นพ.วิชัย เทียนถาวร : กระแสทรรศน์ ว่าด้วย การถ่ายโอน รพ.สต.

“การเปลี่ยนแปลง” ใดๆ ย่อมมีผลกระทบต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดต่อ “คน” ซึ่งตามทฤษฎีของการเปลี่ยนแปลง มักจะพูดเสมอๆ สำคัญที่สุดอยู่ที่ “การปรับตัว” ที่จะทำให้อยู่รอดได้ แม้กระทั่ง “วิกฤตโควิด-19” ทั่วโลก ไม่เว้น “คนไทย” เราเองจะได้ยินจากผู้บริหารระดับสูงของบ้านเมืองพูดเสมอๆ ต้องทำใจและ “ปรับตัว” ของคนไทยให้อยู่กับไวรัสร้ายโควิด-19 ให้ได้ จะสิ้นสุดปีใดสุดที่จะคาดเดาได้ ให้มองอนาคตข้างหน้าไว้ว่า จะเหมือนกับการมีวิถีชีวิตแบบ “New Normal” คือ “วิถีมีชีวิตใหม่” ให้มองดูคล้ายว่าท้ายสุดเหมือนกับที่เราอยู่กับไข้หวัดใหญ่จนเป็นโรคประจำถิ่นของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย แต่ก็ต้องมีการฉีด “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ปีละ 1 เข็ม จนอยู่เป็นวิถีชีวิตปัจจุบัน

แต่เหตุการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักในปี 2562 ปลายปีจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2564 อุบัติการณ์การเกิดต้นน้ำ-กลางน้ำ เรื่อยมายังถึงปัจจุบัน การระบาดจุดเริ่มต้น จุดกระจาย จุดขยาย “จุดควบคุมยุทธศาสตร์เหตุแห่งต้นปฐมเหตุ” ก็ยังไม่สามารถ “ควบคุมป้องกัน” ได้ เกิดความโกลาหลไร้ระบบระเบียบ จับต้นชนปลายไม่ถูก โยนกันไปโยนกันมา ก็คือ “เขตกรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งมีการปกครองแบบท้องถิ่นที่มี “ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร” เป็น “พ่อเมือง” การระบาดก็ยังคงเกิดอยู่จนถึงปัจจุบัน จะด้วยเหตุความซับซ้อนของ “โครงสร้าง” ปกครองมี 50 เขต ด้วยระบบระเบียบซับซ้อนก็ยังคงมีการระบาดอยู่และกระจายไปต่างจังหวัดประปราย ซึ่งบ่งบอกถึงเวลา “การระบาดของโรค” เกิดขึ้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด ความเป็นเอกภาพของการบริหาร การจัดการ การมีส่วนร่วมกันทั้งองคาพยพมีความจำเป็นยิ่งยวด ในการที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ การกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ดี และควรทำแต่บางเรื่องบางกิจกรรมต้องตระหนักเพราะทุกอย่างการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เหมือน “เหรียญมี 2 ด้าน” ได้เสมอ

แต่ปัจจัยบางอย่างขึ้นอยู่กับองค์ประกอบบางอย่างด้านเทคนิค วิชาชีพ “ความเป็นผู้นำ” ในศาสตร์ต่างๆ ย่อมมีผลต่อผู้ตามผู้ร่วมงาน ในการที่จะดูแล “คน” ซึ่งเป็นเรื่องของ “ชีวิต” คน “ชีวิตมนุษย์” ท้ายสุดคือ “ประชาชน”

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการสาธารณสุข ว่าด้วยการโอนย้าย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปอยู่ท้องถิ่น

Advertisement

ผู้เขียนขออนุญาตเสนอ “ข้อคิดข้อเสนอ” ของกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ส่งหนังสือด่วนถึงท่านนายกฯ ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอน “รพ.สต” ให้ อบจ. ระบุ 10 เหตุผล ขอทบทวนให้รอบคอบ ก่อนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ระบุว่า…

