ประยุทธ์…หยุดก็จบ

เหตุจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

จึงเป็นที่มาของคำถามทางการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีเมื่อไหร่

จนเกิดข้อถกเถียงและความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย จะนับวันเริ่มต้นและวันสุดท้าย วันไหนกันแน่

ความเห็นแรก เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ภายหลังรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ครบ 8 ปี วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ถ้ายึดแนวทางนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้แค่ 24 สิงหาคมปีนี้

Advertisement

ความเห็นที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2560 มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 ครบ 8 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2570

แต่เนื่องจากหลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 รัฐบาลมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี จะครบวันที่ 24 มีนาคม 2566 ต้องจัดเลือกตั้งทั่วไปใหม่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อและรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ เจ้าตัวต้องการที่จะเป็นต่อไปก็จะอยู่ได้จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2570 ตามความเห็นแนวทางที่สอง

ระหว่างที่ความเห็นต่างข้างต้นยังไม่ยุติ ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสนอความเห็นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4

Advertisement

เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562

ความเห็นที่ว่าตรงกับแนวทางที่สอง ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2570

เหตุผลที่ยกขึ้นมาสนับสนุนอ้างว่า การกำหนดเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ เป็นการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางที่เป็นโทษ จะนำมาบังคับย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้

การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลัง ใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย

หมายความว่า ถ้านับเวลาเริ่มต้นย้อนไปตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จะเข้าลักษณะที่เป็นโทษ อ้างหลักการทางนิติศาสตร์ กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษไม่ได้ แต่เป็นคุณทำได้

มองข้ามหลักการทางรัฐศาสตร์ เจตนารมณ์ทางการเมืองและการบริหารที่รัฐธรรมนูญต้องการจำกัดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ให้ยาวนานเกิน 8 ปี เพื่อป้องกันการเสพติดอำนาจ เป็นเชื้อนำไปสู่ความเป็นเผด็จการ ล่อแหลมต่อการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางมิชอบ ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เข้ามาทำหน้าที่สำคัญเดียวกันนี้บ้าง

ความเห็นที่ว่าจึงถูกวิจารณ์จากฝ่ายเห็นต่างว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรล้ำเส้น ชี้นำ ทำเกินหน้าที่ ในทางที่ถูกต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองจะดำเนินไปเช่นนั้นตั้งแต่ต้นปี 2565 มีผู้ยื่นเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างแน่นอน

ระหว่างรอผลกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในสภาและนอกสภาจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่ กทม. ส.ส.ชุมพร ส.ส.สงขลา การยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการโหวตให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หากรัฐบาลไม่เสียสัตย์ตามที่ว่าจะจัดช่วงกลางปี 2565 ขณะที่การเมืองบนท้องถนนยังร้อนระอุไม่หยุด

ทั้งหลายทั้งปวงเป็นช่วงปลายสมัยของรัฐบาล แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มแสดงท่าทีต้องการอยู่ในตำแหน่งให้ครบวาระ 4 ปีถึงเดือนมีนาคม 2566 อีกหนึ่งปีนับจากนี้ก็ตาม

สถานการณ์ความแตกร้าวภายในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ล้วนเป็นเชื้อไปสู่การถอนตัว เปลี่ยนขั้วล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง การยุบสภาจึงมีโอกาสเกิดได้ตลอดเวลา

แต่ถ้าต้องการจะลุ้นต่อไปอีกพัก การประกาศจุดยืนที่ชัดเจน ยกเลิกบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่อมพะนำเพื่อต่อรองทางการเมือง

ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ร้อนระอุเช่นนี้ แนวทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายอยู่จนครบวาระ คือการตัดสินใจประกาศท่าที ผมพอแล้ว ขอหยุดแค่นี้ แค่นั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image