สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อร้านหนังสือจีนบูม

สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อร้านหนังสือจีนบูม รู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อย
ร้าน Librairie Avant-Garde (ภาพ-Fan Yiying/Sixth Tone)

รู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อย เมื่อพบรายงานของซีเอ็นบีซีระบุว่า ธุรกิจร้านหนังสือกำลังบูมอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีนในเวลานี้

ร้านหนังสือ “บูม” ในยุคที่ทุกอย่างเป็น “ดิจิทัล” ฟังดูรู้สึกย้อนแย้งยังไงก็ไม่รู้

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ข้อมูลของซีเอ็นบีซีบอกว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2017 เรื่อยมาจนถึงปี 2021 มีธุรกิจร้านหนังสือจดทะเบียนเปิดใหม่ในจีนเฉลี่ยแล้วมากถึงกว่า 40,000 ร้านต่อปี

ADVERTISMENT

เฉพาะในปี 2021 ปีเดียวมีร้านหนังสือเปิดใหม่ในจีนมากถึง 39,000 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อนหน้านั้น 6 เปอร์เซ็นต์

มีเปิดก็ต้องมีปิดกิจการ แต่ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนธุรกิจร้านหนังสือที่เปิดใหม่มีมากกว่าจำนวนธุรกิจร้านหนังสือที่ปิดตัวลง ซึ่งตกประมาณปีละ 10,000 ร้าน หรือกว่านั้นอยู่หลายเท่าตัว

ADVERTISMENT

ธุรกิจร้านหนังสือในจีนเป็นที่นิยมถึงขนาดบรรดาช้อปปิ้ง มอลล์ ทั้งหลายที่เปิดกิจการใหม่ๆ แทนที่จะเลือกเชื้อเชิญดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ ดังๆ ระดับบิ๊กเข้ามาเป็น “ตัวดึงดูด” ผู้บริโภค กลับหันมาเลือกร้านหนังสือสำหรับดึงดูดลูกค้าแทน

แจ๊คกี้ จู หัวหน้าแผนกวิจัยของเจแอลแอล บอกว่า ด้วยเหตุนี้ค่าเช่าพื้นที่สำหรับร้านหนังสือในช้อปปิ้ง มอลล์ ถึงต่ำกว่าค่าเช่าของร้านคอสเมติค หรือร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลยทีเดียว

ปัญหาก็คือ “ร้านหนังสือ” ที่เปิดใหม่ๆ ในจีนมีคุณลักษณะแตกต่างอยู่มากจากนิยามของร้านหนังสือในไทย หรือแม้แต่กับนัยของ “บุ๊กสโตร์” ในประเทศอื่นๆ

สิ่งที่ร้านหนังสือยุคใหม่ในจีนให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกก็คือ “วิช่วล แอพพีล” คือรูปลักษณ์ต้องสะดุดตา ดึงดูดใจ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรม ไปจนถึงการตกแต่งภายในที่ละเอียดวิจิตรบรรจง

ต้องดีมากพอที่จะดึงดูดให้คนหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่ต้องเข้าไปค้นหา “ประสบการณ์” ใหม่ๆ ภายใน

ดิเร็ก เติ้ง หัวหน้าทีมวิจัยคอนซูเมอร์ โปรดัคส์ ของเบนแอนด์โค บอกว่า คนจีนรุ่นใหม่หลังทศวรรษ 90 เรื่อยมา ไม่เพียงต้องการความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังต้องการ “ความใหม่” ด้วยเช่นกัน

“พวกเขาต้องการผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่สร้างความพึงพอใจให้ในเชิงฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ยังต้องการอะไรๆที่ตอบสนองในเชิงอารมณ์ความรู้สึกพร้อมกันไปด้วยได้” เขาบอก

ร้านหนังสือยุคใหม่ของจีนจึงไม่เพียงแค่มีหนังสือขายให้นำไปอ่านเท่านั้น แต่ยังต้องมีอะไรใหม่ๆ ที่พวกเขาสามารถนำไป “อวด” คนรุ่นเดียวกันได้ หรือไม่ก็อำนวยให้เกิดความสุข สนุก รื่นเริงใจ หรืออาจเป็นอะไรก็ได้ที่ผู้ที่เดินเข้ามารู้สึกว่า “อยากได้” เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถ “เข้ากันได้” กับคนอื่นๆ อย่างกลมกลืน

ดังนั้น ร้านหนังสือยุคใหม่ในจีนจึงทำอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เป็นร้านกาแฟเท่ๆ ร้านเครื่องเขียน กระดาษ ปากกา และของขวัญ ของฝาก

ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ สินค้าใหม่ราคาแพงจากต่างประเทศเสมอไป แต่อาจเป็นของเก่า ของดั้งเดิม ที่ดีพอจะกระตุ้นให้หวนรำลึกถึงอดีตจากหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ได้ ตัวอย่างเช่น ร้านหนังสือโปรดของ มีอา หวง ที่เคยทำงานในบริษัทอินเตอร์เน็ตแล้วผันตัวเองมาเป็นบล็อกเกอร์สายเดินทางท่องเที่ยว แชร์ภาพ แชร์ประสบการณ์และความคิดเห็นกับผู้คนในโลกโซเชียลของจีน เป็นร้านสไตล์โบราณ ชานกรุงปักกิ่ง ตกแต่งด้วยจักรยานเก่าๆ แผ่นป้ายแปะหน้าบ้านแบบดั้งเดิม แล้วก็มี “พับลิค รีดดิง แอเรีย” ให้ใช้งาน

อีกร้านปรับปรุงมาจากอาคารเดิมที่ใช้เป็นโบสถ์คริสต์ในปักกิ่ง ให้ความรู้สึกย้อนยุค ชวนรำลึกถึงอดีตได้ดีนัก

มีอาบอกว่า มีหลายคนที่เดินทางมาที่ร้านเหล่านี้โดยเจาะจง แค่เพื่อ “เช็กอิน” พร้อมถ่ายภาพตัวเองคู่กับร้านเป็นหลักฐานแสดงในโซเชียลเท่านั้น

โซเชียลมีเดียจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับร้านหนังสือยุคใหม่ในจีน ดึงดูดคนจากหลายทิศหลายทางเข้ามาหา ปัญหาใหญ่ที่ต้องไตร่ตรองกันหนักก็คือว่า หลังจากนั้นทำอย่างไรถึงจะให้คนเหล่านี้มาซ้ำ ซื้อซ้ำ ต่อๆ ไปในอนาคต

แต่มีหลายร้านประสบความสำเร็จ

เช่นร้านหนังสือระดับ “ฮิปสเตอร์” ในชนบทของมณฑลเจ้อเจียง ชื่อ Librairie Avant-Garde ที่กลายเป็น “หมุดหมาย” ของนักท่องเที่ยว ดึงดูดผู้คนวันละเป็นพัน เพื่อเดินทางมาที่ร้าน

ทำรายได้ไปแล้วมากถึง 1.5 ล้านหยวน หรือกว่า 10 ล้านบาทในปี 2021 ที่ผ่านมา

ที่น่าเสียดายก็คือ ความนิยมในร้านหนังสือยุคใหม่ที่จีน ไม่ได้หมายความว่า หนังสือจะขายดีมากขึ้นหรือทำกำไรจากหนังสือได้มากขึ้น

ซึ่งอาจเป็นเพราะหนังสือที่จีนขาดความใหม่ ความหลากหลาย ที่เกิดขึ้นจากลักษณะเฉพาะของสังคมจีนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image