัครเพียงรายเดียว ไม่มีตัวเลือกเปรียบเทียบ เกิดการแข่งขัน

ประชาชนก็ยังคงออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม แต่ออกเสียงเลือกตั้ง สงวนสิทธิ โดยกาช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครรายเดียวนั้

ผลเลือกตั้งปรากฏคะแนนโหวตโนเหนือกว่าผู้สมัคร

เท่ากับไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง กกต.จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจกฎ กติกาอย่างดี

จึงออกเสียงเช่นนี้

หากยึดถือเอาว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพของประชาธิปไตย ตามหลักวิชาการ
เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตัวออกมาใช้สิทธิในระดับที่สูง หรือโหวตโน

นับเป็นนิมิตหมายที่ดี

ประชาชนเห็นความสำคัญ การเมืองมีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ จึงพร้อมใจเข้ามามีส่วนร่วม เลือกตัวแทนไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบต.นั้น

ไม่อาจเป็นตัวสะท้อน วัดผล การเมืองในระดับชาติ ที่เหนือขึ้นไปได้อย่างแจ่มชัด

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายไม่บังคับ สังกัดพรรคการเมือง เหมือนกับ ส.ส.

ประเด็นที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น

เท่าที่สังเกต ส่วนใหญ่เป็นการเสนอแก้ไขปัญหา ที่แต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่กำลังเผชิญ

แตกต่างห่างไกล ไม่สอดคล้องกับปัญหาระดับชาติ โจทย์ของประเทศไทย ที่ภาคการเมืองใหญ่ และการเมืองภาคประชาชนต่อสู้ เรียกร้อง

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธ หรือตัดตอนได้ทั้งหมดว่า ความตื่นตัวของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างล้นหลามเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ไม่เกี่ยวโยงกับการเมืองระดับบนสุด

เพราะแม้กฎหมายมิได้บัญญัติ ให้ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง

แต่ก็มีผู้สมัครที่ประกาศตัวชัดเจนว่า สังกัดกลุ่มการเมือง ภายใต้ร่มเงาพรรคการเมือง ที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

อย่างคณะก้าวหน้า

และมีผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง นั่งนายก อบต. 38 แห่ง จากจำนวนที่คณะก้าวหน้าส่งชิงทั้งหมด 196 อบต.

จำนวนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามานี้ มากหรือน้อย ตกเป็นข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์
มีทั้งให้ค่าและด้อยค่า

แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำ นั่นก็คือว่า สนามนี้ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติแต่อย่างใด

เนื่องจากประธานและเลขาธิการคณะก้าวหน้าออกโรง เดินสายรณรงค์หาเสียงช่วยผู้สมัครด้วยตัวเอง

และหลายต่อหลายเวที ได้นำเสนอจุดยืน “ฝั่งประชาธิปไตย” และแนวทางการทำการเมืองใหม่ ไม่ต่างกับอนาคตใหม่

ผลการเลือกตั้ง อบต. และภาพการตื่นตัวออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม

จึงไม่อาจมองข้ามได้

เมื่อประชาชนเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง แรงสั่นสะเทือนจากสนามเล็กย่อมมีแนวโน้มส่งอิทธิพลเลื่อนลั่นถึงการเลือกตั้งใหญ่ไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image