สถานีคิดเลขที่ 12 : สัญญาเลือกตั้ง! โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : สัญญาเลือกตั้ง! พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สถานีคิดเลขที่ 12 : สัญญาเลือกตั้ง! โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ภายในปี 2565
แต่ไม่ระบุ วัน เดือน ชัดเจน

พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ฝ่ายค้าน ก้าวไกล คาดการณ์ ปลายไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปีหน้า

ทั้งนี้หากการทำนายฤกษ์เปิดคูหาแม่นยำ-ใกล้เคียง เท่ากับว่า ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ได้นั่งเก้าอี้ถึง 5 ปีครึ่ง

นับแต่ ‘บิ๊กตู่’ ใช้อำนาจคณะปฏิวัติ แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559

Advertisement

แต่หากลากยาวเลือกตั้งออกไป เป็นไตรมาสสุดท้าย

อายุไขในตำแหน่ง จะยิ่งยาวนาน ทะลุ 6 ปี

เหตุผลที่รัฐบาลแช่แข็ง ไม่ยอมจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่บริหารเกินเทอมปกติ 4 ปี

นักวิชาการมองว่า เบื้องหลังเกิดจากรัฐบาลไม่มั่นใจ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง

บุคคลที่รัฐบาลให้การสนับสนุน จะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม.

กรุงเทพมหานคร เป็นเขตปกครองพิเศษ กฎหมายกำหนดเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

แตกต่างจากจังหวัดอื่น ที่เป็นเขต การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าฯมาจากการแต่งตั้ง

กรุงเทพฯมหานคร ไม่เพียงแต่เป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครอง ความเจริญเท่านั้น

หากยังเป็นศูนย์กลาง การเคลื่อนไหวต่อต้าน ขับไล่รัฐบาล

ผู้ว่าฯตำแหน่งบริหารสูงสุด กรุงเทพมหานคร จึงสำคัญและมีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล

ทั้งนี้เนื่องจากคณะผู้บริหาร กทม.มีอํานาจตัดสินใจแก้ปัญหา ดําเนินการ บริหารงบประมาณ บังคับบัญชาบุคลากร บริหารงานบุคคลได้โดยเด็ดขาดตามกฎหมาย

ไม่ว่าในการรักษาความสงบเรียบร้อย (ซึ่งรัฐบาลตีความอีกแบบ) แก้ปัญหาจราจร รักษาความสะอาด พัฒนาชุมชน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

หากผู้ว่าฯ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติรัฐบาล

แต่มาจากการเลือกตั้งของชาวกรุงเทพมหานคร

กดปุ่มไม่ได้

รัฐบาลคงมองเห็นถึงความยุ่งยาก ในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาการเมือง คุม/ห้ามการชุมนุมเคลื่อนไหว ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

การบังคับใช้กฎหมาย จราจร ความสะอาดเคร่งครัด

ไม่อำนวยความสะดวก ให้กับกลุ่มผู้ใช้เสรีภาพ ชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมายแม่บทการปกครองสูงสุดให้การรับรอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างพื้นๆ ของการเล็งเห็นความจำเป็น ที่รัฐบาลที่มีที่มาแบบนี้ต้องใช้ กทม.เป็นมือไม้ จัดการแก้ปัญหาการเมือง โควิด และอะไรต่อมิอะไร

แปรสภาพเขตปกครองพิเศษ เป็นหน่วยหนึ่งของภาคราชการ

เมื่อรัฐบาลเห็นว่าผู้ว่าฯแต่งตั้งสำคัญ เป็นอีกเสาค้ำ มิให้เสถียรภาพสะเทือนไหว

เราจึงได้เห็นการอ้างความสงบ (ในนิยามความหมายอีกแบบ) มาเป็นเหตุผลลากยื้อ และคำสัญญาที่กว้างไกล

ไม่ผูกมัด

เป็นคำมั่น-คำสัญญา ที่ไม่มีหลักประกันใดๆ อาจเปลี่ยนอีกก็เป็นได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

ขอเวลาอีกไม่นาน ในการคืนอำนาจแก่ประชาชน

ตราบใดที่ยังไม่มั่นใจ ผู้ที่ให้การสนับสนุน หรือช่วยหามแห่ ชนะเลือกตั้ง

รัฐบาลคงไม่เปิดคูหาให้ประชาชน พิพากษา ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

เสียงคนกรุงดังและหนักแน่น รัฐบาลคงไม่อยากให้ลงคะแนนด้อยค่ากระมัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image