ด้วยคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาและติดตามการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. อย่างต่อเนื่องพบว่า คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดเร่งรัดให้มีการถ่ายโอนภารกิจ โดยมี รพ.สต. ที่ยื่นความประสงค์ 3,036 แห่ง ซึ่งจากการประเมินของ อบจ. ที่รับโอนถ่าย จำนวน 49 แห่ง โดยมีหลักเกณฑ์

⦁ ให้ถ่ายโอนอำเภอละ 1 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดี
⦁ และอำเภอละ 2 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก
⦁ และทุกแห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ระดับดีเลิศ

Advertisement

โดยกำหนดให้วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายในการยื่นเอกสาร สำหรับ รพ.สต. ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน เพื่อให้ทันการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 นั้น

1) บุคลากร หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะถ่ายโอนยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้พิจารณาประชุมในเรื่องนี้

2) พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้มีแผนและขั้นตอนแต่การถ่ายโอนไป อบจ. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากการถ่ายโอนที่ผ่านมาก โอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเท่านั้น จึงไม่มีแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนไป อบจ.ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขรับทราบแต่อย่างใด

3) หลังจากปี 2542 มีพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้อีกหลายฉบับ มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านกระจายอำนาจหลายประการ แตกต่างจากแนวคิด ปี 2542 จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับโดยรัฐธรรมนูญ

4) ระบบสาธารณสุขและเครือข่ายสาธารณสุขมีระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างเครือข่าย ไม่ได้มีลักษณะ Stand alone เหมือนระบบการสาธารณะอื่นๆ

5) ระบบสาธารณสุขมีการวางรากฐานและการพิจารณาเป็นขั้นตอนมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี จนสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เคยอยู่ถึงอันดับ 6 ของโลกมาแล้ว

6) การจัดสรรงบอุดหนุนจากท้องถิ่นมาสมทบเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ รพ.สต. ได้งบประมาณเข้ามาเติมในระบบ แต่ควรคำนึงถึงระยะยาวว่าอาจจะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเพียง 8 ปี ท้องถิ่นใช้งบอุดหนุนเพิ่มมากถึง 726 ล้านบาท สำหรับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนเพียง 5 แห่ง

7) การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นขั้นเป็นตอน

8) การกระจายอำนาจเป็นหลักการที่ดี แต่มีหลายวิธีไม่ใช่เพียงการถ่ายโอนเท่านั้น

9) นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง สมควรทำประชามติหรือสอบถามประชาชน โดยตรงว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการขณะนี้

10) ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีผลกระทบที่ประจักษ์มาแล้วในการควบคุมโรคระบาดไวรัสของโควิด-19 และในอนาคตอาจมีการระบาดใหม่ ที่อาจมีความรุนแรงกว่าเดิม ต้องอาศัยเครือข่ายของระบบสาธารณสุขที่จะต้องทำงานร่วมกันเหมือนปัจจุบันไม่ควรแยกจากกัน เพราะอาจสร้างปัญหาเหมือนกรุงเทพมหานคร ดังที่ผ่านมา

คณะกรรมาธิการฯ จึงขอให้มีการศึกษากรณีดังกล่าวให้รอบคอบ ก่อนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการอย่างรวบรัดจนทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในลักษณะที่ยากต่อการแก้ไข และขอเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการ” เพื่อศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการถ่ายโอนดังกล่าว เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้เขียนในฐานะเคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ นับว่ามีประโยชน์ต่อ “ประชาชน” อย่างมาก เพื่อให้ความคิดรอบคอบ และจะได้ไม่เกิดผลกระทบตามมา ที่สำคัญ คือ “ประชาชน” ในทางลบ เชื่อว่า “รัฐบาล” น่าจะดำเนินการ ศึกษาให้รอบคอบก่อนเพื่อผลที่ได้จะบังเกิดอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ไงเล่าครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image