เลือกตั้ง กทม……สีข้างเข้าถู

นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้กลางสภาผู้แทนราษฎรถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงเหตุผลที่ยังไม่ยอมประกาศกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะอะไร

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ถูกผู้สื่อข่าวถามในประเด็นเดียวกันนี้มาแล้ว คำตอบที่ให้ก็คือเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ

น่าเสียดาย ผู้สื่อข่าวไม่ถามต่อว่าแล้วทำไมกระทรวงมหาดไทยถึงไม่ยอมชงเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเสียที หรือผู้สื่อข่าวถามแต่ พล.อ.อนุพงษ์ไม่ยอมตอบ และรีบเดินเลี่ยงออกไปก็ตาม

อีกวันต่อมาผู้สื่อข่าวเอาคำถามเดียวกันนี้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คำตอบที่ได้ก็คือ “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ ครม.”

Advertisement

ผู้คนก็งงเป็นไก่ตาแตกสิครับ ตกลงเอาอย่างไรกันแน่ รัฐมนตรีมหาดไทยก็ยังไม่ยอมชงเรื่อง นายกรัฐมนตรีก็ว่าไม่ใช่เรื่องของ ครม.

คงเพราะเหตุนี้ด้วยส่วนหนึ่งถึงทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านต่อมความอดทนแตก เอาเรื่องเข้าไปถามจะจะกันในที่ประชุมสภา

พล.อ.อนุพงษ์ซึ่งแทบทุกวาระที่มีกระทู้ถามกระทรวงมหาดไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่เคยหลบ ไม่เคยหลีก ให้ความร่วมมือ ให้เกียรติสภา
ผู้แทนราษฎรไปตอบกระทู้ด้วยตัวเอง จนได้รับการยกย่องเป็นรัฐมนตรีที่ไม่หนีสภา

Advertisement

แต่คราวนี้เจอกระทู้เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เข้ากลับติดภารกิจ ไม่ไปตอบด้วยตัวเอง แต่ส่งมือรอง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ไปรับหน้าเสื่อทำหน้าที่แทน

คำตอบในตอนแรกถูกฝ่ายค้านตอบโต้ด้วยความเผ็ดมันว่า มหาดไทยเต่าล้านปี หวงไว้ทำไม เพราะงบประมาณ กทม.เยอะใช่ไหม คำตอบที่ให้มาล้วนแต่เป็นเรื่องทางเทคนิคการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นภารกิจปกติของฝ่ายข้าราชการประจำทั้งสิ้น

จนนายนิพนธ์ต้องตอบใหม่อีกครั้งถึงเหตุผลเพราะว่าการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ 5,300 แห่ง เพิ่งเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องรอให้กรรมการการเลือกตั้งรับรองผลให้เสร็จภายใน 30 วันก่อน ถ้าไม่เสร็จต่อเวลาได้อีก 30 วัน

“ตอนนี้มีการตั้งงบประมาณเตรียมการไว้แล้ว ปี 2565 หลัง กกต.รับรองผลเสร็จต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันอีก ทั้งกระทรวงมหาดไทย กทม. สำนักงบประมาณ เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วกระทรวงมหาดไทยถึงจะเสนอเรื่องเข้า ครม.ต่อไป แจ้งให้ กกต.ทราบเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง”

“ที่ผ่านก็มีการเลือกตั้งตามลำดับ ตั้งแต่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พอเสร็จก็เลือกตั้งเทศบาลต่อ เรียบร้อยก็ต่อด้วยนายก อบต.และสภา อบต. ยังไม่เรียบร้อย ต้องคอยให้เสร็จการรับรองผลก่อน ค่อยถึงคิว กทม.และพัทยา” นายนิพนธ์ย้ำ

แต่ก็ดูเหมือนว่าคำตอบไม่เป็นที่พอใจและกระจ่างชัดแก่ผู้ตั้งกระทู้ เพราะประเด็นที่นายนิพนธ์ตอบอ้างเหตุผลความเรียบร้อยและความพร้อม ต้องให้การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์เสียก่อน ประเภทต่อไปถึงจะเกิดขึ้นได้

คำตอบยังคงเข้าข่ายที่ ส.ส.ฝ่ายค้านวิจารณ์ ล้วนเป็นเรื่องทางธุรการ ทางเทคนิคของการจัดการเลือกตั้ง

ขณะที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับใดๆ เขียนไว้ชัด ห้ามจัดการเลือกตั้งพร้อมกัน วันเดียวกัน หรือต้องให้การเลือกตั้งประเภทแรกเสร็จสิ้นก่อน ประเภทต่อไปถึงจะเกิดขึ้นได้ ประเด็นข้อกฎหมายที่รัฐบาลชอบย้ำทุกครั้งตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีลงมา นายนิพนธ์ไม่ยอมตอบ

ทั้งที่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งแต่ละระดับสามารถเกิดขึ้นในวันเดียวกันได้ เพียงแต่ใช้บัตรต่างกันเท่านั้น ตัวอย่างในบางประเภทเกิดขึ้นมานานแล้ว เช่น ญี่ปุ่น

ว่าไปแล้วการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะไม่เป็นปัญหาบานปลาย ยืดเยื้อยาวนานจนรัฐบาลถูกตำหนิอย่างรุนแรงโดยใช้เหตุ ถ้าจัดการเลือกตั้งพร้อมกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐบาลกลับยื้อ ดื้อรั้น ดึงดัน อ้างว่า กทม.เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ต่างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด

แต่พอจังหวัดที่พร้อม เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นเดียวกับ กทม.บ้าง คำตอบแบบข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถู ก็คือ ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ จริงๆ แล้ว กทม.ก็เป็นเพียงแค่เทศบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้นเอง

แล้วเหตุใดถึงยืดเยื้อ ยาวนานมาถึงป่านนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้กุมอำนาจหวั่นไหวจะทำให้การเมืองระดับชาติกระเพื่อม เป็นอุปสรรคถึงการต่อท่ออำนาจไปอีก

การเมืองท้องถิ่นแบบลั่นลั่น ดังที่ว่ามานี้ทำให้แนวคิดเรื่องเลือกตั้่งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีทางเป็นจริงในสังคมไทย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image